ปตท.สผ. แนะเที่ยวปีใหม่ สไตล์รักษ์โลก

ปตท.สผ. แนะเที่ยวปีใหม่ สไตล์รักษ์โลก

 

 

 

ปตท.สผ. แนะเที่ยวปีใหม่ สไตล์รักษ์โลก 

 

 

 

            เทศกาลปีใหม่ที่กำลังมาถึง หลายคนคงกำลังวางแผนเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดฮิต ยิ่งอากาศช่วงนี้กำลังเย็นสบาย นักท่องเที่ยวยิ่งหลั่งไหลเข้าไปสัมผัสอากาศหนาว ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แถมยังมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ออกมาต้อนรับอย่างอบอุ่น แต่นักท่องเที่ยวบางคนยังไม่รู้วิธีในการท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติที่ถูกต้อง และอาจเป็นการทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะ “สัตว์ป่า” โดยไม่รู้ตัว หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมกลางป่าอย่างที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง   

 

              เหตุนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงทุกคนในสังคม เพื่อให้เกิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างถูกวิธี ด้วยการให้ข้อมูลทางวิชาการ และเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นพลังสำคัญของชาติได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้ในพื้นที่จริง เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกันว่าทุกคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพยากรธรรมชาติ อย่างโครงการ PTTEP Teenergy โดยความร่วมมือของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้จัดกิจกรรมค่ายสัมผัสเรียนรู้ธรรมชาติและ      สัตว์ป่าจากนักอนุรักษ์แนวหน้าของเมืองไทย เพื่อส่งเสริมเยาวชนให้เกิดความรักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้คนในสังคม รวมถึงนักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง

 

            นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หนึ่งในวิทยากรค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 3 กล่าวว่า ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น แต่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าจากนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงออกมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกพื้นที่อนุรักษ์ เรียกว่ากฎ “4ม+1” ได้แก่ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า ไม่ขับรถเร็ว ไม่ส่งเสียงดัง และไม่นำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาปล่อย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวดีพอสมควร และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว รวมถึง ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกหวงแหนเจ้าหน้าที่อุทยานที่เกี่ยวข้องยังมีหน้าที่เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจนี้ให้กับคนในวงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งพวกเขาจะเข้ามาเสริมกำลังของเจ้าหน้าที่ด้วยการเป็นกระบอกเสียงสำคัญและเป็นตัวอย่างให้สังคมรับรู้ถึงการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ที่ถูกวิธี

 

            ในช่วงปีใหม่นี้จึงขอฝากถึงนักท่องเที่ยวที่มีแผนจะไปเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่อนุรักษ์ หากอยากให้ทริปของคุณเป็นการท่องเที่ยวที่เต็มอิ่มให้แวะเข้าไปที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อเข้าไปรับข้อมูลรายละเอียด เอกสาร หรือรับทราบข้อปฏิบัติของพื้นที่นั้นๆ ไม่ใช่เพียงแค่ไปเพื่อให้ถึงจุดที่อยากไปและแค่ถ่ายรูป แต่ไปเพื่อให้รู้จริงรู้ลึกถึงความพิเศษของพื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมองข้ามในจุดนี้ จึงทำให้พลาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลดีๆ ไป ซึ่งน่าเสียดายมาก ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้ข้อกำหนดกฏเกณฑ์ ทำให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือ ทำให้สิ่งที่คิดว่าดีแต่แท้จริงแล้วมันไม่ถูกต้อง เช่น การให้อาหารสัตว์ป่าเพราะคิดว่าเป็นการทำบุญ เนื่องจากเห็นสัตว์ป่าออกมาขออาหารกิน ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วยจากการกินอาหารของคน เพราะอาหารบางอย่างคนกินได้แต่สัตว์กินไม่ได้ หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนไป ติดใจในรสชาติอาหารที่คนให้จนไม่สามารถหาอาหารเองได้ สุดท้ายก็ต้องออกมาขวางถนนเพื่อขออาหารจากมนุษย์ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวขับรถเร็วก็อาจเกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่าได้

 

หรือกรณีสัตว์ป่าไปคุ้ยเขี่ยกินขยะ ถุงพลาสติกที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้เพราะคิดว่าเป็นอาหาร ทำให้ขยะอุดตันในลำไส้ เป็นเหตุให้สัตว์ป่าล้มตายได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากความไม่รู้ของมนุษย์ทั้งสิ้น จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ให้รับรู้ในวงกว้าง หากนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฏ 4 ม + 1 ได้ ผลกระทบก็จะไม่เกิดขึ้น ถือเป็นการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์อย่างแท้จริง  

 

            ทั้งนี้ น้องๆ ในค่าย PTTEP Teenergy ปีที่ 3 นอกจากจะได้เรียนรู้ในเรื่องการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแล้ว ยังได้เรียนรู้วิธีการทำดินโป่ง ซึ่งเป็นวิธีการช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกต้อง ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความว่า “ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารให้เพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างแหล่งอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย” เห็นได้ว่าพระองค์ท่านให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ในการสร้างห้องครัว สร้างแหล่งอาหาร สร้างบ้านของสัตว์ป่าให้น่าอยู่ตามที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ

 

            อดุลย์ จุราเพชร หรือ น้องโตโต้ นักเรียนชั้น ม. 5 จากโรงเรียนเชียงของวิทยาคม จ.เชียงราย บอกเล่าถึงความประทับใจว่า หลังจากที่เขาร่วมกิจกรรมในค่าย PTTEP Teenergy ครั้งที่ 3 นี้ทำให้รู้สึกว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่สวยงามมาก ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างที่คนเมืองไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน และได้เรียนรู้ถึงดินโป่ง ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราสามารถทำอาหารให้สัตว์ป่ากินได้ ซึ่งนั่นเป็นผลดี มากกว่าการโยนเศษอาหารให้สัตว์เยอะเลยครับ และหลังจากนี้ผมจะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผมอยากให้พี่ๆ ที่มาท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่เขาใหญ่หรือพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม แค่ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดก็สามารถช่วยต่อลมหายใจให้ป่าได้เยอะแล้วครับ

 

            ธิรดา นิลพนาพรรณ หรือ น้องกีกี้ นักเรียนชั้น ม. 5 จากโรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์                           กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากเมื่อก่อนคิดว่าการให้อาหารสัตว์คือการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่หลังจากที่ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าการให้อาหารสัตว์ป่าแท้จริงแล้วเป็นบาป จึงอยากฝากถึงนักท่องเที่ยวทุกคนให้ตระหนักในเรื่องนี้มากๆ ค่ะ เราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กด้วยความไม่รู้ แต่นั่นอาจจะหมายถึงหายนะที่เกิดขึ้น หากเราทุกคนยังทำร้ายธรรมชาติไปเรื่อยๆ หากสัตว์ป่าน้อยลงธรรมชาติก็จะไม่อยู่ในภาวะสมดุล อาจจะเกิดปัญหาอื่น หรือเกิดภัยพิบัติตามมา สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็จะเดือดร้อนจากการลงโทษของธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเรารู้แล้วก็จะนำไปบอกต่อให้สังคมรับรู้เพื่อป้องกันไว้ก่อนสายเกินแก้ค่ะ

 

            สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังเตรียมตัวไปในสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือเป็นสถานที่ทางธรรมชาติอื่นๆ อย่าลืมนำ 4 ม.+1 มาใช้ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในทุกครั้งกันด้วย เพื่อให้สัตว์ป่าอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน