"ในหลวง" โปรดสถาปนา "สังฆราช" องค์ใหม่
"ในหลวง" โปรดสถาปนา "สังฆราช" องค์ใหม่แล้ว
"ประยุทธ์" เผย ในหลวงโปรดสถาปนา "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์" เป็นสังฆราชองค์ใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชว่า ตนได้นำรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งพระสังฆราช 5 องค์ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาและเมื่อคืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ตนได้รับแจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะจัดงานพิธีสถาปนาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีตามพระราชประเพณี
พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่าจากนี้ขอให้อย่าขัดแย้งกันอีกเลย ที่เลือกมาก็ดูเรื่องการปฏิบัติงานและคุณสมบัติอื่น ที่สำคัญเป็นพระราชอัธยาศัยของพระองค์ที่ทรงพิจารณาเอง
ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร)
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
๏ อัตโนประวัติ
เมื่อครั้งที่ “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.๖)” เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ลำดับที่ ๕ ได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ยังความเศร้าโศกสลดอาลัยแก่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ในครั้งนั้น “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร ป.ธ.๖)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่มีลำดับอาวุโสสูงสุดในวัด ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส
ต่อมา ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เนื่องจากได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมาด้วยความเรียบร้อย และมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ สมควรได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ณ หมู่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบันสิริอายุได้ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑ (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต) และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ ๔ ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
การบรรพชาและการอุปสมบท
ต่อมาเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น พ.ศ. ๒๔๘๓ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๘๔ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๘๖ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๘ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดย “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร)
ครั้นต่อมา สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมี ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ. ๒๔๙๑ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค
ต่อมา ท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นนักศึกษารุ่นที่ ๕ จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติมาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น
๏ งานด้านการศึกษา
- เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร
- เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี
- เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) เป็นต้น
- พ.ศ. ๒๕๕๒ สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์
- พ.ศ. ๒๕๕๓ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ
งานด้านสาธารณูปการ
- เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต พระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย
- เป็นประธานสร้างวัดแหล่งทองแดงพรหมสราราม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม เป็นต้น
๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- เป็นรองแม่กองงานพระธรรมทูต รูปที่ ๒ ผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย
- เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
๏ งานด้านการศึกษาสงเคราะห์
- ได้มอบทุนสงเคราะห์แก่ผู้เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- เป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
๏ งานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน
- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร
- ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ (ธรรมยุต)
- กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
- กรรมการคณะธรรมยุต
- นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)
- กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- แม่กองงานพระธรรมทูต
- ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร (นับว่าท่านเป็นศิษย์พระอาจารย์ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ)
- พระอุปัชฌาย์
๏ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระปริยัติกวี
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสารสุธี
พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเมธาภรณ์
พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเมธาภรณ์
พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระสาสนโสภณ วิมลญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกธรรมาลังการภูษิต ธรรมนิตยสาทร ศาสนกิจจานุกร ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี” สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เอาใจใส่ในกิจการงานของพระอารามหลวงด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระอยู่ ทุกประการล้วนต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมทั้งความตั้งใจจริงอย่างดียิ่ง ได้ทำหน้าที่ในฐานะแห่งนักปกครองที่เอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัดอย่างดียิ่ง รวมทั้งท่านยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย