Drama Healing

Drama Healing

 

 

 

 

CHANGE  Inspiration 

เรื่อง :  วรัญ กำแหงหาญ  ภาพ : ชวกรณ์  สะอาดเอี่ยม

 

Drama Healing

สฤญรัตน์ โทมัส

บำบัดจิตใจด้วยการละคร

 

 

หลายคนอาจจะคุ้นหน้าเธอในบทบาท ‘คุณแม่น้องดาว’ จากละครซีรี่ย์วัยรุ่นยอดนิยมอย่าง ‘ฮอร์โมน’ ซึ่งกำลังจะเดินทางเข้าสู่ซีซั่นที่ 3 แต่นอกจากบทบาทนักแสดงในซีรี่ย์เรื่องดังกล่าวแล้วคุณ ‘สฤญรัตน์ โทมัส’ หรือ ‘คุณเจีย’  ยังเป็นบุคคลผู้เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ กับบทบาท ‘นักการละครบำบัด’ (Drama Therapist) คนแรกของประเทศไทย

คุณเจียเรียนจบมาทางด้านละครบำบัด (Drama Therapy) เป็นคนแรกของประเทศไทย ศาสตร์ชนิดนี้เรียน-สอนอะไรบ้าง

            เจียเรียนจบจาก Faculty of Art and Art Therapy ที่ University of Hertfordshire ประเทศอังกฤษ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีได้แล้วค่ะ เป็นการเรียนการสอนทางด้านจิตบำบัดโดยใช้กระบวนการทางการละครเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้คน คือจริงๆ แล้วมันก็เป็นศาสตร์ด้านจิตบำบัด (psycho therapy) ซึ่งแตกแขนงมาจากศิลปะบำบัด (art therapy) ซึ่งแทนที่จะนั่งคุยกันเพื่อแก้ปัญหา แต่เราใช้ศิลปะแขนงต่างๆ มาเป็นเครื่องมือในการบำบัด ละครบำบัดก็เป็นแขนงหนึ่งในนั้นค่ะ

ศิลปะการละครช่วยในการบำบัดจิตใจได้อย่างไร

            ในแง่ของการวินิฉัยมันช่วยให้เราเข้าถึงผู้รับการบำบัดได้ดีขึ้นค่ะ คนบางคนอาจจะไม่รู้สึกสะดวกใจกับการพูดคุยกันตรงๆ เทคนิกที่เราใช้มีความหลากหลายมากค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้ามารับการบำบัดจะต้องทำทุกอย่างนะคะ ขึ้นอยู่กับว่าเขาเหมาะ รู้สึกสะดวกใจ หรือปลอดภัยกับอะไร ยกตัวอย่าง เช่น การทำ story telling ให้บอกเล่าเรื่องราว การแสดงบทบาทสมมติ หรือหุ่นมือสำหรับเด็กๆ เป็นต้นค่ะ การใช้เทคนิคประเภทนี้สามารถช่วยสะท้อนมุมมอง หรือจำลองประสบการณ์บางอย่าง ช่วยในการวิเคราะห์ปัญหา หรือสะท้อนให้ผู้ได้รับการบำบัดเข้าใจถึงปัญหาของตัวเองได้ดีขึ้น นำไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้นค่ะ

ย้อนกลับไปเมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้น อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเรียนเกี่ยวกับศาสตร์ด้านนี้ ทั้งๆ ที่เป็นอะไรที่ใหม่มากๆ แม้แต่ในต่างประเทศเองก็ตาม

            ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมปลาย จนถึงมหาวิทยาลัย เจียเป็นเด็กที่ทำกิจกรรมเยอะค่ะ ส่วนใหญ่จะทำละคร ละครเร่ ซึ่งเราเห็นว่ามีประโยชน์ต่อคนอื่น เช่น เคยทำละครเร่ไปแสดงตามชุมชน หลังจากที่เรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีโอกาสได้ เป็นพิธีกรรายการด้านสุขภาพจิตทางช่อง Thai Sky Cable TV ชื่อคลินิกรักซึ่งพูดถึง เรื่องเพศสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ของคนในบ้าน บวกกับแรงขับดันของตัวเองที่มีในสมัยเด็กทำให้สนใจทางด้านจิตวิทยา ทั้งๆ ที่ไม่มีพื้นอะไรมาก่อนเลย แต่พอตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาโท เราก็ลองค้นหาดูว่ามีอะไรที่จะรวมทั้ง 2 อย่างของสิ่งที่เราสนใจหรือเปล่าก็เลยไปค้นจนเจอ ว่าเขามีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับละครบำบัดอยู่ด้วย ก็ตัดสินใจสมัครและได้รับคัดเลือกค่ะ

ทราบมาว่าการเรียนหลักสูตรนี้ ไม่ได้เรียนกันในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว

            ใช่ค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องเจอกับคนไข้ หรือคนที่เข้ามารับการบำบัด ซึ่งช่วงเวลาที่เรียนเราต้องไปฝึกงานที่ Adult Center for Learning Difficulty แต่ที่นู่นสำหรับคนที่เป็นกลุ่มเรียนรู้ยาก ไม่ได้หมายถึงออทิสติกอะไรอย่างเดียว แต่รวมถึงคนอีกหลายแบบมากที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ก็เลยมีโอกาสได้เรียนรู้สัมผัสคนค่อนข้างหลากหลาย เช่นคนที่มีสมาธิสั้น เป็นดาวน์ซินโดรม คนที่ต้องนั่งอยู่แต่บนรถเข็น รวมถึงคนที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ด้วย 

ในฐานะนักบำบัด เท่าที่ผ่านมามีเคสแบบไหนที่น่าประทับใจบ้าง

ถ้าเราไม่พูดถึงโรค เรามักจะเจอคนไข้อยู่  2 ประเภทคือ 1. มีปัญหาในเรื่องของอารมณ์ล้วน ๆ 2. มีปัญหาทางด้านอารมณ์บวกกับทักษะ ซึ่งในกลุ่มที่มีปัญหาด้านอารมณ์เพียงอย่างเดียวนั้นก็อาจจะเกิดจากสิ่งที่เขาเคยประสบในชีวิตมา เช่น เด็กที่โดนข่มขืน หรือคนที่เคยได้รับความเจ็บปวดในชีวิตมา หรือว่าไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ โรคซึมเศร้า อารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง anger management โดยส่วนตัวดิฉันชอบทำเรื่องอารมณ์ เพราะว่ามันท้าทายและมีอะไรให้เราทำเยอะแต่ในฐานะนักบำบัด ไม่ได้หมายความว่าสนุกในเรื่องราวที่เขาไม่มีความสุขนะคะ แต่มันทำให้เรารู้สึกดีเพราะเมื่อคนไข้อาการดีขึ้น มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เปลี่ยนไปจากวันที่เราเจอเขาวันแรก เราก็จะรู้สึกว่าเราช่วยเหลือเขาได้จริงๆ แล้วก็รู้สึกว่า ว้าว...พลังของละครบำบัดนี่มันช่างมหัศจรรย์จริงๆ

นักบำบัดที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร

อย่างแรกเลยต้องมีใจอยากช่วยเหลือคนอื่นก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ ต้องมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น โดยส่วนตัวดิฉันไม่เชื่อว่านักบำบัดที่มองแต่ตัวเอง คิดเรื่องค่าตอบแทน จะเป็นนักบำบัดได้

การเป็นคนมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเราต้องทำงานกับอารมณ์และความรู้สึกของผู้คน อย่างถ้าเจอคนไข้อารมณ์รุนแรงก้าวร้าวแล้วทำอย่างไรเราจึงจะไม่กลัวหรือโกรธเกรี้ยวไปกับเขา เวลาเจอคนที่มีความทุกข์เจ็บปวด ทำอย่างไรเราจึงจะไม่รับเอาความทุกข์ความเศร้าของเขามาอยู่กับเรา นักบำบัดบางคนจึงต้องมีตัวช่วย มีนักบำบัดส่วนตัวของตัวเอง เพื่อค่อยเป็นตัวช่วย เพื่อให้เราจัดการกับอารมณ์และจิตใจของเราได้

อีกอย่างคือต้องต้องเป็นคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงด้วย ไม่ใช่เป็นคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางซึ่งจะทำให้มองข้ามรายละเอียดที่สำคัญอะไรไปหลายอย่าง ต้องเป็นคนที่รับฟัง เป็นผู้ฟังที่ดีโดยไม่ตัดสินคนอื่น ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเราตัดสินคนที่มารับการบำบัดตั้งแต่ต้น ็รู้สึก็รสดกตตกตองเปนคนตองเปนคนอย่างอื่นจะไม่เกิดขึ้น แถมยังเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ของเขาอีก

 

หลังจากที่คุณเจียเรียนจบทางด้านนี้มาเป็นคนแรกของประเทศไทย หลังจากนั้นมีคนที่เรียนจบทางด้านนี้เพิ่มขึ้นไหมครับ

ต้องบอกว่าเรามีคนที่เรียนจบทางด้านศิลปะบำบัดเพิ่มขึ้นบ้างค่ะ แม้จะไม่มาก อันนี้รวมด้านศิลปะบำบัดหลายๆ สาขานะคะ ทั้งวาดรูป ดนตรี ละคร การเต้นและการเคลื่อนไหวบำบัด ฯลฯ จะว่าไปเราก็แอบปลื้มใจเล็กๆ ที่จบทางด้านนี้มาเป็นคนแรกๆ ตอนนั้นก็ต้องอธิบายกับคนอื่นๆ เยอะมาก ว่าละครบำบัด ศิลปะบำบัดคืออะไร ทุกวันนี้ก็ยังต้องทำอย่างนั้นอยู่นะคะ...แต่ก็ดีใจที่เราได้มีส่วนช่วยบุกเบิกวิชาชีพนี้ให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย