ESRI Thailand โชว์ฟีเจอร์ GIS ร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เปิดตัวแอปฯ
ESRI Thailand โชว์ฟีเจอร์ GIS ร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เปิดตัวแอปฯ แสดงอัตราระบายของลมทั่วไทยล่วงหน้าได้ 7 วัน
บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม Location Intelligence จับมือร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ (Breathe Bangkok) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” นวัตกรรมเทคโนโลยี GIS รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วประเทศ
นับเป็นครั้งแรกในไทยที่นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้วิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลฝุ่น PM2.5 โดยตรง พร้อมติดตามสถานะการระบายฝุ่น และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น จุดความร้อน (Hotspot) และดัชนีระบายอากาศแบบเรียลไทม์ รวมถึงคาดการณ์การระบายอากาศและจุดเผาไหม้ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน โดยนำเสนอในรูปแบบแผนที่ดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ www.taefoon.com ซึ่งช่วยให้ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ช่วยยกระดับการติดตามและจัดการปัญหาฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตอบโจทย์การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “Esri มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี GIS เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง โดยโซลูชันนี้ช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อาทิ การเกษตรและการผลิต สามารถวิเคราะห์และจัดการการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสะสมในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่น เช่น การท่องเที่ยว ยังสามารถใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนลดความเสี่ยง และสร้างความพร้อมในการให้บริการอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันภาคประชาชน สามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์และเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่อาจเกิดต่อสุขภาพ
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ กล่าวเสริมว่า “สภาลมหายใจกรุงเทพฯ มุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักรู้และให้ข้อมูลแก่ประชาสังคมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด โดยเราเข้าใจดีว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ขึ้นอยู่กับการเผาไหม้และความสามารถของบรรยากาศในการระบายฝุ่น เป็นปัญหาที่ต้องการการจัดการที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม แอปพลิเคชัน ‘เตะฝุ่น’ ที่พัฒนาร่วมกับ Esri Thailand ช่วยให้เราสามารถติดตามอัตราการระบายอากาศในแต่ละพื้นที่และพยากรณ์ล่วงหน้าได้
ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยี GIS จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดผลกระทบจากมลพิษได้อย่างเหมาะสม เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนผ่านโครงการ ‘เคาท์ดาวน์ PM2.5’ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหามลพิษอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งมั่นจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน”
แอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” เป็นผลจากการบูรณาการข้อมูลสภาพอากาศและฝุ่น PM2.5 โดยใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ แสดงข้อมูล ความเข้มข้นของฝุ่น อัตราระบายอากาศ (Ventilation Rate) และจุดความร้อนในแผนที่ดิจิทัล (Map Visualization) แม่นยำเข้าใจง่าย ช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ วางแผนรับมือกับมลพิษทางอากาศได้มีประสิทธิภาพ โดยยกระดับการกำกับดูแลใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่
ด้านสิ่งแวดล้อม: ลดการกระจุกตัวของการเผาไหม้ในช่วงเวลาเดียวกัน ลดความเสี่ยงจากมลพิษที่สูงเกินมาตรฐาน
ด้านสังคม: ส่งเสริมการวางแผนการเผาไหม้อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อสุขภาพ และช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามปัญหาฝุ่นได้ดีขึ้น
ด้านการบริหารจัดการ: ข้อมูลที่เข้าถึงได้อย่างโปร่งใสส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้การจัดการคุณภาพอากาศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“โครงการนี้ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ยังเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ง่าย ช่วยให้เตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เราหวังว่าโครงการนี้จะสามารถขยายผลร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคที่ก้าวหน้า เพื่อสังคมที่มีอากาศสะอาดและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน” ดร. ธนพร กล่าวปิดท้าย
สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://www.esrith.com และ http://www.taefoon.com/