นานมีบุ๊คส์ครบรอบ 25 ปี ตอกย้ำพันธกิจ
นานมีบุ๊คส์ครบรอบ 25 ปี ตอกย้ำพันธกิจ
ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้าง Active Citizen
มุ่งพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม
นานมีบุ๊คส์ ครบรอบ 25 ปี ตอกย้ำพันธกิจ “25 ปีนานมีบุ๊คส์ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้าง Active Citizen” ได้จัดงานแถลงข่าวพร้อมเปิดเวทีเสวนาพิเศษ “ทำไมประเทศไทยต้องมี Active Citizen คนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม?” นำเสนอแนวคิดและวิธีการสร้างพลเมืองคุณภาพจากประเทศอิสราเอล กระบวนการสร้างคนที่มีศักยภาพจากประเทศเยอรมนี ตลอดจนไอเดียจุดประกายที่น่าสนใจของผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็ก เพื่อเป็นแนวทางในการสร้าง Active Citizen ให้กับคนไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันของโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น พร้อมวางยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนและครอบครัวเพื่อผลักดันให้สำเร็จตามเป้าหมาย
คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า “ปีนี้นานมีบุ๊คส์ครบรอบ 25 ปี เราต้องการส่งเสริมเรื่องการสร้าง Active Citizen เพราะเราทราบดีว่าโลกปัจจุบันซับซ้อนมากขึ้นทุกที วิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป พวกเราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการมีชีวิตทีมีความหมาย เพื่อเป็นคนเก่ง คนดีต่อสังคม ไม่เพียงรับผิดชอบตัวเองได้อย่างเดียว แต่มีหน้าที่ทำให้สังคมของเราดีขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องมีทักษะที่สำคัญ 7 คุณสมบัติ คือ 1.เป็นพลเมืองที่ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ 2.รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดเป็นทำเป็น แก้ปัญหาได้ 3.สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4.มีภาวะผู้นำ มีอุดมการณ์ 5.รักธรรมชาติรักแผ่นดิน 6.มีทักษะวิชาชีพ และ 7. มีความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดคิดนอกกรอบ ซึ่งเรามองว่า หากประเทศของเรามี Active Citizen จะสามารถทำให้สังคมมีความหมายและน่าอยู่มากขึ้น”
มร. ยูวาล วัคส์ รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ฝ่ายการเมืองและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย แบ่งปันแนวคิดการสร้างพลเมืองของประเทศอิลราเอลให้มีคุณภาพว่า “มีองค์ประกอบ 4 ด้าน เริ่มจากการให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับแรก โดยรัฐบาลทุ่มเงินกว่า 15% จากรายได้ทั้งหมดของประเทศให้กับภาคการศึกษา ทุกหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับสูงของรัฐยังให้ความร่วมมือและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็มุ่งให้เด็กเรียนอย่างสนุกและค้นหาความถนัดด้วยตนเอง สามารถเลือกเรียนในวิชาที่ตนเองชอบนอกเหนือจากวิชาพื้นฐานหลัก ต่อมาคือการส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนรู้จักและซึมซับทักษะการแสดงความคิดเห็นและการเข้าสังคม โดยมีโรงเรียนประชาธิปไตย เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนกล้าตัดสินใจและรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญคือเยาวชนชาวอิสราเอลทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 18 ปีต้องเป็นทหาร เพราะกระบวนการสำคัญนี้ช่วยบ่มเพาะให้เยาวชนมีความเป็นผู้ใหญ่และสามารถตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้ด้วยตนเอง และท้ายที่สุดคือการให้ความสำคัญกับบทบาทครอบครัว”
ในขณะที่ มาเร็น นีไมเออร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เปิดเผยคีย์เวิร์ดสำคัญในการปั้น Active citizen คือ “การมีส่วนร่วมในสังคมหรือการเป็นอาสาสมัคร ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีมุ่งส่งเสริมแนวคิดจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นจากภายในจิตใจของพลเมืองอย่างแท้จริง ตลอดจนมองว่าการเป็นอาสาสมัครคือหนทางที่จะสร้างเป้าหมายให้กับตนเองได้ โดยกระบวนการสร้างทัศนคติเหล่านี้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นตัวอย่าง รวมทั้งโรงเรียนเองยังมีบทบาทและช่วยผลักดัน ด้วยการนำพานักเรียนไปลงพื้นที่เป็นอาสาสมัครเต็มตัว อีกทั้งยังตระหนักถึงกลวิธีสร้างความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นด้วยวิธีการต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เด็กทุกคนรู้จักบทบาทของตัวเอง มีความเคารพและพึ่งพากัน และฝึกฝนการทำงานเป็นทีม (Teamwork) ในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้ เยอรมนียังมีรางวัล Germany School Prize มอบให้กับโรงเรียนที่มีค่านิยมความรับผิดชอบ สนับสนุนการเรียนรู้รอบด้าน และครอบครัวเด็กนักเรียนต้องมีส่วนร่วมกับโรงเรียน ก่อนจะปิดท้ายว่า ห้องสมุดและหนังสือ คือส่วนสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนให้ทุกคนเป็นพลเมืองคุณภาพ”
