สถาบันพระปกเกล้า จับมือ กกต. จัด “DMOC Day” สะท้อนเสียงคนรุ่นใหม่ เสริมแกร่งประชาธิปไตย 4.0
สถาบันพระปกเกล้า จับมือ กกต. จัด “DMOC Day” สะท้อนเสียงคนรุ่นใหม่
เสริมแกร่งประชาธิปไตย 4.0
กรุงเทพฯ - ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำกรุงเทพมหานคร จัดงาน DMOC Day วันส่งเสริมประชาธิปไตย โดยมีการประกวดโครงงานประชาธิปไตย DMOC Day Contest โดยนักศึกษาจาก 6 มหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมด้วยการเสวนาหัวข้อ “วัยแรกโหวต-กาบัตรหวังสิ่งใด” สะท้อนเสียงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประชาธิปไตยยุค 4.0
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ประธานการจัดงาน กล่าวว่า “DMOC Day หรือ วันส่งเสริมประชาธิปไตย เป็นกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และส่งเสริมประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยและชุมชนข้างเคียง จัดโดยนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 8 ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับบริบทการเมืองการปกครองของประเทศไทย ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562 ด้วยแนวคิดหลักสำคัญ คือ “ผู้นำยุคใหม่กับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน” ผ่านกระบวนการคิดของคนรุ่นใหม่ถึง 2 Generations ได้แก่ นักศึกษา ปนป. ที่มีศักยภาพ และได้เติบโตเป็นผู้นำยุคใหม่ที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และความมุ่งมั่น โดยทั้งสองกลุ่มเป้าหมายนี้นับเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อจะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป”
กิจกรรม DMOC Day มีการนำเสนอผลงานสู่สาธารณะของนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า ภายใต้หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 8 (ปนป.8) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ จากนักศึกษาทั้งหมด 9 กลุ่ม ดังนี้
หัวข้อ Election for all โดย กลุ่มไก่ฟ้า กลุ่มวัว และกลุ่มเสือ ซึ่งดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้พิการ ได้แก่กลุ่มออทิสติก ผู้พิการทางการมองเห็นและการได้ยิน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวไปเลือกตั้ง ซึ่งมุ่งการรักษาสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาดังกล่าวให้มีโอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้ง
หัวข้อ First Time Voter empowerment : พลังวัยแรกโหวต โดย กลุ่มสิงโต ซึ่งดำเนินกิจกรรม “Voter Run 2019 : วิ่งไปโหวด” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 ณ กระทรวงสาธารณสุข และ กลุ่มกวาง ซึ่งจัดกิจกรรมร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดโครงการประกวดคลิปวิดีโอ “Virgin Voters : ใช้สิทธิประชาธิปไตยในมือคุณ” มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่น ใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพมีความรู้ และ ทักษะในการตรวจสอบผู้แทนที่มีคุณภาพ เข้าใจนโยบาย ใช้สิทธิ์เลือกตั้งและติดตามผลงานได้ เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง
และหัวข้อ ประชาธิปไตยต่างมุม โดย กลุ่มเหยี่ยว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังความเป็นพลเมืองแก่เยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งกำลังจะก้าวไปเป็น First Voters ตามด้วย กลุ่มนกยูง มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างบุคคลผ่านเวทีเสวนาในชุมชน กลุ่มช้าง เสนอแนวคิดการต่อต้านข่าวปลอมที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพื่อส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตย กลุ่มนกหัวขวาน ได้จัดทำ Facebook page “ตลาดประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย และการนำเสนอผลงานโครงงานของ กลุ่มนกเค้าแมว ซึ่งมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือ เป็นการรวมพลังของหลายหน่วยงานเพื่อประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนพร้อมได้สนับสนุนการคัดเลือกและให้คำแนะนำนักศึกษาในการทำโครงงานเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้
ขณะที่กิจกรรม DMOC Day Contest มีการประกวดโครงงานประชาธิปไตย โดยนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จาก 6 มหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นางสาววิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร นายมงคล บางประภา อุปนายกฝ่ายบริหารและเลขาธิการสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายพลีธรรม ตริยะเกษม ที่ปรึกษามูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และ จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรชื่อดังจากรายการ "เจาะข่าวตื้น"
ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ชนะเลิศการประกวดโครงงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หัวข้อ “การส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนเพื่อสังคมไทย” จัดการแสดง “หนุมานสำแดงแผลงฤทธิ์ เนรมิตเลือกตั้งแดนสยาม” เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเสวนาวิชาการ รู้ทันการเลือกตั้ง 2562 รวมทั้งการเดินรณรงค์การเลือกตั้ง โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงกิจกรรม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จากหัวข้อ “วัยรุ่นไทย 4.0 เข้าใจ เข้าถึง ประชาธิปไตยไทย” เสนอการจัดทำกิจกรรมกระตุ้นความคิดกับประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ 18 - 25 ปี (First Voter) เพื่อรณรงค์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และการเลือกตั้งในระดับ ท้องถิ่น โดยการเดินรณรงค์และจัดนิทรรศการให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และประชาชนในชุมชนข้างเคียงรู้จักกับประชาธิปไตยไทยโดยใช้สื่อความรู้ผ่านกิจกรรม
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากหัวข้อ “Countdown For Voting” กิจกรรมรณรงค์การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ด้วยการนับถอยหลังโดยใช้วันเลือกตั้ง ซึ่งตรงกับวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นจุดหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวแรกที่ประชาชนจะมีสิทธิ เสรีภาพ และมีส่วนร่วมในการตัดสินอนาคตและขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยอันสร้างสรรค์และยั่งยืน พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยศรีปทุม หัวข้อ “ประชาธิปไตยในยุคดิจิทัล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา หัวข้อ “Democracy 5.0” และ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หัวข้อ “ร่วมมือ ร่วมใจ คนรุ่นใหม่ ก้าวสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน” ได้รับรางวัลชมเชยตามลำดับ
อีกทั้งยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ความหวังวัยแรกโหวต” มีเนื้อหาสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ในวัยแรกโหวต ที่มีต่อประชาธิปไตย ยุค 4.0 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนนักศึกษาจาก ทั้ง 6 มหาวิทยาลัย โดยเริ่มที่ นายวรวิชญ์ วงศ์วศวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวถึงประเด็นอนาคตประเทศไทยโดยผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องการสังคมในอุดมคติที่ไร้การคอรัปชั่น พร้อมมีผู้นำที่นำประเทศไปสู่ความก้าวหน้า ยินดีรับฟังเสียงส่วนมากและสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งบนพื้นฐานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ด้าน นายภูมิพัฒน์ วิทยารัฐ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า การที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ต้องเริ่มจากการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไร้กรอบของคนรุ่นเก่า รักษาสิทธิ และออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อสร้างโอกาสการกำหนดอนาคตของตนเองและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่วิธีคิด วิธีทำแบบใหม่ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างแท้จริง
นายศุภวิชญ์ โกศลจันทรยนต์ จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากอดีตที่ผ่านมาล้วนมาจากการที่แต่ละฝ่ายขาดหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งได้ โดยการสื่อสารต่อกันด้วยหลักการและเหตุผลในการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่คนรุ่นเก่าต้องหยุดที่จะปลูกฝังความขัดแย้งแก่คนรุ่นใหม่
นายณฐนภ ศรัทธาธรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสิ่งที่ต้องคาดหวังจากคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง คือความสามารถจัดการความขัดแย้งและความหลากหลายด้วยพื้นฐานประชาธิปไตย เพราะคนกลุ่มนี้เกิดมาในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร และอยู่กับสังคมที่มีความหลากหลาย หากแต่ความหลากหลายนั้นไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นเรื่องปกติและกลับส่งผลดีต่อประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยนี้เองที่จะสามารถเป็นเครื่องจัดการความขัดแย้ง และคนรุ่นใหม่ควรส่งเสริมพัฒนาชาติไปพร้อม ๆ กับคตินิยมว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”
นายวสันต์ จิตรเสงี่ยม จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีความเห็นต่อประเด็นคำถาม “คนรุ่นใหม่จะเลือกคนหรือเลือกพรรค” ว่า สังคมพื้นฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งครอบครัวและชุมชนยังมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของ “วัยแรกโหวต” เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ต้องมีความกล้าที่จะก้าวออกจากกรอบที่ถูกครอบจำกัดความคิดไว้และต้องมีวิจารณญาณในการคัดกรองข่าวสารที่เชื่อถือได้
นายอรรถพล ชมพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยควรลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น โดยนโยบายระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน
ด้าน นายดัมพ์ สุริโย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเครือข่ายการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า “กิจกรรม DMOC Day ที่จัดขึ้นล้วนแต่เป็นสื่อสัญลักษณ์ในการกระตุ้นให้สาธารณชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และส่งเสริมประชาธิปไตยในบริบททางการเมืองที่คนไทยทั้งประเทศต้องมีความกระตือรือร้นในกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งก็คือการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2562 คนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ผ่านการเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพซึ่งต้องรู้ รับผิดชอบในสิทธิและหน้าที่ของตนตามระบอบประชาธิปไตย”
สำหรับการจัดกิจกรรม DMOC Day ในครั้งนี้ นับเป็นภารกิจสำคัญซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของสถาบันพระปกเกล้า ในด้านการพัฒนาและสร้างความเป็นพลเมือง ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สนับสนุนความรู้ความเข้าใจและการใช้สิทธิหน้าที่ของพลเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ภายใต้วิสัยทัศน์องค์กร "สถาบันวิชาการชั้นนำด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสันติวิธี เพื่อประโยชน์ส่วนรวม"