มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวรฯ ปฐมอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” จากประเทศศรีลังกา ครั้งประวัติศาสตร์
มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวรฯ ปฐมอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” จากประเทศศรีลังกา ครั้งประวัติศาสตร์ ประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะได้จนถึง ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓
กรุงเทพฯ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ – มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคี จัดพิธีอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา มาประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ประธานฝ่ายบรรพชิต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสมันตา เค. ชยสุริยะ เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทย นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ โครงการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และคุณวิชชุดา ไตรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย ในฐานะกรรมการดำเนินโครงการ พร้อมแขกผู้มีเกียรติจำนวนมาก ทั้งนี้จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้เข้ากราบสักการะตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ถึง ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ รวมเวลา ๓๒ วัน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี กล่าวว่า “ในนามรัฐบาลไทย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในพิธีปฐมอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา มาประดิษฐาน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร จึงอยากเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้มากราบสักการะเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นมงคลแก่ตนเองรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓”
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “โครงการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ” นับเป็นการเจริญความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศศรีลังกาและประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านพุทธศาสนา โดยในพิธีอัญเชิญได้จัดริ้วขบวนและรถบุปผชาติอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดับตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงและประณีตงดงาม ออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ด้วยศิลปะความเป็นไทย เช่น มณฑปต่างๆ ที่มีความเก่าแก่การจัดแต่งดอกไม้รอบตัวรถออกแบบให้เป็นเหมือนลายคลื่นน้ำ เปรียบเสมือนพระบรมเกศาธาตุ ที่ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศไทย จึงถือเป็นเกียรติและโอกาสที่หาได้ยากสำหรับประชาชนชาวไทย ที่ได้เข้ากราบพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นประกาศให้คนทั่วโลกได้เห็นถึงความสวยงามของศิลปะไทย ไม่ว่าจะเป็นงานดอกไม้ การจัดดอกไม้ไทยรอบริ้วขบวน รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกนำขบวน ที่แกะสลักพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ พร้อมกันนี้ ทางศรีลังกายังได้มีการแสดงทางวัฒนธรรมด้วยขบวนกลอง และคณะนาฏศิลป์ เพื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้านำขบวนรถบุปผชาติ รวมถึงรอบพิเศษในการถวายเครื่องบูชาสักการะในพระตำหนักเพ็ชรทุกวันด้วย
นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ โครงการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ กล่าวว่า “โครงการอัญเชิญ พระบรมเกศาธาตุจากประเทศศรีลังกา จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์เถรวาทไทย-ลังกา ที่ดำเนินสืบเนื่องมากว่า ๗๐๐ ปี นับตั้งแต่การรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในสมัยสุโขทัย อีกทั้งปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ยังเป็นวาระครบรอบ ๒๖๖ ปี แห่งการประดิษฐานพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับการอุปสมบทจากคณะพระธรรมทูตนำโดยพระอุบาลีมหาเถระ จากวัดธรรมารามแห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสื่อมถอยไปด้วยอิทธิพลของชาวต่างชาติและผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอื่น นิกายสยามวงศ์จึงเป็นส่วนสำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย–ศรีลังกา มาจนถึงปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังได้รับเมตตาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานโครงการฝ่ายบรรพชิต”
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กรรมการและเลขานุการ โครงการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ กล่าวว่า “พระบรมเกศาธาตุที่อัญเชิญมานี้มีความสําคัญอย่างยิ่ง เดิมเก็บรักษาอยู่ที่วัดโบราณแห่งหนึ่งในเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา และเป็นที่เคารพบูชาอย่างสูงสุดมากว่า ๗๐๐ ปี จนกระทั่งเมื่อประมาณ ๓ ปีก่อนจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ Nelligala International Buddhist Center เพื่อให้พุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะได้สะดวกขึ้น สำหรับการอัญเชิญมายังประเทศไทยในครั้งนี้เป็นดําริของพระสังฆนายกแห่งวัดมัลละวัตตะมหาวิหาร หรือวัดบุปผาราม และพระสังฆนายกแห่งวัดอัสคิริยามหาวิหาร ประเทศศรีลังกา โดยวัดมัลละวัตตะ เป็นวัดที่พระอุบาลีเถระ และคณะสมณทูตจากกรุงศรีอยุธยา มาทําการบรรพชาอุปสมบทให้ชาวศรีลังกา ส่วนวัดอัสคิริยา เป็นสถานที่ถวายเพลิงสรีระสังขารพระอุบาลีเถระ ทั้ง ๒ วัดนี้ยังที่ทำหน้าที่สำคัญในการดูแลวัดพระเขี้ยวแก้วอีกด้วย พระบรมเกศาธาตุนี้เป็นองค์ที่ไม่เคยอัญเชิญมาในประเทศไทยมาก่อน จึงเป็นครั้งแรกในรอบ ๗๐๐ ปี ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยจะได้มีโอกาสเข้ากราบสักการะพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาพร้อมกันในครั้งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต”
ทั้งนี้ พระสังฆนายกและคณะจากประเทศศรีลังกา พร้อมพระบรมเกศาธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ ได้เดินทางถึงท่าอากาศสุวรรณภูมิเวลา ๖.๒๕ น. โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ประธานฝ่ายดำเนินการ โครงการอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” และผู้บริหารมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ให้การต้อนรับ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ มายังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ในเวลา ๘.๓๐ น. เพื่อประกอบพิธีสักการะ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี จากนั้นริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ได้เคลื่อนขบวนจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยใช้เส้นทางถนนพระสุเมรุผ่านแยกสะพานวันชาติ มุ่งหน้าไปพระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อประกอบพิธีประดิษฐาน โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานสงฆ์
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์มายาวนาน โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นเจ้าอาวาสพระองค์แรก วัดนี้ยังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๑๐ ขณะทรงผนวช อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๔ พระองค์ สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของพระตำหนักเพ็ชร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เพื่อถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชอุปัธยาจารย์ ทรงใช้ประกอบศาสนกิจ เคยใช้เป็นสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม รวมถึงเป็นที่ประดิษฐานต้นแบบพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ ขนาดเท่าพระองค์จริง พระบรมฉายาลักษณ์ ตลอดจนเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อน ๆ
พุทธศาสนิกชนสามารถเข้ากราบสักการะพระบรมเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระตำหนักเพ็ชร
วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๓ รวมถึงสามารถจองรอบเวลาเป็นเจ้าภาพถวายเครื่องสักการะบูชาตามธรรมเนียมศรีลังกาได้ที่ฝ่ายเลขานุการโครงการฯ โทร. ๐๒ ๖๑๐ ๒๓๖๖, ๐๖๓ ๕๒๖ ๕๓๕๙
ข้อมูลเกี่ยวกับพระบรมเกศาธาตุและสถานที่ประดิษฐานในประเทศศรีลังกา
เนลลิกาลา อินเตอร์เนชันแนล บุดดิสต์ เซ็นเตอร์ (Nelligala International Buddhist Centre) เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมเกศาธาตุ ในเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงและมีผู้ศรัทธาจากทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาเยือนราว ๖๐๐,๐๐๐ คนต่อเดือน
พระบรมเกศาธาตุได้รับการประดิษฐานในศรีศากยสิงเหสุคันธกุฏิ (Sri Shakyasinghe Sugandha Kuti) ภายในบริเวณ เนลลิกาลา อินเตอร์เนชันแนล บุดดิสต์ เซ็นเตอร์ และเป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของชาวพุทธในศรีลังกา โดยรัฐบาลศรีลังกาได้อัญเชิญพระบรมเกศาธาตุมาร่วมพิธีทางศาสนาในเทศกาลวันวิสาขบูชา รวมถึง National Poson Festival ซึ่งเป็นงานฉลองการเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังศรีลังกาครั้งแรกในพุทธศตวรรษที่ ๓ ศรีศากยสิงเหสุคันธกุฏิ เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความงดงาม มีพิธีเปิดในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยมีประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา พระสังฆนายกแห่งวัดอัสคิริยา และคณะสงฆ์นิกายต่างๆ ในศรีลังกา มาร่วมในพิธี
และเพื่อเป็นการถวายความเคารพแด่พระบรมเกศาธาตุ รัฐบาลศรีลังกาได้ใช้งบประมาณกว่า ๗๐๐ ล้านรูปี ในการพัฒนาถนนและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในท้องถิ่นที่ประดิษฐาน ซึ่งรวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยของสถานที่ประดิษฐานด้วยก่อนที่จะได้รับการประดิษฐานที่เนลลิกาลา อินเตอร์เนชันแนล บุดดิสต์ เซ็นเตอร์ พระบรมเกศาธาตุประดิษฐานอยู่ที่ Yatihalagaya Raja Maha Vihara วัดโบราณอายุกว่า ๗๐๐ ปีที่อยู่ในความดูแลของวัดอัสคิริยามหาวิหาร และได้รับการปกปักรักษามาหลายชั่วอายุคน นอกจากนี้ เนลลิกาลา อินเตอร์เนชันแนล บุดดิสต์ เซ็นเตอร์ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ต่อมารัฐบาลศรีลังกาได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศเมียนมาร์อีกด้วย
เนลลิกาลา อินเตอร์เนชันแนล บุดดิสต์ เซ็นเตอร์ อยู่ในความดูแลของ Maha Vihara Wanshika Asgiriya ผู้ก่อตั้งคือพระ Wathurakumbura Dammarathana Sthawiraya ซึ่งเป็นพระเถระชั้นนำของประเทศ และเป็นเจ้าอาวาสของวัด Yatihalagaya Raja Maha Vihara เรื่องราวและกิจกรรมของเนลลิกาลา อินเตอร์เนชันแนล บุดดิสต์ เซ็นเตอร์ ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ในประเทศศรีลังกาอยู่เสมอ และมีการถ่ายทอดพิธีสงฆ์ประจำวันผ่านสื่อต่างๆ