ด้านการนำมาปรับใช้จริงในเมืองไทยนั้น ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง เจ้าของโรงเรียนจิตตเมตต์ ให้ความคิดเห็นว่า “ควรส่งเสริมบทบาทของพ่อแม่ไทย โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายกับลูดให้ถูกต้องและชัดเจน ไม่วอกแวกไปกับเป้าหมายระยะสั้นหรือสิ่งจูงใจอื่นๆ ที่จะทำให้กระบวนการที่จะสร้างเด็กให้เติบโตไขว้เขว พ่อแม่จึงจำเป็นต้องทำตัวเองเป็น “ไอดอล” เนื่องจาก “เด็กจะเป็นอย่างที่พ่อแม่เป็น ไม่ใช่เป็นอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น” และควรมีบทบาทเป็นนักจัดการเวลาเติบโตของเด็ก สรรหาโอกาส กิจกรรมหรือเครื่องมือที่จะทำให้เด็กเข้าไปมีบทบาทในการเรียนรู้อย่างสนุก คิดอย่างสร้างสรรค์ และลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย สุดท้ายคือปรับทัศนคติของพ่อแม่ ให้เชื่อมั่นในศักยภาพมนุษย์ ทั้งพลังความคิดและจิตใจว่าลูกหลานของเรา มีคุณค่า มีศักยภาพ สามารถอยู่รอดพร้อมกับการเป็นพลเมืองที่ช่วยสังคมได้ในคนเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม ก็ไม่ควรละเลยบทบาทของโรงเรียน โรงเรียนควรส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย ฝึกให้เด็กเห็นความแตกต่างเป็นกำไร มองให้ออกว่าทุกความต่างเกิดการเรียนรู้ และความคิดใหม่เสมอ และครูต้องเป็นผู้นำประชาธิปไตย โดยไม่ดูถูกดูแคลนความคิดเห็นของเด็ก พร้อมกับพยายามฝึกให้เด็กทั้งห้องเป็นครูของกันและกัน โดยสร้างสรรค์กิจกรรมที่ทำให้เกิดการแบ่งหน้าที่ ช่วยเหลือ และแก้ปัญหาร่วมกัน”
เมื่อแนวคิดชัดแจ้ง และมีแนวทางที่ชัดเจน นานมีบุ๊คส์จึงเดินหน้าขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพของคนไทยให้สอดรับกับการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งสร้างเยาวไทยสู่การเป็น Active Citizen โดยจัดเตรียมกิจกรรมต่างๆตลอดทั้งปี เน้นสร้างเครือข่ายร่วมกับกลุ่มโรงเรียนและครอบครัว พร้อมจัดแคมเปญพิเศษอีกมากมาย
สำหรับเครือข่ายครอบครัวนั้นจะมุ่งเน้น ห้องเรียนพ่อแม่ แลกเปลี่ยนแนวทางเลี้ยงลูกในประเด็นต่างๆ และกิจกรรม Family Fun Sundays เชิญวิทยากรชั้นนำมากิจกรรมสำหรับครอบครัว รวมทั้งการจัดค่ายต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ลงมือจริง ต่อด้วยบริการ My Home Library ที่แนะแนวทางการทำห้องสมุดที่บ้าน และมี Nanmeebooks Corner เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงหนังสือนอกเหนือจากร้านหนังสือ นำเสนอโรงเรียนสอนพิเศษแนวใหม่ Gakken Classroom
ส่วนในกรณีเครือข่ายโรงเรียนนั้น เรามี International Learning Trip ที่จะพาผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนไปเปิดโลกทัศน์ว่าประเทศอื่นมีการจัดการการเรียนรู้เพื่อสร้างคนอย่างไร พร้อมกิจกรรมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียน เน้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ มีเครือข่ายนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ พัฒนาครูในด้านต่างๆ ผ่านเครื่องมือและนวัตกรรมการเรียนรู้มากมาย อาทิ การพัฒนาทักษะความคิด STEM Education หรือการเรียนภาษาจีนอย่างมีความหมาย พร้อมยืนหยัดที่จะสร้างสังคมแห่งการอ่านในโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับอย่างต่อเนื่อง เน้นการบอกต่อในโลกโซเชียลมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะสอดแทรกกิจกรรมส่งเสริมการก้าวสู่ปีที่ 25 ของเราให้โดดเด่น อาทิ ชวนนักอ่านร่วมโหวต 25 หนังสือนานมีบุ๊คส์ในดวงใจ และ 25 ไอดอลส่งเสริมการอ่าน ดึงคนดังสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นว่า หนังสือและการอ่านสร้างตัวตนและความสำเร็จให้กับทุกคนได้
และหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถการันตีได้ว่าไอดอลและสังคมการอ่านนั้นสำคัญเพียงใด คือ น้องแตงโม-สยาภา และน้องโอเลี้ยง- สยามพล สิงห์ชู สองพี่น้องจากเวที The voice kid ซีซั่น 4 ตัวอย่างเยาวชนที่รักการอ่าน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “การได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของการอ่าน ได้เห็นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นนักอ่าน หรือแนะนำหนังสือต่อกัน สามารถชักชวนให้คนข้างกายเข้าสู่วงการวรรณกรรมได้ไม่ยาก และผลพวงจากการอ่านยังพัฒนาให้เกิดความมั่นใจในด้านอื่นๆ พร้อมผลักดันให้กล้าแสดงออกทางความคิดมากขึ้นอีกด้วย”
สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของนานมีบุ๊คส์ ติดต่อที่ 0-2662-3000 กด 1 หรือ ต่อ 4425, 5226 line : @Nanmeebooks (Official) @nmbparent (กลุ่มพ่อแม่) @nmbteacher (กลุ่มครู) www.nanmeebooks.com และwww.facebook.com/nanmeebooksfan
###