"ครั้งหนึ่งถูกพ่อท่านคล้ายขยี้หัว" สันติ วิลาสศักดานนท์
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : กุลพันธ์ ศิริพิมพ์อัมพร
"ครั้งหนึ่งถูกพ่อท่านคล้ายขยี้หัว" สันติ วิลาสศักดานนท์
"แม่ทัพอุตสาหกรรม" เป็นฉายาที่สื่อมวลชนตั้งให้ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีบทบาทค่อนข้างสูงในยุคการเมืองไทยกำลังร้อนแรงและเป็นยุคที่เศรษฐกิจทุกด้าน รวมถึงอุตสาหกรรมไทยที่มีสมาชิกกว่า ๕,๐๐๐ บริษัท ใครเลยจะรู้ว่าอีกมุมหนึ่งของชีวิต เขาเรียกว่าเป็น "เซียนพระเครื่องคนหนึ่ง" ที่ดูพระเก่งไม่แพ้เซียนใหญ่ เพราะเป็นคนชอบสะสมพระเครื่องกรุเก่าบูชาไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมาก
ส่วนความเป็นมาของการชอบสะสมพระเครื่องมาจากความใกล้ชิดกับพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ แห่งวัดสวนขันนั่นเอง ประกอบกับครอบครัวอยู่ใน ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช มีความผูกพันกับวัดสวนขันอย่างมาก ซึ่งที่บ้านก็เป็นโยมอุปัฏฐาก ทุกวันจะนำปิ่นโตไปถวายพ่อท่านคล้ายอยู่เป็นประจำ ด้วยความเด็กทุกวันเสาร์จะตามลูกศิษย์พ่อท่านคล้ายเอาปิ่นโตไปถวายท่านภายในกุฏิ พอท่านฉันเสร็จเราก็จะกินข้าวก้นบาตรท่าน แล้วเด็กๆ ก็ชอบให้ท่านเป่ากระหม่อม
นายสันติ บอกว่า พ่อท่านคล้ายชอบเอามือมาขยี้ศีรษะเป็นประจำ แล้วชอบเรียกว่าไอ้ไข่นุ้ย ความรู้สึกตอนนั้นคิดว่าท่านเอ็นดูเราเป็นกรณีพิเศษต่างจากเพื่อนๆ คนอื่น ทำให้ได้เหรียญและชานหมากจากท่านอยู่บ่อยครั้ง ความใกล้ชิดตรงนี้จึงมีพระเครื่องของพ่อท่านคล้าย รุ่น ๑ มาแขวนตัวจากจำนวนสามองค์ที่แขวนประจำ
พ่อท่านคล้ายได้รับการขนานนามว่า "พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์" เนื่องจากคนทั่วไปต่างเชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจาของท่านว่าพูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น ท่านจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคนที่มากราบท่าน โดยขอให้เป็นสุขเป็นสุข ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและไม่ดี
องค์ที่สองเป็นพระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน พร้อมใบประกาศและพระปรมาภิไธย เป็นพระเครื่อง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๑๓ มีทั้งสิ้นประมาณ ๒,๕๐๐ องค์
ในคราวที่ทุกคนได้รับพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดา พระองค์จะพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ" คล้ายๆ ว่าให้เราทำความดีโดยไม่ต้องไปบอกใคร ตามความเชื่อของเราเองก็เป็นเหมือนกับให้เรามีเมตตามหานิยม
ส่วนพระองค์ที่สาม เป็นพระหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ พิมพ์พระรอด รุ่น ๑ ปี ๒๔๙๗ ที่แขวนก็เพื่อให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุของการเดินทาง ยิ่งไปต่างประเทศจะขาดหลวงปู่ทวดไม่ได้เด็ดขาด ทั้งนี้ไม่ได้สะสมพระเครื่องเพื่อพุทธพาณิชย์ แต่สะสมด้วยใจรักและชอบเป็นความส่วนตัว คิดว่าพระเครื่องเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เรียกได้ว่าต้องชมว่าคนสมัยก่อนเก่งมากทำพระเครื่องออกมาได้อย่างไรถึงอยู่มาได้เป็นร้อยปีไม่แตกไม่หัก ตรงนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ
เหตุการณ์เฉียดตายจำได้ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว หลานชายเป็นคนขับรถแล้วเรานั่งอยู่ด้านหน้าด้วย ระหว่างขับอยู่นั้นมีรถสวนเข้ามายังเลนที่เราขับ คิดว่ายังไงต้องชนกันอย่างแน่นอน ปากก็บอกให้หลานขับหลบเร็วๆ แล้วในที่สุดก็หลุดออกมาจากการชนประสานงามาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
"วันนั้นผมแขวนพ่อท่านคล้าย ส่วนหลานชายแขวนหลวงปู่ทวด พิมพ์เตารีด ผมก็บอกกับหลานว่า ที่เรารอดตายมาได้พระท่านคงช่วยเราอย่างแน่นอน เพราะวินาทีนั้นไม่รู้ว่ารถมันหลุดออกจากการชนกันได้อย่างไร เป็นเรื่องปาฏิหาริย์อย่างมากจริงๆ ผมคิดว่าการแขวนพระจะให้ปาฏิหาริย์อย่างเดียวคงไม่ได้ เราเองต้องเป็นคนดีด้วย" เขาเชื่อรอดตายปาฏิหาริย์เกิดจากกรรมดี
นอกจากนี้ แม่ทัพอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ภรรยา (ศิริวรรณ) เป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรมะ จึงทำให้ชอบอ่านหลักธรรมของท่านพุทธทาส อาทิ ทำความดีเอาไว้ ความดีจะไม่ไปไหน โดยส่วนตัวเป็นคนเชื่อในเรื่องของกรรม บุญ บาป ทุกปีจึงมีการบริจาคทรัพย์ให้มูลนิธิและวัดต่างๆ ที่มีการของบเพื่อสร้างศาลา บางครั้งก็เป็นเจ้าภาพทอดกฐินผ้าป่า ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของการสะสมบุญให้ตัวเรานั่นเอง