คนเห็นแก่ตัว เป็นคนสกปรก อนุรักษ์ จุรีมาศ อดีต รมว.วัฒนธรรม
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : อมรพันธุ์ พรหมฟัง
คนเห็นแก่ตัว เป็นคนสกปรก อนุรักษ์ จุรีมาศ อดีต รมว.วัฒนธรรม
ความคาดหวังในการพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวไกล ด้วยคุณธรรม วัฒนธรรมไทยจะต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลในชาติ เพราะสังคมคือคนจำนวนหนึ่งที่มีความต่อเนื่องตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และการที่สังคมไทยในปัจจุบันได้รับเอาวัฒนธรรม จากต่างประเทศมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย
นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กลายมาเป็นนโยบายในการทำงาน ด้านวัฒนธรรมของ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.คมนาคม และอดีต รมว.วัฒนธรรม หรือมีชื่อเล่น "แกะ"
รมต.อนุรักษ์ บอกว่า ถ้าคนเราทำแต่เรื่องดีๆ ไม่ได้ไปสร้าง ความเดือดร้อนหรือไปทำใน ลักษณะเบียดเบียนให้กับคนอื่น ชีวิตคนเราก็จะมีความสุข แม้แต่ตำแหน่งหน้าที่การงานเมื่อถึง เวลาที่จะต้องพ้นตามวาระ ก็ทำให้ชีวิตคนเราไม่ต้องคิดอะไรมาก การไม่ยึดติดเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ เนื่องจากเก้าอี้หรือตำแหน่งไม่ใช่เป็นของใครอย่างถาวร วันหนึ่งได้เข้ามานั่งเมื่อ ถึงเวลาก็ต้องออกไปเป็นวัฏจักรแบบนี้ไม่สิ้นสุด ถ้าตราบใดมนุษย์เรายังมีรัก โลภ โกรธ หลง
สิ่งที่ได้ สิ่งที่มีทั้งหลาย มักจะเป็นทุกขลาภ ทุกขลาภ คือ การได้ การมี ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ลาภในที่นี้หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เราได้ ที่เรามี ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เช่น ทรัพย์สิน ฯลฯ ความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับลาภ มีอยู่สองระดับ ระดับแรก คือคุณสมบัติพื้นฐานของลาภเหล่านั้น ทำให้ทุกข์ เพราะมันต้องเสีย ต้องหมด ต้องจืดจาง ต้องเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ ยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
ระดับสอง เป็นคุณสมบัติเฉพาะของลาภชิ้นนั้นหรือที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทุกข์ เพราะมีตำหนิ มีเรื่องรบกวนจิตใจ ต้องใช้เวลากับมันมาก ต้องคอยดูแล อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ มากน้อยแตกต่างกัน เช่น การมีบ้าน บ้านโดยทั่วไปต้องเสียหาย ต้องผุพัง นั่นเป็นทุกข์ระดับที่หนึ่งตามธรรมชาติ ถ้ามีบ้านหลังใหญ่ก็ต้องใช้เงินใช้เวลามากใน การทำความสะอาด ดูแล ซ่อมแซม ตกแต่ง การมีบ้านที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่ดีมีมลภาวะก็เป็นทุกข์ระดับที่สอง
ธรรมะอย่างหนึ่งที่ รมต.อนุรักษ์ บอกว่า นักการเมืองทุกคนต้องมี คือ การไม่ยึดติด โดยเขาได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า "การไม่ติด และการมีจุดตัดสินว่ามี ได้ แค่ไหนพอ จะช่วยลดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น และลดความยินดีที่มากเป็นพิเศษ ในที่สุดเพื่อจะทำให้ใจตัวเองมีความสุข ความสงบ ความเป็นอิสระ โดยชีวิตคนเราต้องอยู่และยอมรับความเป็นจริงที่คนเราต้องเจอได้ตลอดเวลา"
