สามเณร 1 รูป พระธรรมทูต 1 รูป ผู้ต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา ที่เกือบสูญสิ้นในเกาะลังกาเมื่อเกือบ 300 ปีก่อน

สามเณร 1 รูป พระธรรมทูต 1 รูป ผู้ต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา ที่เกือบสูญสิ้นในเกาะลังกาเมื่อเกือบ 300 ปีก่อน

 

 

 

 

 
สามเณร 1 รูป พระธรรมทูต 1 รูป ผู้ต่อลมหายใจพระพุทธศาสนา
ที่เกือบสูญสิ้นในเกาะลังกาเมื่อเกือบ 300 ปีก่อน ให้กลับมายิ่งใหญ่จวบจนปัจจุบัน
 
 
 
 
คนไทยควรรู้จักและเคารพศรัทธาในพระอุบาลีเถระ พระธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย พระอุบาลีเถระ เป็นพระธรรมทูตในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่เดินทางไปยังประเทศศรีลังกาตามคำร้องของฝ่ายศรีลังกาในการเป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทแก่สามเณรชาวสิงหล เพื่อสืบทอดพุทธศาสนาในศรีลังกาขณะนั้น อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดเทศกาลแห่พระเขี้ยวแก้ว (เอสาละ เปราเหรา) ในเมืองแคนดี้ซึ่งเป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงและถือเป็นสัญลักษณ์ของศรีลังกาที่โด่งดังไปทั่วโลก
 
 
พระอุบาลีมหาเถระ เมื่อแรกได้พำนักอยู่ที่วัดธรรมาราม ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ มีอาณาเขตทิศเหนืออยู่ติดกับวัดท่าการ้อง ทิศใต้อยู่ติดกับวัดกษัตราธิราช ทิศตะวันออกอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกอยู่ติดกับถนนบางบาล ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
 
ในปีพุทธศักราช 2293 พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ กษัตริย์ศรีลังกามีความศรัทธาแรงกล้าที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนสู่ศรีลังกาอีกครั้ง เพราะภัยจากชาวต่างชาติและศาสนาอื่นที่เข้ามาย่ำยีพุทธศาสนาทำลายวัดวาอาราม ซ้ำยังถูกกษัตริย์ที่เป็นมิจฉาทิฐินับถือต่างศาสนา ใช้อำนาจจับสึกพระภิกษุและเผาพระไตรปิฎกไปเสียสิ้น ทำให้ไม่มีพระภิกษุเหลือ แม้สักเพียงรูปเดียว คงเหลืออยู่ก็แต่สามเณรไม่กี่รูป หนึ่งในสามเณรเหล่านั้น มีสามเณรรูปหนึ่ง ชื่อ สามเณรสรณังกร สามเณรสรณังกรได้ทูลขอให้พระเจ้ากิตติราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ให้ส่งทูตมาขอนิมนต์พระสงฆ์จากเมืองกรุงศรีอยุธยาไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป จึงได้ส่งราชทูตมายังกรุงศรีอยุธยา ลังกากุมารบันทึกไว้ว่า “พ.ศ. 2293 คณะราชทูตออกเดินทางจากท่าเรือตรินโคมาลี โดยเรือของฮอลันดานามว่าเวลตรา การเดินทางครั้งนั้นผ่านเมืองอะแจ สุมาตราและแวะพักที่มละกาเป็นเวลาห้าเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูมรสุม จากนั้นคณะราชทูตได้เดินทางเข้ามายังปากน้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองบางกอกและนนทบุรี”
 
 
ปีพุทธศักราช 2294 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโปรดให้คัดเลือกพระสงฆ์ที่แตกฉานในพระไตรปิฎกและเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ประกอบด้วยพระสงฆ์ 18 รูป นำโดยพระอุบาลีมหาเถระและพระอริยมุนีมหาเถระ พร้อมทั้งสามเณรอีกเจ็ดรูป ออกเดินทางด้วยเรือกำปั่นหลวงที่เพิ่งต่อขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นพาหนะส่งคณะสงฆ์ไทยไปลังกา แต่การเดินทางในครั้งนั้นมิได้ราบรื่น เรือกำปั่นของพระสมณทูตถูกคลื่นใหญ่ซัดจนมาเกยตื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช คณะสงฆ์ชุดนั้นจึงไปไม่ถึงลังกา
 
 
คณะสงฆ์ชุดเดิมออกเดินทางอีกครั้งโดยเรือกำปั่นฮอลันดาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. 2295 ถึงเมืองตรินโคมาลี อันเป็นเมืองท่าอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะลังกา เมื่อวันแรม 14 ค่ำ เดือน 6 โดยใช้เวลาเดินทางถึง 5 เดือน 4 วัน พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะรับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่ต้อนรับและเชิญพระสงฆ์และคณะราชทูตไทยเข้ามายังเมืองแคนดี้ โปรดให้พระสงฆ์ไทยไปพักที่วัดบุปผาราม ปัจจุบันคือ มัลละวัตตะมหาวิหาร วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระอุบาลีให้อุปสมบทแก่สามเณรไทยหนึ่งรูปก่อนในคามวาสี เวลาค่ำ พระเจ้ากีรติศิริราชสิงหะเสด็จไปยังวัดบุปผารามพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงอาราธนาพระสงฆ์ไทย มีพระอุบาลีเป็นประธาน ให้อุปสมบทแก่สามเณรสิงหลผู้ใหญ่หกรูป มีสามเณรสรณังกรเป็นประธาน
 
 
ในวันอุปสมบท สามเณรสรณังกรมีอายุ 54 ปี คณะได้ให้บรรพชาอุปสมบทแก่ชาวศรีลังกาเป็นพระภิกษุ 700 รูป เป็นสามเณร 3,000 รูป ในระยะ 3 ปีที่ออกไปอยู่ในศรีลังกา คือ พ.ศ.2295-2298 สามเณรสรณังกรซึ่งได้รับการอุปสมบท ได้รับการสถาปนาจากกษัตริย์ลังกาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงได้เกิดคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ หรือ อุบาลีวงศ์ขึ้นในลังกา
 
 
งานของพระธรรมทูตจากประเทศไทย นอกจากการให้การอุปสมบทพระสงฆ์ชาวสิงหลแล้ว ยังทำกิจวัตรของสงฆ์คือการสวดมนต์ ดังที่ฐากูร พานิช บันทึกไว้ว่า “ทุกค่ำ พระอุบาลี พระอริยมุนี และพระสงฆ์อันดับ จะพร้อมกันสวดมนต์ สามเณรลังกาจะมานั่งฟังสวดพร้อมกันทุกวัน นอกจากนั้นพระอุบาลียังได้ผูกพัทธสีมาอีกหลายวัด"
 
 
พระอุบาลีมรณภาพด้วยโรคหูอักเสบ ภายในกุฏิวัดบุปผาราม (มัลละวัตตะมหาวิหาร) เมื่อปี พ.ศ. 2299 พระเจ้าแผ่นดินศรีลังกาให้จัดพิธีถวายเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ โดยจัดขึ้นที่สุสานหลวงนามว่าอาดาหะนะมะลุวะ ปัจจุบันคือ วัดอัสคิริยามหาวิหาร เมืองแคนดี้ ซึ่งปัจจุบันได้ก่ออิฐล้อมสถานที่เผาศพท่านไว้ หลังเสร็จสิ้นพิธีถวายเพลิงศพแล้ว ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์บนยอดเขาใกล้วัดอัสคิริยามหาวิหาร บรรจุอัฐิเพื่อสักการบูชาซึ่งมีปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน กุฏิท่านพระอุบาลีและห้องพักของท่านได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีแม้จะเป็นเพียงห้องเล็กๆ มีเพียงเตียงเก่าๆ และโต๊ะเก้าอี้อีกหนึ่งชุดเท่านั้น บริขารและสิ่งของที่ท่านเคยใช้สอยที่ยังเหลืออยู่ ชาวศรีลังกาก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรเคารพเช่นกันและได้เก็บรักษาไว้จนทุกวันนี้
 
 
ชมสารคดี 266 ปี พระพุทธศาสนาในลังกา (08.19 นาที) https://bit.ly/2OJUTEG
สารคดี 266 พระพุทธศาสนาในลังกา ฉบับเต็ม https://bit.ly/2PDTSgQ
 
 
ครั้งแรกในรอบ 700 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาสองแผ่นดิน ระหว่างประเทศไทยและศรีลังกา การประดิษฐานพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ในสยามประเทศ และครั้งแรกในรอบ 266 ปี แห่งการประดิษฐานพระพุทธศาสนา นิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา โดยพระอุบาลีมหาเถระ พระธรรมทูตจากกรุงศรีอยุธยา แต่งตั้งโดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้งหนึ่งในชีวิต ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมกราบสักการะพระบรมเกศาธาตุ จากประเทศศรีลังกา ที่อัญเชิญมาประดิษฐานครั้งแรก ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 15 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2563 จัดโดยมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิธรรมดี ร่วมเป็นเจ้าภาพอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และถวายเครื่องสักการะบูชา ตามธรรมเนียมศรีลังกา ติดต่อฝ่ายเลขานุการโครงการฯ โทร. 02-610-2366 และ 063-526-5359