...ท่องเที่ยวแบบสบายๆ 7 สิ่งมหัศจรรย์ อุบลราชธานี
...ท่องเที่ยวแบบสบายๆ
7 สิ่งมหัศจรรย์ อุบลราชธานี
จากวันวานกับเสียงรถไฟ ปู๊นๆ ของการท่องเที่ยวยังคงเป็นความทรงจำที่ดีให้ใครหลายๆคนอย่างแน่นอน แต่ในวันนี้การเดินทางด้วยรถไฟไทยที่สร้างความสุข ความสบายให้กับนักเที่ยวอย่างเราๆ ของรถไฟไทยด้วยขบวนรถด่วนพิเศษ 4 เส้นทาง (8 ขบวน) ที่ดูหรูทันสมัย และให้ความปลอดภัยดีเยี่ยมในยุค 4.0 ซึ่ง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.กรุงเทพ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ 2.กรุงเทพ – อุบลราชธานี – กรุงเทพ 3.กรุงเทพ – หนองคาย – กรุงเทพ 4.กรุงเทพ – ชุมทางหาดใหญ่ – กรุงเทพ ที่เดินทางได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เพราะใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม.
ขณะเดียวกัน รถไฟขบวนรถด่วนพิเศษนี้ยังให้ความสำคัญในการรองรับสำหรับผู้พิการ หรือรองรับกับผู้ใช้วีลแชร์ ให้ได้เดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำที่รองรับการใช้ของผู้พิการ, อักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น โอกาสดีวันนี้เป็นช่วงบุญใหญ่พอดี เลยได้เลือกโดยสารด้วยรถไฟขบวนรถด่วนพิเศษ กรุงเทพ – อุบลราชธานี – กรุงเทพ ที่เราสามารถชื่นชมและอิ่มเอมใจกับบรรยากาศของสีสันสองข้างทางให้ได้สุขจริงๆ
เมื่อเดินทางไปถึงอุบลฯ ได้เข้าชมงานแห่เทียนอุบลฯที่สวยงาม ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี 2560" โดยทุกปีจะมีไฮไลท์กิจกรรมสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวันรวมต้นเทียนบริเวณรอบทุ่งศรี และวันแห่ต้นเทียน ที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมขบวนแห่เทียน ที่มีความอลังการประติมากรรมเทียนหอม หนึ่งเดียวในโลก
จากนั้นเดินทางไปทำบุญต่อที่ วัดหนองบัว ชาวอุบลนิยมเรียก วัดพระธาตุหนองบัว เป็นวัดที่มีชื่อเสียง และมีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี และมีสถาปัตยกรรม ที่งดงามและน่าสนใจ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ควรจะได้แวะมาเที่ยวชมและสักการะสิ่งศักดิ์ที่วัดแห่งนี้ นั่นคือ “พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ”
แล้วไปไหว้พระกันต่อที่ วัดหนองป่าพง สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สงบท่ามกลางธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ในวัด บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ พร้อมเข้าชม พิพิธภัณฑ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) หรือ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อชา ซึ่งเก็บรวบรวมเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อชาไว้ ของเก่าโบราณาน่าสนใจที่ได้สะสมไว้ รวมทั้งประวัติของหลวงพ่อ และยังมี หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อชาที่ชั้น 3อีกด้วย สุขใจด้วยธรรมเพราะได้ย้อนรอยชีวิตหลวงพ่อชากันเลยทีเดียว
ต่อมาเดินทางไปยังวัดทุ่งศรีเมือง หอไตรกลางน้ำเลื่องลือ แห่งเมืองอุบลฯ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างชอบไปวัดเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เพื่อไหว้พระขอพร และเยี่ยมชมวัดเก่าวัดดังประจำถิ่น คราวนี้เรามาไกลถึงจังหวัดอุบลราชธานี จึงต้องขอแวะที่ “วัดทุ่งศรีเมือง” ที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะของพม่าที่ส่งผ่านมายังศิลปะลาวล้านช้างด้วย
เมื่อไหว้พระทำบุญให้ได้สุขใจกันไปแล้ว ก็ออกเดินทางไปชมธรรมชาติที่ “สามพันโบก” แก่งหินสามพันโบกตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มหินทรายที่ถูกกระแสน้ำธรรมชาติ กัดเซาะผ่านกาลเวลามานานหลายพันปี จนเกิดเป็นร่องหินขนาดใหญ่สูง 3-7 เมตร กว้างเป็นสิบเมตร กลายเป็นโบกงามๆ แปลกตาจำนวนนับไม่ถ้วนกระจายอยู่บนพื้นผิวของลานหินในละแวกนี้
และอยากบอกว่า ไม่ควรพลาดที่จะต้องไปเยือน หาดหงส์ เป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ซึ่งเกิดจากการพัดพาของน้ำและตะกอนทรายมาทับถมกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งที่น่าไปจริงๆ และใครอยากเห็นทุ่งหญ้าสวยๆ งานนี้ขอบอกว่าไม่ควรพลาดที่จะไป ทุ่งหนองหญ้าม้า บ้านโนนเค็ง ตำบลคำขวาง อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่จะได้เห็น ดอกกระดุมเงินและดอกดุสิตา ที่กว้างใหญ่ไกลสุดลูกตา
ปิดท้ายการเที่ยวครั้งนี้กับรถไฟไทย 4.0 กันที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ชมภาพเขียนสี น้ำตก เดินป่าเห็นพระอาทิตย์ก่อนใคร ผาแต้มนั้นมีสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง ทั้งทางโบราณคดีและธรรมชาติ ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายด้วยถนนลาดยางเข้าถึงที่ทำการอุทยานฯ และยังเชื่อมต่อกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง เราามารถขับรถเที่ยวได้ง่าย ในเส้นทางไปยังที่ทำการคุณสามารถจอดรถเที่ยวชมเสาเฉลียง ตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม อยู่ริมทางก่อนถึงผาแต้มเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น โดยเสาเฉลียงเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สืบเนื่องมาจากกระบวนการกัดเซาะและกัดกร่อนด้วยอิทธิพลของน้ำและลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการสึกกร่อนโดยแม่น้ำหรือธารน้ำไหลกัดเซาะเป็นเวลาชั่วนาตาปี เกิดขึ้นในชั้นหินที่วางตัวอยู่ในแนวราบหรือเกือบราบและในแต่ละชั้นมีส่วนประกอบของแร่ที่แตกต่างกัน จึงทำให้มีความแข็งและทนทานที่ไม่เหมือนกัน เพราะเป็นประติมากรรมชิ้นเอกร่วมกันของหินทราย 2 ยุค คือ หินทรายยุค ครีเตเซียส ซึ่งมีอายุประมาณ 130 ล้านปี เป็นส่วนดอกเห็ดอยู่ท่อนบน และหินทราย ยุคไดโนเสาร์ มีอายุประมาณ 180 ล้านปี ใครชอบถ่ายภาพสวยๆมาที่นี่ไม่ผิดหวัง
ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ ไม่ลืมที่จะแวะ ร้านขายหมูยอ-ของฝาก ในอุบลนั้นมีร้านขนมของฝาก รวมถึงหมูยออยู่หลายร้านทีเดียวครับ สำหรับร้านที่จะแนะนำในวันนี้คือร้าน สามชัยกรุ๊ป ที่มีโรงผลิตหมูยอเอง-โดยสูตรหมูยอที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นหมูยอแท้ ไม่ใช่หมูยอแป้ง ท่านใดได้แวะผ่านไปก็ลองไปชิมกันดูได้นะครับ จะซื้อของฝากมากแค่ไหนก็ไม่ต้องห่วงว่าน้ำหนักจะเกินนะครับ วันนี้ต้องขอบคุณรถไฟไทยที่พามาเยือนถิ่นอีสาน อุบลราชธานี ที่ได้รับความประทับใจแบบลืมไม่ลง สัญญาว่าจะมาเยือนอีกครั้งอย่างแน่นอน
รถโดยสารทั้ง 115 คันนี้ ผลิตโดยบริษัท CNR Changchun Railway Vehicles Co., Ltd
(โรงงานฉางชุน) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโรงงานเดียวกับรถไฟ BTS รุ่นที่ 2 (สายสีลม) รถโดยสารปรับอากาศจำนวน 115 คัน แยกประเภท ได้ดังนี้
1. รถไฟฟ้ากำลัง จำนวน 9 คัน
2. รถนอนปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 79 คัน
3. รถนอนปรับอากาศชั้น 2 สำหรับผู้พิการ จำนวน 9 คัน
4. รถนอนปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 9 คัน
5. รถเสบียงปรับอากาศ จำนวน 9 คัน
แคร่รถโดยสาร(โบกี้) รองรับความเร็วได้ 120 กม./ชม.
โดยจะนำมาให้บริการเป็นขบวนรถด่วนพิเศษ 4 เส้นทาง (8 ขบวน) คือ
- กรุงเทพ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ
- กรุงเทพ – อุบลราชธานี – กรุงเทพ
- กรุงเทพ – หนองคาย – กรุงเทพ
- กรุงเทพ – ชุมทางหาดใหญ่ – กรุงเทพ
ในการให้บริการต่อ 1 ขบวน จะเป็นชุดๆ ประกอบด้วย
- รถไฟฟ้ากำลัง 1 คัน
- รถนอนปรับอากาศชั้น 2 จำนวน 9 คัน
- รถนอนปรับอากาศชั้น 2 สำหรับผู้พิการ จำนวน 1 คัน
- รถนอนปรับอากาศชั้น 1 จำนวน 1 คัน
- รถเสบียงปรับอากาศ จำนวน 1 คัน
รถโดยสารทั้ง 115 คันนั้น จะมี คุณสมบัติพิเศษที่กำหนดไว้ใน Spec รถกับทางผู้ผลิต (สั่ง Spec ผลิต ไม่ใช่รถสำเร็จรูป) คือ
- มีกล้อง CCTV แบบ Built-In
- สุขาระบบปิด
- มีประตูทางเดินเชื่อมระหว่างรถทุกคัน ยกเว้นรถไฟฟ้ากำลัง และรถนอนชั้น 1 จะมีประตูเชื่อมตู้แค่ฝั่งเดียว
- มีระบบ Passenger Information System
- มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ัพิการตามมาตรฐานสากล
- ใช้ระบบ Power Car จ่ายไฟและระบบปรับอากาศทั้งขบวน ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น (เดิมในรถทุกคันของ รฟท. จะมีเครื่องปั่นไฟสำหรับจ่ายไฟ และระบบปรับอากาศในตัว)
- บันไดขึ้นรถที่สามารถพับได้ และใช้ได้ 2 ระบบชานชาลา คือ ชานชาลาต่ำ (ตามสถานีเดิม) และชานชาลาเสมอพื้นรถ (ตามโครงการรถไฟสายสีแดง และ รถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ณ ขณะนี้ เพราะหลังจากนี้จะทยอยทำชานชาลาเสมอพื้นรถแล้วในโครงการใหม่ๆ)
- ไฟ Warm white ที่ทำให้บรรยากาศของรถอบอุ่น ดูสบายตา
- ทางเดินเชื่อมตู้ที่กว้างขวาง ปลอดภัย มาตรฐานเดียวกับรถไฟฟ้า BTS
- จอแสดงสถานะ
- จอสัมผัสส่วนตัวแต่ละเตียง (เฉพาะชั้น 1)
- ห้องอาบน้ำ.เป็นต้น
นอกจากนี้รถไฟนี้ยังรองรับสำหรับผู้พิการ, รถนอนสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำที่รองรับการใช้ของผู้พิการ, อักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้นทั้งนี้ ตามแผนงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการจัดหารถจักรดีเซลน้ำหนักกดเพลา 16 ตัน ทดแทนรถจักร GE อีก 50 คัน, รถโดยสารปรับอากาศ (รถนั่ง) อีก 250 คัน ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษา และเสนอคณะรัฐมนตรี