พิพิธภัณฑ์ครุฑธ.ธนชาตแห่งเดียวในประเทศไทยและอาเซียน
พิพิธภัณฑ์ครุฑธ.ธนชาตแห่งเดียวในประเทศไทยและอาเซียน
พิพิธภัณฑ์ครุฑของธนาคารธนชาต นับเป็นพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยและในอาเซียน จัดสร้างขึ้นจากแนวความคิดของผู้บริหารธนาคารธนชาต ที่ต้องการส่งผ่านความเคารพและความรู้ในองค์ครุฑพระราชทาน ที่มีความสำคัญเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งพระเจ้าแผ่นดินและตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทยที่มีต่อองค์ครุฑ
ตราพระครุฑนี้ถือเป็นสิ่งยืนยันเกียรติประวัติของธนาคารนครหลวงไทยมากว่า ๗๐ ปี หลังจากธนาคารนครหลวงไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องหมายครุฑพ่าห์มาติดตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ และที่สาขามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ มีการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้องอัญเชิญเครื่องหมายครุฑพ่าห์คืนให้แก่สำนักพระราชวัง ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ ปี ๒๕๓๔ ที่บัญญัติไว้ว่า ให้บุคคล ห้างร้าน หรือบริษัทที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง “เครื่องหมายครุฑพ่าห์” ต้องคืนตราตั้งให้แก่สำนักพระราชวัง เมื่อบุคคล ห้างร้าน หรือบริษัทนั้นๆ เลิกประกอบกิจการ หรือโอนกิจการให้แก่ผู้อื่น
ธนาคารธนชาต ซึ่งตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญขององค์ครุฑพระราชทาน ที่มีความผูกพันและความศรัทธามาอย่างยาวนานกับคนไทย จึงได้อัญเชิญองค์ครุฑไปประดิษฐานในที่อันเหมาะสม โดยมีการประกอบพิธีอย่างถูกต้องตามหลักประเพณีจากพระราชครูศิวาจารย์ ครูพราหมณ์ประจำราชสำนัก โดยทำพิธีกล่าวอัญเชิญองค์ครุฑ ทั้งที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และสาขาทั่วประเทศมาประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารธนชาต บางปู
นอกจากนี้แล้วพิพิธภัณฑ์ครุฑ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับครุฑในทุกๆ ด้าน โดยมีพื้นฐานความเชื่อจากคติจักรวาลในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับสถาบันการปกครองของไทยอย่างลึกซึ้ง และครอบคลุมความเชื่อที่ปรากฏให้เห็นในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน
เสน่ห์ขององค์ครุฑพระราชทานไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามหรือท่วงท่าอันสง่างามที่แสดงพลังอำนาจอันน่าเกรงขามอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่คุณค่าและประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ครุฑแต่ละองค์
เราจะเห็นครุฑที่มีรูปร่างหน้าตา สีของผ้านุ่ง เครื่องทรงที่ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่องค์เดียว เพราะเมื่อย้อนไปในอดีตจะพบว่าไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่กำหนดลักษณะของครุฑ องค์ครุฑพระราชทานทุกองค์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานก็มีความเก่าแก่ต่างกันไป องค์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นครุฑจากสาขาแรกของธนาคารนครหลวงไทย คือ สาขาราชดำเนิน
๕ห้องจัดแสดง
พิพิธภัณฑ์ครุฑแบ่งบริเวณจัดแสดงออกเป็น ๕ ห้อง ได้แก่ โถงต้อนรับ ครุฑพิมาน (ป่าหิมพานต์) นครนาคราช อมตะจ้าวเวหา และห้องจัดแสดงครุฑ เมื่อเดินเข้ามายังพิพิธภัณฑ์นี้จะมีสัญลักษณ์พิพิธภัณฑ์ครุฑเด่นเป็นสง่าอยู่กลางโถง ซึ่งด้านขวามือจะเป็นกาพย์ห่อโคลงที่กล่าวถึงพญาครุฑในแง่มุมทางพุทธศาสนา ที่ได้รับเกียรติจากยอดกวีแห่งยุครัตนโกสินทร์ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประพันธ์ไว้ โดยถ่ายทอดความเป็นเทพของพญาครุฑที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระนารายณ์บนพื้นฐานของจักรวาล
โถงต้อนรับที่เป็นรูปวงกลมจะมีภาพหน้าสาขาต่างๆ ของธนาคารนครหลวงไทยที่ถ่ายทอดความประทับใจเก็บไว้ ด้านขวามือของโถงมีวีดิทัศน์แนะนำเรื่องราวและความสำคัญของพญาครุฑ โดยอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย และเป็นที่ปรึกษาในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้ด้วย รวมถึงการบอกเล่าประสบการณ์การปั้นครุฑจากศาสตราภิชานสัญญา วงศ์อร่าม จากภาควิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครุฑพิมาน หรือวิมานแห่งครุฑ เป็นการรังสรรค์ห้องจัดแสดงส่วนนี้ให้เป็นป่าหิมพานต์ตามความเชื่อว่าถิ่นที่อยู่อาศัยของพญาครุฑ คือ ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นดินแดนที่กำเนิดขึ้นภายใต้แนวความคิดศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อยู่ในห้องนี้ ก็จะได้เหมือนท่องไปในแดนหิมพานต์ มีการจำลองสัตว์วิเศษที่ปั้นเสมือนจริงและจัดวางตามทิศที่อยู่อาศัยจริงของป่าหิมพานต์ ต้นมักกะลีผล จำลองสระอโนดาตอยู่ตรงกลางของห้องจัดแสดงและมีการนำเข้าสู่ห้องจัดแสดงถัดไปโดยมีแม่น้ำมหานทีสีทันดรเชื่อมระหว่างห้อง
นครนาคราช เป็นการเนรมิตอุโมงค์ทางเดินกว่า ๑๐ เมตรให้กลายเป็นมหานครใต้น้ำ ทั้งสีสัน บรรยากาศ และวัสดุที่เลือกใช้ เพื่อให้สมกับเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเจ้าแห่งสายน้ำอย่างพญานาค ซึ่งเป็นปรปักษ์ตลอดกาลของพญาครุฑ โดยในห้องมีจิตรกรรมฝาผนัง “ครุฑยุดนาค” ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของพญาครุฑและพญานาค
ตำนาน“ครุฑ” สัญลักษณ์พระมหากษัตริย์ไทย
อาจารย์ประสาท ทองอร่าม(ครูมืด) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย กรมศิลปากรและมีผลงานด้านวัฒนธรรมระดับประเทศมากมายได้บอกเล่าตำนาน “ครุฑ” หรือพระยาสุบรรณและอีกหลายชื่อว่า ครุฑเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสัตว์ประเสริฐ เหนือยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ปถุชนคนธรรมดาในป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่าในวรรณคดีและความเชื่อในเรื่องไตรภูมิตามคติศาสนาพุทธ-ฮินดูโดยเชื่อว่าตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ครุฑเป็นสิ่งใกล้ตัวและผูกพันกับเราทั้งในด้านวรรณคดี พุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งคู่สถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากเครื่องแต่งกายของข้าราชการสมัยรัชกาลที่ 5 เสื้อราชปะแตนมีเครื่องหมายพญาครุฑอยู่ที่กระดุมด้านหน้า
นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมต่าง ๆ ที่จินตนาการองค์นารายณ์ทรงสุบรรณ หรือองค์นารายณ์ทรงครุฑเป็นพาหนะ ครุฑจึงถือเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์ไทยด้วยตามความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ถือเป็นองค์สมมุติเทพหรือสืบเชื้อสายมาจากพระนารายณ์ที่เสด็จอวตาลลงมาปกป้องดูแลรักษาพสกนิกรและประเทศชาติ ซึ่งความจริงแล้วพระมหากษัตริย์ผูกพันไปถึงเทพเจ้า 3 องค์ซึ่งถือเป็นมหาเทพได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์(พระพิษณุหรือพระกฤษณะ)และพระพรหม มีฤทธิ์และศักดิ์เท่าเทียมกัน แต่อาจมีการยกเทพองค์ใดองค์หนึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดต่างกันไปในแต่ละตำนานหรือลัทธิ เช่น ไศวะนิกายยกพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นใหญ่
อาจารย์ประสาท เล่าว่า องค์พญาครุฑเป็นพี่น้องกับพญานาค แต่ไม่ถูกกัน เป็นศัตรูกัน เจอหน้ากันเป็นต้องห้ำหั่นต่อสู้กันและครุฑจะต้องชนะทุกครั้งไป ซึ่งมีความเป็นมาในตำนานยาวนานและทั้งพญาครุฑและพญานาคจึงมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์ทั้งคู่ โดยทั้งสองเป็นบุตรของฤาษีชื่อว่า “พระกัศยปะฤาษี” พระประชาบดีที่ยิ่งใหญ่ มารดาพญาครุฑมีชื่อว่า “นางวินตา” เป็นพี่สาวของมารดาพญานาคที่มีชื่อว่า “กัทรุ” ซึ่งแม้จะเป็นพี่น้องกันร่วมท้องเดียวกันก็ไม่ค่อยปรองดองกันนักจึงเป็นต้นเหตุให้เกิดพญาครุฑและพญานาคที่เป็นอริต่อกัน พระกัศยปะฤาษีให้ขอพรแก่ชายาตามที่ปรารถนา พระนางวินตาขอพรให้มีลูกเป็นชาย 2 คนและยังแอบกระซิบว่า ขอให้มีฤทธิ์เหนือกว่าลูกของนางกัทรุ
ต่อมาพระนางวินตาได้ลูกออกมาเป็นไข่ 2 ฟองแต่ยังไม่ฟัก ขณะที่ไข่ของนางกัทรุมีฟองเดียวฟักก่อนออกมาเป็นพญานาค นางวินตาด้วยความใจร้อนอยากให้ลูกถือกำเนิดมาเร็ว ๆจึงทุบไข่ฟองหนึ่งก่อน ทำให้ลูกที่กำเนิดกำหนดต้องพิการไม่มีขาตั้งแต่ส่วนต้นขา มีชื่อว่า พระอรุณ พระอรุณจึงโกรธแค้นและสาปให้นางวินตาผู้เป็นมารดาใช้หนี้กรรมด้วยการตกเป็นทาสของนางกัทรุนาน 500 ปี ครบแล้วให้น้องที่อยู่ในไข่อีกฟองหนึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือ หลังจากนั้นพระอรุณได้ไปเป็นสารถีของพระอาทิตย์
หลังจากนั้นการณ์ก็เป็นไปตามคำสาป เมื่อสองนางอยู่ว่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไรได้ทายปัญหากันที่เป็นสาเหตุให้นางวินตาต้องไปเป็นทาสของนางกัทรุ โดยนางกัทรุทายว่า ม้าของพระอาทิตย์มีกายสีอะไร? นางวินตาตอบว่า สีขาว แต่นางกัทรุทายว่ามีสีดำ พอทายไปแล้วมารู้ความจริงทีหลังว่ามีสีขาว จึงให้ลูกของตนแปลงกายเป็นขนสีดำไปแซมอยู่ จึงทำให้มองเห็นเป็นสีดำ นางวินตาจึงแพ้ด้วยกลอุบายของนางกัทรุและตกเป็นทาสของนางกัทรุ 500 ปี หลังจากนั้นไข่อีกฟองของนางวินตาได้ฟักออกมาเป็นพญาครุฑตามคำสาปว่าต้องมาทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้เป็นมารดา
“พญาครุฑเมื่อแรกถือกำเนิดออกมา มีเสียงกึกก้องกัมปนาทไปทั่วจักรวาล มีแสงสุกสว่างไปทั่ว ทำให้เหล่าเทวดาตกใจเกรงกลัวมากนึกว่า พระอัคนีพิโรธ แต่ต่อมาพระอัคนีได้ออกมาบอกว่า ไม่ใช่ แต่เกิดจากไข่อีกฟองหนึ่งของพระนางวินตาฟักออกมาแล้วชื่อว่า พญาครุฑหรือพระยาสุบรรณ ซึ่งสุบรรณแปลว่า ผู้ที่มีพรหมวิหาร
ลักษณะของพญาครุฑ มีศีรษะ จะงอยปากและปีกเหมือนพญานกอินทรีย์ มีร่างกายและแขนเป็นมนุษย์ บางตำนานว่าเท้ามีส่วนเป็นนก บางตำนานว่าเท้าเหมือนมนุษย์ เช่น พญาครุฑในเรื่องกากี ลำตัวใหญ่มาก 150 โยชน์ ปีกยาว 50 โยชน์ จะงอยปาก 9 โยชน์ กระพือปีกบินได้ครั้งละหลายร้อยโยชน์ ถ้ากระพือปีกเต็มที่สามารถทำให้โลกหยุดหมุนได้ สามารถบินข้ามไปที่ไหนได้เร็วมาก”
พญาครุฑยังเป็นเทพเจ้าแห่งความกตัญญูด้วยโดยยอมเป็นทาสของพญานาคด้วย วันหนึ่งนางกัทรุอยากไปเที่ยวจึงให้นางวินตาอุ้มข้ามมหาสมุทร ส่วนพญาครุฑพาพญานาคและบริเวณนาคข้ามมหาสมุทร ต่อมาพญาครุฑสงสัยว่าทำไมตนและมารดาจึงต้องมาเป็นทาสและสอบถามรู้ว่า เพราะเสียรู้ ทำอย่างไรถึงจะไถ่โทษได้ ซึ่งมีทางเดียวคือ ต้องไปนำ “น้ำอมฤต” ที่ได้จากพิธีกวนน้ำอมฤตมาหรือที่เรียกว่า พิธีกวนเกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนม
ตำนานเล่าว่า พิธีกวนน้ำอมฤตนี้สุดท้ายแล้วจะได้น้ำทิพย์พิเศษมาช่วยให้ทุกสรรพสิ่งเป็นอมตะได้ ซึ่งพิธีกวนสรรพสัตว์ทั่วไปต้องมาช่วยกัน โดยใช้ภูเขามันทรคิรีมาเป็นไม้กวน ใช้พญานาคเป็นสายโยงและช่วยกันชักโดยมีเทวดาและมนุษย์ชักทางหาง อสูรชักอยู่ด้านหน้า เพราะเทวดารู้ว่า ชักไปมาความร้อนจะเกิดและทำให้พญานาคพ่นพิษออกมา ดังนั้นเหล่าอสูรจะโดนพิษก่อน ซึ่งต้องทำกันไปชั่วกัปชั่วกัลป์ มีพระนารายณ์อวตาลมาเป็นเต่ารองรับเพื่อไม่ให้โลกทะลุ จนในที่สุดเมื่อได้มาแล้วพระนารายณ์หลอกลวงเหล่าอสูรให้ไปอีกทาง จึงมีแต่เทวดาที่มีชีวิตเป็นอมตะ
แต่มีอสูรอยู่ตัวที่แปลงตัวลอบไปดื่มน้ำอมฤตได้คือ ราหู กินไปได้ 1 หยดแต่พระจันทร์และพระอาทิตย์เห็นจึงฟ้องพระนารายณ์ ซึ่งได้ขว้างจักรตัดท่อนราหู แต่ไม่ตาย เหลือครึ่งท่อนเพราะได้กินน้ำอมฤตเข้าไป ด้านราหูแค้นพระอาทิตย์และพระจันทร์ที่ไปฟ้องจึงกินพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าไป แต่ตัวที่เหลือครึ่งท่อนทำให้กินเข้าไปและหลุดออกมา จึงเกิดเป็นตำนานจันทรคาสหรือสุริยคราสตามมา
ด้านเหล่าพญานาคเมื่อรู้ว่าได้น้ำอมฤตแล้วจึงให้พญาครุฑนาคไปขโมยน้ำอมฤตมา ด้วยความกตัญญูเพื่อความเป็นอิสระของแม่ พญาครุฑต้องบากบั่นต่อสู้มากมายเหลือเกินกว่าจะได้มา โดยต้องต่อสู้กับพระอินทร์ ต้องโดนพระวัชระหรือสายฟ้าขว้างใส่โดนขนร่วง
นอกจากนี้ต้องสู้กับพระนารายณ์ แต่ไม่มีใครแพ้ใครชนะ แสดงว่า พญาครุฑมีฤทธิ์ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับพระนารายณ์ จึงเป็นที่มาของการตกลงเป็นมิตรกันและให้สัตย์สัญญาต่อกันว่า “เมื่อพระนารายณ์ประทับอยู่ที่ไหน พญาครุฑต้องอยู่เหนือพระนารายณ์ แต่เมื่อพระนารายณ์จะไปไหน พญาครุฑต้องยอมเป็นพาหนะให้” ต่อมาพระนารายณ์ยังได้รู้อีกว่า พญาครุฑกตัญญู ต้องการนำน้ำอมฤตไปไถ่มารดาจากความเป็นทาส จึงให้พรให้พญาครุฑเป็นอมตะได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำอมฤตและพญาครุฑยังขอให้ตนเป็นศัตรูกับพญานาคไปชั่วกัปชั่วกัลป์ แต่ให้ตนเป็นผู้ชนะ จับพญานาคกินเป็นอาหารได้
เมื่อพญาครุฑได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็ไม่อยากให้พญานาคกินจึงขอพระนารายณ์ว่า ไม่อยากให้พญานาคกิน จึงสัญญากันว่า เมื่อเอาหม้อน้ำอมฤตไปให้แล้วให้พระอินทร์รีบขโมยกลับไป เหล่าพญานาคที่หลังจากแต่งองค์ทรงเครื่องเพื่อเลี้ยงฉลองกลับมาตามหาหม้อน้ำอมฤตไม่เจอ เที่ยวตามหาเลียไปตามต้นหญ้าคาทำให้โดนหญ้าบาดลิ้น จึงเป็นที่มาของการที่พญานาคมีลิ้นเป็น 2 แฉก
เรื่องราวในตำนานเหล่านี้เองเป็นที่มาของการที่ “พญาครุฑ” สัตว์ประเสริฐที่เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์ถือเป็นพระนารายณ์ จะเห็นได้ว่า เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปไหน ราชรถ ราชยานจะมีธงครุฑนำหน้า เรือพระที่นั่งที่มีการทำถวายพระองค์คือ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่ไหน พระราชวังไกลกังวลที่หัวหิน จะต้องชักธงครุฑขึ้นอยู่เหนือพระที่นั่ง ตราต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรัชกาลนี้ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองพิเศษจะเป็นสัตว์พิเศษ 2 ตัวคือ พญาครุฑ ที่มีหน้าสีขาว กายสีแดงและปีกสีทอง ส่วนอีกชนิดได้แก่ พระยาวานรสีขาวหรือหนุมาน นั่นเอง
นอกจากนี้ ทางด้าน นายวิชา กุลก่อเกียรติ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ ธนาคารธนชาติ เล่าว่า หลังควบรวมกิจการได้อัญเชิญครุฑที่ประดิษฐานอยู่ที่ธนาคารสาขาต่าง ๆ ของธนาคารนครหลวงไทยลง ซึ่งมีอยู่มากกว่า 400 องค์และพบว่า มีครุฑที่ทำจากไม้สักเป็นจำนวนมากที่มีความสวยงามตามกาล หลากหลาย ซึ่งครุฑแต่ละองค์ยังมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสถานที่ สะท้อนความตั้งใจของศิลปินในสมัยก่อนที่ต้องการเก็บกลิ่นอายของทำเลนั้น ๆ ไว้ เช่น ครุฑของสาขาธนาคารนครหลวงไทยเยาวราช ที่เป็นเขตไชน่าทาวน์หรือย่านที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีน ลักษณะครุฑจะออกสไตล์จีน ๆ มีการสวมหมวกแบบจีนและมีลักษณะหางตาเฉียงขึ้น เป็นต้น
ดังนั้นหากเก็บไว้เฉย ๆ ก็คงไม่มีประโยชน์ จึงมีแนวคิดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมในเชิงลึกถึงคุณค่าของครุฑที่ถือเป็นสัตว์วิเศษและเป็นเสมือนตัวแทนของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เพียงมาชมความสวยงามของครุฑที่เก็บรวบรวมไว้เพียงอย่างเดียว โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท RIGHTMAN จำกัดที่มีผลงานสร้างชื่ออย่าง "นิทรรศน์รัตนโกสินทร์" ซึ่งเป็นการแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ถนนราชดำเนินกลางมาช่วยสร้างสรรค์เนื้อหาและออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับครุฑในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมอีกหลายท่าน
“ครุฑรุ่นเก่าจะเป็นการแกะสลักจากไม้สัก แต่รุ่นใหม่จะเป็นไฟเบอร์ ไม่มีการใช้โลหะทำเพราะหนักเกินไปไม่เหมาะสำหรับขึ้นไปแขวนหน้าอาคาร ส่วนลักษณะครุฑแต่ละองค์จะมีลักษณะลีลาแตกต่างกันไป บางองค์สมบูรณ์ บางองค์รูปร่างเพรียว สะโอดสะอง เวลานี้ยังไม่ได้เปิดทีเดียว แต่สามารถรับเป็นกลุ่มย่อย ๆเข้าชมได้ นอกจากนี้ยังต้องค่อย ๆ ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เช่น ฝึกคนบรรยาย เป็นต้น รวมถึงอาจจะมีการรวบรวมครุฑเพิ่มจากหลายที่ รวมถึงจากต่างประเทศ ”
สถาบันที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสมัครได้ทางเว็บไซต์ www.thanachartcsr.com (ธนชาตซีเอสอาร์) หรือทางโทรสาร หมายเลข ๐-๒๓๑๘-๗๒๓๑