สำหรับพระเครื่องที่แขวนติดตัวประจำ คือพระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม ได้มาหลายปีแล้ว เมื่อใส่พระสมเด็จ วัดระฆังแล้ว ถือว่าเป็น พระที่คนในวงการและ นอกวงการพระเครื่องต่างก็ต้องอยากมีไว้ครอบครอง เพื่อเป็นการสร้างบารมีให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้หลายคนที่มีพระสมเด็จก็ต้องรักษาพระกันสุดชีวิต บางคนก็แขวน บางคนก็ต้องนำเอาไปฝากไว้ในธนาคาร นอกจากนี้แล้วยังมีพระสมเด็จจิตรลดา ส่วนพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ รุ่น ๒๔๙๗ ให้ก็จะแขวนติดตัวเฉพาะที่จะต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เพราะมีความเชื่อเหมือนคนทั่วๆ ไปว่า มีหลวงปู่ทวดแล้วจะไม่ตายโหง
รมว.วัฒนาธรรม ให้เหตุผลของการแขวนพระว่า ครอบครัวทุกคนนับถือศาสนาพุทธ โดยพ่อแม่ก็สอนให้แขวนพระมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เกิดความเคยชินกับการแขวนพระเครื่อง สิ่งหนึ่งที่คิดเสมอว่า แขวนเพื่อให้เป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำอะไรแล้วก็จะมีความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จาก องค์พระจะช่วยคุ้มครองให้ชีวิตแคล้วคลาดปลอดภัย ใครจะว่าการแขวนพระหรือไม่แขวนอยู่ที่ใจ แต่ถ้าไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจบางครั้งก็ส่งผลให้ไม่มีความมั่นใจก็ได้
"ความเชื่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องที่คนสมัยก่อน ได้ปฏิบัติกันมาก็ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ส่วนจะมีจริงหรือไม่ก็อยู่ที่ใจของเรา เชื่อแล้วมันก็ทำให้เรามีจิตใจที่ดี แต่การเชื่ออะไรบางอย่างไว้ก็ไม่ได้เป็นปัญหา หรือไปเชื่อกันแบบงมงาย เพียงแต่เราจะเชื่ออะไรกันก็ต้องเชื่อกันอย่างมีสติสัมปชัญญะ และถ้าเชื่อแบบนี้แล้วความไม่งมงาย หรือผลร้ายจากความงมงายก็จะไม่เกิดขึ้น" นี่คือคำยืนยันของ รมต.อนุรักษ์
สถานที่และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งที่ รมว.วัฒนธรรมให้ความเคารพและไปกราบสักการะทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส. คือที่ศาลเจ้าพ่อมเหศักดานุภาพ วัดบูรพาภิราม อยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญเดิมชื่อ วัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดบูรพาภิราม โดยยังมีพระพุทธรูป ปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ถือเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฏอยู่ในคำขวัญของเมืองร้อยเอ็ด
นอกจากเป็นคนชอบสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำแล้ว รมต.อนุรักษ์ ยังเป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรมะ ของท่านพุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี โดยเขาให้เหตุผลว่า อ่านแล้วธรรมะแห่งดีก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาสู่จิตใจได้สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม และยิ่งเข้ามาเป็นนักการเมืองก็ยังได้ร่วมทำบุญกับชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นประจำ เช่น งานบุญผะเหวด หรือกฐินผ้าป่า เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้เห็นชาวบ้านเข้าสู่กลไกใน การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ของคนท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ต่อไป ให้ลูกหลานได้รู้จักและนำไปปฏิบัติ
"อย่าเห็นแก่ตัว ทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนให้ได้รับความสุข ตรงนี้มันก็จะมีความสุขของเรา เหมือนกับธรรมะที่พระท่านว่าเอาไว้ว่า อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา คนเห็นแก่ตัว เป็นคนสกปรก สิ่งเหล่านี้จึงอยากฝากไว้เตือนสติกับคนทำงานทุกคน การทำงานไม่เห็นแก่ตัวจะเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน" รมต.อนุรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย