การเรียนรู้เชิงประจักษ์ กับวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพการศึกษายุคใหม่
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในยุคใหม่ ควรเน้นให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำได้ด้วยวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากมาย เพียงแค่ปรับรูปแบบให้เหมาะสม และได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากบุคคลากรในโรงเรียนเท่านั้น วิธีการเรียนรู้มากมายที่ได้ถูกพิสูจน์เชิงประจักษ์แล้วว่า มีประสิทธิภาพสูงและไม่มีประสิทธิภาพ คือ 1)ใช้การฝึกนึกความรู้เดิมและหลีกเลี่ยงการอ่านซ้ำ 2)ใช้การเรียนรู้แบบเว้นช่วงและหลีกเลี่ยงการเรียนแบบอัด และ 3)ใช้การเรียนรู้แบบสลับและหลีกเลี่ยงการเรียนแบบเป็นก้อน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทางรายการ 1 ในพระราชดำริ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HD และมูลนิธิอานันทมหิดล เห็นว่ามีความน่าสนใจ และเป็นตัวเลือกที่จะนำมาปรับใช้ในสถานศึกษา
ผศ.นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีความสนใจด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ จนได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศอเมริกา กล่าวว่า “ผมคิดว่าการศึกษาไทยในปัจจุบันยังไม่มีการนำเรื่องการเรียนรู้เชิงประจักษ์มาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวฯ เป็นการเรียนรู้ที่จะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน มีการวิจัยว่ารูปแบบการศึกษาแบบไหนที่จะทำให้ได้ผล ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าจะช่วยพัฒนาผู้เรียน เพิ่มสมรรถนะและประสิทธิผล เมื่อเรียนจบไปจะได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีดังกล่าวได้แก่ 1)การเรียนรู้แบบฝึกนึก คือไม่ใช่อ่านเนื้อหาที่เคยเรียนไปแล้วซ้ำ แต่ให้ฝึกนึกความรู้ที่เคยเรียนไปแล้วออกมา เพราะเป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องทำจริงในการแก้ปัญหา 2)การเรียนรู้แบบเว้นช่วง คือไม่ใช่การอัดเนื้อหามากๆ ในเวลาสั้นๆ แต่เป็นการศึกษาเรื่องเดิมซ้ำหลังจากเวลาผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาได้มากและนานขึ้น 3)การเรียนรู้แบบสลับ คือการเรียนรู้เนื้อหาหรือโจทย์ปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่เหมือนกัน ไปพร้อมๆ กัน เพราะสามารถฝึกผู้เรียนให้ระบุความเหมือนและความแตกต่างระหว่างเนื้อหาได้ ช่วยให้ผู้เรียนแยกแยะประเด็นและทำความเข้าใจได้มากขึ้น
ต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นหน่วยงานทางราชการ การเคลื่อนที่จะไม่เร็วเท่ากับภาคเอกชน แต่ข้อดีคือเมื่อเป็นกฎเกณฑ์ขององค์กรแล้วก็ต้องมีการปฎิบัติอย่างถ้วนหน้า ในเรื่องการเรียนรู้เชิงประจักษ์ก็เช่นกัน เมื่อมีการทดสอบเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ จะพบว่าในประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลประเมินที่ดีนั้น ใช้วิธีเหล่านี้ในหลักสูตรการเรียน ดังนั้นหากเรามีนโยบายผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ให้ผู้สอนได้รู้จักวิธีการเหล่านี้เพื่อนำไปใช้ ก็จะเป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี”
ด้าน ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 กล่าวว่า “จากประสบการณ์ของตัวเอง ในสมัยเรียนหนังสือจะใช้ Flash cards สำหรับท่องศัพท์ต่างๆ โดยด้านหน้าจะเขียนคำศัพท์ ส่วนด้านหลังจะเขียนความหมายพร้อมประโยคที่ใช้ ซึ่งจะสามารถพกติดตัวไปได้ตลอดเวลา ทำให้เราสามารถสลับนึกคำศัพท์ เห็นคำไทยต้องนึกคำอังกฤษ เห็นคำอังกฤษต้องนึกคำไทย เป็นตัวอย่างของการฝึกนึก เกิดการเรียนรู้กับตัวเองเหมือนเล่นเกม มีความสนุกสนาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวทางผู้ปกครองสามารถตัดกระดาษ และเขียนคำศัพท์ขึ้นมาทำได้เองที่บ้าน ซึ่งเป็นเทคนิคง่ายๆ เป็นแนวทางว่าทำอย่างไรให้เด็กเก่ง สิ่งสำคัญก็คือการปรับประยุกต์เทคนิคให้เข้ากับบุคลิกของผู้เรียน เพราะผู้เรียนแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนเรียนรู้จากสี, คำ หรือสูตรเลข จินตคณิต เป็นเทคนิคเรียนรู้ในสมองที่ไม่เหมือนกัน การเรียนรู้แบบไหนที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้ผู้เรียนที่เก่ง โดยมีวินัยในการฝึกฝนเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้”
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการเรียนรู้เชิงประจักษ์เพิ่มเติม สามารถไปชมคลิปการสัมภาษณ์ได้จากรายการ 1 ในพระราชดำริ ตอนความฝันอันสูงสุด เรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ ซึ่งทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 Mcot HDและมูลนิธิอานันทมหิดล จัดทำขึ้นที่ https://www.youtube.com/watch?v=-XUfZYnQps8&t=738s ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป