จากสาวโคราช....สู่ทำเนียบรัฐบาล ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช “ขอทำงานให้บ้านเมืองจนหมดแรง”

จากสาวโคราช....สู่ทำเนียบรัฐบาล ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช “ขอทำงานให้บ้านเมืองจนหมดแรง”

 

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE Live has changed เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ธนิก พันธ์อภิวัฒน์
แต่งหน้า : ธีระวัฒน์ บูชาบุญ

 


จากสาวโคราช....สู่ทำเนียบรัฐบาล
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
“ขอทำงานให้บ้านเมืองจนหมดแรง”

 

เปิดเส้นทางชีวิต “ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” แม่ทัพนำ ปลูกป่ามากว่า 31 ปี ได้ต้นไม้ 20 ล้านต้น เพื่อผลิตอาหารให้กับชาวโลก สร้างหลักสูตร “ปลูกป่าท้องถิ่น” ส่วนประเด็น บ้านพักตุลาการ เป็นการ “มองข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อม” ตั้งเป้าชีวิต “ขอทำงานให้บ้านเมืองจนหมดแรง”

 

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเลขาธิการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ เปิดบ้านไทยประยุกต์ ย่านสุขุมวิท ประกาศพร้อมนำนโยบายแก้ปัญหาให้ชาวภาคอี่สานแบบยั่งยืน เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในปีหน้า ย้ำนโยบายหลัก ”ดิน น้ำ ป่า” เพื่อพัฒนาชุมชน

 

//ปลูกป่า 31 ปี 20 ล้านต้น

กว่า 31 ปีที่ผ่านมา “มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์” ได้ลงมือปลูกต้นไม้ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ริมทางหลวง ในหมู่บ้าน ป่าชายเลน ฯลฯ รวมแล้วกว่า 20 ล้านต้น ซี่งเป็นการทำกันอย่างครบวงจรให้กับชุมชน “เราเริ่มปลูกป่า เพราะเป็นคนบ้านนอกที่สีคิ้ว เข้าเรียนที่จุฬาฯ และไปเรียนเมืองนอกกลับมา จึงเกิดแรงบันดาลใจของการปลูกป่าจากประเทศอังกฤษ ที่เขารักต้นไม้กันเหลือเกิน เพียงกิ่งไม้กี่งเดียวเขาก็ทำแผลให้ พอเวลาหน้าหนาวก็จะเอาฟางมาหุ้มต้นไม้ เพราะกลัวต้นไม้จะหนาว หรือคุณป้าเดินอยู่บนถนนเห็นคนมาเด็ดดอกไม้คุณป้าจะเข้าไปเตือน จะเห็นว่าประเทศอังกฤษรักต้นไม้ รักป่าไม้ แต่พอกลับมาเมืองไทย เห็นว่าตั้งแต่เกิดมาเมืองไทยมีป่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมโตขึ้นมาป่าเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะภาคอีสานเหลือป่าเพียง 14 เปอร์เซ็นต์


“ในปี 2529 จึงคุยกับเพื่อนและลูกศิษย์ว่า ป่าไม้ และต้นไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวในโลกฟื้นได้ในช่วงชีวิตคน แม้ว่าเราจะโชคร้ายที่ป่าหมด แต่เราโชคดีที่ได้ปลูกต้นไม้ จึงได้คิดโครงการขึ้นมา เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศร่วมกับปลูกป่าให้กับแผ่นดินไทย ซึ่งถือเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน และเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โชคดีว่าตอนนั้นปี 2530 พระองค์ท่านมีพระชนม์พรรษา 60 ปีพอดี จึงใช้โอกาสนี้เชิญชวนประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ถวายแด่แผ่นดินของพระองค์ โดยตั้งชื่อโครงการนี้ว่า โครงการราชพฤกษ์คืนราชัน ปลูกป่าถวายในหลวง ต่อมาในปี 2530 เราได้ตั้งเป็นมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ แล้วเริ่มปลูกต้นไม้ริมทางหลวงตั้งแต่สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน และสายกลาง ที่ประชาชนได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เป็นของขวัญถวายหลวงในปีนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นเพื่อเป็นมงคล”


มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือ ป่าไม้ และมีความเห็นพ้องต้องกันที่จะปลูกต้นไม้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี 2530 และในโอกาสมหามงคลรัชมังคลาภิเษกในปี 2531
จากประกายความคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ “โครงการราชพฤกษ์” อันมีความหมายว่า “พฤกษาของราชา” โดยมี พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นประธานโครงการ จากนั้นได้มีการประชุมปรึกษาหารือสำรวจเส้นทางและประสานงานกับหน่วยงานหลายฝ่าย ได้แก่ กรมทางหลวง กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กองทัพทั้ง 4 ภาค ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ในท้องถิ่นต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง โดยคุณหญิงกัลยาทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์


“เป็นระยะเวลา 31 ปีที่เราได้เพิ่มต้นไม้ให้กับประเทศไทยถึง 20 ล้านต้น โดยเฉพาะปลูกป่าต้นน้ำ ปลูกต้นไม้ข้างทางและในชุมชนก็ล้วนเป็นการเพิ่มต้นไม้ให้กับแผ่นดินไทย เริ่มต้นโครงการใหม่ๆ หลายคนบอกคุณหญิงบ้า (หัวเราะ) ใครจะว่าเราบ้าก็ช่าง เชื่อว่าสิ่งที่ทำตรงนี้จะดีกับประเทศ อย่างน้อยทำให้ชาวบ้านได้มีอาชีพ” คุณหญิงกัลยาเท้าความอย่างอารมณ์ดี เผยสีหน้าภาคภูมิใจที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันลูกสาวได้เข้ามาร่วมสานต่อโครงการนี้แล้ว


//ไทย 1 ใน 6 ประเทศ ผลิตอาหารให้ชาวโลก

เลขาธิการมูลนิธิราชพฤกษ์ เล่าให้ฟังต่อว่า “การปลูกป่าตรงนี้ถือเป็นว่าเป็นบุญของแผ่นดินอีกช่วงหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งกับรัฐบาลสมัยคุณชวน หลีภัย เป็นนายกรัฐมนตรี คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ว่า ให้ปลูกป่า 5 ล้านไร่ จึงได้ขอร้องแกมบังคับให้ภาคเอกชน ห้างร้าน บริษัทต่างๆ ร่วมบริจาคเงินปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ โดยนำไปหักภาษีได้


“จากตรงนี้อีก 15 ปี ต่อมา ทำให้ป่าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พื้นป่าเพิ่มขึ้นเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ป่าของไทยพื้นที่เพิ่มขึ้น จากปกติที่ป่าของไทยจะลดลงประมาณปีละ 1 ล้านไร่ แม้จะมีการปิดแล้วก็ยังลดลง 5 แสนไร่ต่อปี ฝนฟ้าอากาศแปรปรวน ฝนตกก็ตกหนัก แล้งก็แล้งจัด ทำให้รัฐบาลและประชาชนต้องเสียเงินมาป้องกันน้ำท่วม แก้ภัยแล้งซ้ำซากแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ป่าไม้ ต้นไม้จะเป็นคำตอบ ทำให้ภูมิอากาศ ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ทำให้เกษตรกรสามารถทำนาทำไร่ได้ตามฤดูกาล โดยเจ็ดปีแรกเราก็มีโครงการ “คืนชีวาให้ภูผาด้วยป่าใหญ่” ที่ร่วมกับกองทัพภาคที่ 1-4 เพื่อถวายเป็นราชสักการะและสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ด้วยการนำประชาชาชนเข้าไปร่วมปลูกและบำรุงรักษาป่าไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้แผ่นดิน โดยจัดกิจกรรมร่วมกับกองทัพภาคต่างๆ และโครงการประสานจิต คืนชีวิตให้ชุมชน โครงการฟื้นฟูบ้านเกิดเมืองนอน โครงการวัดและประชาร่วมใจ โครงการค่ายเยาวชนสู่พันธุ์เขียวขจี ทุกๆโครงการหวังผลให้คืนต้นไม้ยืนต้นให้กับแผ่นดินไทย ถือว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ของคนไทยทุกระดับชั้น“


ที่ผ่านมาไม่ลืมที่จะรณรงค์ร่วมกันปลูกป่าชายเลนที่ผลิตอาหารให้ชาวไทยและชาวโลก เพราะประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศของโลก ที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก ประเทศไทยจึงถูกเรียกให้เป็น “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” แต่ถ้าป่าหมด อากาศแปรปรวน จึงทำให้ผลิตการเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ประชาชนต้องตระหนักในการดูแล ดิน น้ำ ป่า เพื่อที่จะเป็นข้าวปลาอาหารให้กับลูกหลานต่อไป


“อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันปลูกต้นไม้กันคนละต้น บ้านไร่ปลายนาก็ปลูกได้ ตรงนี้อยากจะเสริมอีกว่า ถ้าเรามีที่ดินอยู่ 10 ไร่ โดยมีรายได้ไร่ละ 5,000 บาทต่อปี โดยแบ่งมาสักหนึ่งไร่เพื่อใช้หนี้ เพื่อเป็นบำนาญตนเอง และเป็นมรดกให้ลูกหลาน หรือเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อต่ออายุให้พ่อแม่ หากวันเกิดพ่อแม่ทุกปีเราก็ปลูกต้นไม้เหมือนเป็นการต่ออายุให้กับพ่อแม่ เพราะการปลูกต้นไม้ได้บุญทั้งหลับและตื่น พอปลูกเสร็จแล้วนับวันจะงอกงาม เปรียบกับถ้าเราสร้างอาคาร วันที่สร้างอาคารเสร็จก็เริ่มที่จะเสื่อมสลาย ฉะนั้น เรื่องป่าจึงมีคุณค่ามหาศาล ปัจจัยสี่ก็มาจากป่า ภาคภูมิใจมากที่พระท่านบอกว่า ปลูกป่าได้บุญทั้งหลับและตื่น เพราะการปลูกต้นไม้เป็นการให้ชีวิต ชีวิตเจริญงอกงามเราก็ได้บุญ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ และยังเป็นที่อยู่ของเทดารุกขชาติได้ด้วย ถ้าใครมีที่ดินลองมาช่วยกันปลูกป่า หรือใครที่ไม่มีที่ดินก็มาร่วมกับบริจาคคนละ 40 บาท ให้กับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ที่จะนำเงินของท่านไปเพิ่มป่าให้กับแผ่นดินไทย”


//บ้านพักตุลาการ “มองข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อม”

จากกระแสของการบุกรุกป่าที่มีให้เห็นมากมายในสังคมไทย กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุด บ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 143 ไร่ 3 งาน 41 ตร.ว. ใช้มูลค่าก่อสร้างกว่า 1 พันล้านบาท และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากมีการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ แม้เป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ไม่ถูกใจประชาชน


ดร.คุณหญิงกัลยา อธิบายว่า “การทำลายบุกรุกป่าบางคนก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่เวลาได้คุยกับเขา เขาจะบอกว่า อยากจะปลูกบ้านก็ตัดต้นไม้สักสองต้น เพราะเรามีต้นไม้เยอะ ก็เอามาสร้างบ้านให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยก็เป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ต่อมาก็มีการบุกรุกป่าจากผู้ที่โลภ เพื่อธุรกิจเพื่อการพาณิชย์ ก็จะมีการตัดต้นไม้เป็นขบวนการเอามาขาย จนกระทั่งรัฐบาลต้องมีการประกาศปิดป่าในปี 2532 แม้กระทั่งมีการปิดป่าแล้ว ก็ยังมีคนลักลอบไปตัดไม้ทำลายป่าอีก จนปี 2535 ก็มีประกาศปิดป่าแบบไม่มีการตัดได้อีก จากปี 2535 ป่าก็ยังหมดไปจากคนโลภและจากคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์


“ส่วนของบ้านพักข้าราชการตุลาการเป็นการมองข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประโยชน์มหาศาลไป แต่การแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่จะต้องไปฟื้นฟูเพื่อให้ได้ป่ากลับคืนมา ในฐานะที่ทำหน้าที่ปลูกป่ามา 31 ปี ทางเรามีโครงการร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการปลูกป่าโดยโครงสร้างที่จะศึกษาวิจัย สมัยก่อนที่ป่าอุดมสมบูรณ์มีต้นไม้อะไรบ้าง ลักษณะต้นไม้ขึ้นเร็ว ทนแดน ทนฝน ทนแล้ง ทนเค็ม มีอะไรบ้าง และเราที่จะปลูกป่าตามโครงสร้างเดิม จนกระทั่งการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับเราเพาะกล้าที่สูญพันธุ์ไปแล้วนั้น ได้ค้นพบกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงมีความเชื่อว่า ป่าต้นน้ำ ถ้าถูกทำลายไปแล้วไม่สามารถคืนพื้นป่าดังเดิมได้ แต่ขณะนี้ความเจริญก้าวหน้ามีการค้นพบวิจัยต้นไม้ที่เคยอยู่ในพื้นที่มาก่อนได้กลับคืนมาตามโครงสร้างเดิม” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจ


//สร้างหลักสูตร “ปลูกป่าท้องถิ่น”

“จริงๆ การแก้ปัญหาของการสร้างบ้านพักตุลาการเป็นเรื่องยาก เพราะดอยสุเทพเป็นดอยที่มีชื่อเสียงมาก และเข้าใจว่าคนท้องถิ่นต้องการที่จะเสนอให้เป็นมรดกโลก เพราะฉะนั้นต้องมาคิดกันว่า การฟื้นป่าครั้งนี้ต้องเสียเงินไปเท่าไหร่ และจะได้ป่ากลับคืนมามันคุ้มกันมั้ย ความจริงก็อยากบอกว่า มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ปลูกป่ามากว่า 30 ปี เราได้ 3 อย่างหลักๆ คือ หนึ่งได้ป่าเพิ่มขึ้น สองทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และสามเป็นการสร้างคน คือ ปลูกต้นไม้ในใจคน ให้เขาเข้าใจและระลึกว่าป่ามีประโยชน์ต่อเขามากมายแค่ไหน ที่พูดอย่างนี้มีชาวบ้านที่เราไปปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติที่อุตรดิตถ์ แพร่ ทางภาคเหนือ 54,800 ไร่ เป็นพื้นป่าที่ใหญ่ที่สุดต่อเนื่องกัน


ประชาชนมีรายได้จากการที่มาปลูกป่า เขากลับมาบอกกับทางมูลนิธิฯว่า คุณหญิงเงินที่ได้จากการปลูกป่าผมส่งลูกเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะเราปลูกและดูแล เราปลูก 1 ปี ดูแล 2 ปี จนรากมันยึดดินแล้วเราจึงส่งมอบกับกรมป่าไม้ เศรษฐกิจในชุมชนมีเงินหมุนเวียนเป็นสิบๆล้านจากที่ไม่เคยมี ป้าลุงที่มาช่วยปลูกต้นไม้ก็จะมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน ฉะนั้น รัฐได้ป่า ประชาชนได้เงิน และเราก็มีการพัฒนาคน รวมทั้งเยาวชนมาช่วยกันวัดความสูงของต้นไม้


“ปัจจุบันมีลูกสาวและลูกเขยได้มุ่งไปพัฒนาเยาวชนให้มาสนใจเรื่องรอบตัว มีการตื่นตัวว่า ป่ามีความสำคัญ ป่าเป็นเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต ทุกๆอย่างที่เราทำไปก็เพื่อเพิ่มต้นไม้ให้กับแผ่นดินไทย และจะให้ชุมชนทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นที่เรากำลังทำกันอยู่ที่อำเภอเสิงสาง โคราช เราไปต้นไม้ในพื้นที่ 136 ไร่ ที่เราไปขอคืนจากผู้บุกรุกตั้งแต่สมัยก่อนที่มีคอมมิวนิสต์ที่ปลูกมัน พอรัฐบาลได้พื้นที่นี้คืนมาทางมูลนิธิฯจึงได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาพื้นป่าให้ได้รู้จักการเดินป่า เรื่องดิน เรื่องน้ำมากขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นมามีทั้งดินน้ำป่าเพื่อให้เด็กได้เรียนในชั้นเรียน”


//”ดิน น้ำ ป่า” นโยบายเพื่อพัฒนาชุมชน

ดร.คุณหญิงกัลยาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นสมัยลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อปี 2543 ในนามผู้สมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง แม้ไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ได้รับความนิยมจากชาวกรุงเทพฯ พอสมควร ต่อมาเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 ต่อมาในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2550 ได้ลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 8 (สวนหลวง ประเวศ บางนา พระโขนง) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง และเป็นรัฐมนตรี (เงา) ว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


ต่อจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายหลังได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือนมิถุนายน 2553 ทำให้ ดร.คุณหญิงกัลยา ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และในการเลือกตั้ง 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 7 และได้รับเลือกตั้งอีกสมัย


“การเมืองปัจจุบันนี้ไม่ปกติเราทุกคนทราบ เพราะเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความไม่ปกติทำให้ทหารเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งความสงบเรียบร้อย ต้องชมว่าทำได้ดี แต่เนื่องจากว่า โลกก็เปลี่ยน เทคโนโลยีก็เปลี่ยน คนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยน จึงทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะโตอยู่ส่วนหนึ่ง คือ ผู้ที่มีกำลัง แต่ว่าไม่ลงไปถึงรากหญ้าอันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนคือ เรื่องหนี้ เท่าที่ลงพื้นที่มาหลายปีถามชาวบ้านเรื่องหนี้จะทุกข์มาก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านละล้าน กองทุน ธกส. กองทุนพัฒนาเกษตรกรต่างๆนาๆ ทำให้ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ


“เมื่อ 15 ปีที่แล้วหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 50,000 -60,000 บาท เดี๋ยวนี้ 176,000 บาท เพิ่มขึ้นมากเนื่องมาจากประชานิยมลงไปในท้องถิ่น สามารถทำให้คนได้กู้เงินได้ง่ายขึ้น ซี่งทุกคนก็ดีใจ โดยกู้เอามาซื้อโทรศัพท์ ซื้อมอเตอร์ไซค์ โดยที่คนซื้อยังหาเงินเองไม่ได้สักบาทเดียว มีแต่รายจ่ายทั้งนั้นเลย สมัยก่อนโทรศัพท์มีค่ารักษาเครื่องห้าร้อยบาทจำได้มั้ย ยังไม่ได้ใช้โทรศัพท์เลยยังต้องเสียเงินก่อนห้าร้อย พอใช้ก็เป็นร้อยเป็นพัน เด็กๆทุกคนที่มีมือถือสมัยนั้นก็เอาเงินกู้ต่างๆเหล่านี้เอาไปซื้อของที่ไม่ได้สร้างรายได้ให้กับตัวเองเลย หนี้และน้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ตัวพี่เองได้รับมอบหมายจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคให้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคอีสานที่ดูแล20 จังหวัด ก็ลงพื้นที่ไปเพราะเราเป็นคนอีสาน เป็นคนโคราช


“พอลงพื้นที่ไปก็ได้ทราบข้อมูลต่างๆนาๆ รัฐบาลที่ไม่ปกตินี้จึงแก้ปัญหาปากท้องยังไม่ได้ แม้ตัวเลขจีดีพีที่บอกว่า ส่งออกเท่าไหร่ ค้าขายเท่าไหร่ อันนั้นมาจากผู้ที่แข็งแรงและมีความสามารถ และเอามาเฉลี่ยให้กับทุกคน จึงไม่ได้สะท้อนความจริง ตรงนี้จะต้องเปลี่ยนวิธีพิจารณาหรือสนับสนุนคนต่างจังหวัดด้วยวิธีการอื่น โดยที่ไม่ต้องเอาจีดีพีไปเกณฑ์วัด แน่นอนที่สุดทางผู้ที่มีอำนาจก็พยายามส่งเสริมให้กู้มากขึ้น อย่างกองทุนจากที่กู้ได้หนึ่งล้านก็คงจะเป็นห้าล้าน จึงทำให้ประชาชนใช้จ่ายเงินกันแบบฟุ่มเฟือย เฉกเช่นเดียวกับป่าไม้ต้นไม้ คนใช้ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ พวกอุตสาหกรรม หรือนักธุรกิจ พาณิชย์อะไรต่างๆก็ใช้ทรัพยากรของประเทศไปเยอะทีเดียว เพื่อทำมาหากิน ก็อยากจะขอร้องให้กับทุกคนที่ใช้ทรัพยากรของประเทศในการทำมาหากินช่วยกันฟื้นป่าให้กับประเทศไทยด้วย แม้จะเป็นนักการเมืองก็ยินดีที่จะส่งเสริมเรื่องนี้ แล้วทางพรรคเองก็มีนโยบายปลูกป่าใช้หนี้ เพราะมันเจริญงอกงามขึ้นทุกปี 20-30 ปีก็จะเป็นบำนาญให้กับตัวเอง


“ความยากลำบากตรงนี้คนทางภาคอีสานมาบอกว่า คุณหญิงกินยาผิดขนานหรือเปล่า(หัวเราะ) เพราะพื้นที่อีสานใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ มี ส,ส.116 คน แล้วแต่ละจังหวัดก็หลากหลายปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด ขณะนี้เราก็ลงไปพบประชาชน ไปรู้ปัญหาของประชาชน แล้วได้นำเสนอความคิดว่า เราจะเตรียมตัวเพื่อรองรับความเจริญในอนาคตอย่างไรบ้าง เช่น เราจะทำรถไฟรางคู่ ที่เป็นนโยบายของทุกรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ที่จะทำให้รถไฟวิ่ง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้วิ่งสวนทางกันได้เพิ่มขึ้นเป็น 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเจริญก้าวหน้าก็จะมาสู่ประชาชน อีสานที่จะไปถึงหนองคายเพื่อที่จะต่อไปลาว เพื่อที่จะต่อไปจีน ที่ทุกคนจะรู้ว่าจีนกำลังจะทำหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt, One Road ซึ่งจะต้องผ่านมาทางหนองคาย แล้วก็ลงมาที่ขอนแก่น อุดร มากรุงเทพฯ ไปมาเลเซีย ไปสิงคโปร์ เพื่อที่จะไปต่อกับชาวโลก


ดังนั้น ปัญหาของทางอีสานก็มีมาก แต่เราก็มีหวัง เราก็ต้องไปนำเสนอให้ประชาชนเข้าใจว่า เตรียมตัวรับความเจริญที่กำลังจะมา แล้วเรามีอะไรเด่นก็จะได้มีการนำเสนอได้ แต่สำคัญที่สุดที่ทางอีสานตั้งใจเอาไว้ว่า ดิน น้ำ ป่า คือ ข้าวปลาอาหาร ก็จะทำเรื่องน้ำให้ประชาชนมีน้ำใช้ตลอดปีตามแนวพระราชดำริ ซี่งพูดได้เต็มปากเต็มคำตั้งแต่อยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็จะมีโครงการสำเร็จและมีต้นแบบแล้ว ที่จะสามารถทำให้ประชาชนบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำรินี้ สามารถที่จะทำให้ทุกคนได้มีน้ำใช้ตลอดปี น้ำไม่ท่วม น้ำไม่แล้ง น้ำไม่เน่า


“ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประชาชนจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีผลผลิตดีขึ้นแล้วก็สามารถที่จะเชื่อมต่อกันได้สะดวกมากยิ่งขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ก็เป็นแนวนโยบายที่จะนำเสนอคนอีสาน ถามว่ายากมั้ยก็ยาก มีโอกาสมัยก็มี ที่ผ่านมาได้ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านค่อนข้างมาก และทราบปัญหาดี ซึ่งตัวเองก็เกิดที่สีคิ้ว โคราชในสมัยนั้นไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ไปโรงเรียนก็ไปโรงเรียนวัด และนั่งที่ศาลาวัด สิ่งต่างๆเหล่านี้จากประสบการณ์ตัวเอง ทำให้เข้าใจปัญหาอีสานได้ดี เพียงแต่เราจะต้องสามารถสื่อสารถึงให้ประชาชนให้ได้มากที่สุดว่า เราจะนำพาเขาเดินไปทางทิศไหน ที่จะแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ แข่งขันกับทั่วโลกได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย ซี่งทุกคนพูดถึงสมาร์ตซิตี (smart city) พูดถึงเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities – Clean Energy) ก็แล้วแต่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะต้องเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยมีน้ำใช้ตลอดปี เพราะถ้ามีน้ำใช้แล้วสิ่งอื่นๆก็จะตามมา”


//“ศาสตร์พระราชา” แก้ปัญหาชาวอีสาน

“พื้นที่ที่มีชลประทาน ประชาชนจะมีรายได้เป็นห้าเท่ามากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีชลประทาน อีสานมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ อีก 92 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีชลประทาน ฉะนั้น จะต้องใช้ศาสตร์พระราชา คือ1.หาที่ให้น้ำอยู่ 2.หาที่ให้น้ำไหล 3.เก็บน้ำไว้ใต้ดิน โดยการสร้างธนาคารน้ำไว้ใต้ดิน ทั้งสามอย่างนี้ได้เริ่มต้นทำแล้ว แต่การขยายโครงการนี้ หากเรามีบุญวาสนาเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะนำสิ่งต่างๆเหล่านี้ลงไปจะแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเน่าได้ เพราะเป็นศาสตร์พระราชาที่เราเจริญรอยตามพระองค์ท่าน ถ้าพูดถึงน้ำฝนเท่านั้น น้ำฝนลงมาร้อยหยด อีสานเก็บได้ 3.3 หยด นอกเหนือ 3.3 หยดได้ไปทำลายไร่สวนไร่นาและลงสู่แม่น้ำลำคลอง ถ้าทำตามศาสตร์พระราชา 3 อย่างนี้ไม่ต้องเวียนคืนที่ดิน และประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ต้องใช้งบประมาณสูง ไม่ใช่เมกะโปรเจกต์ เป็นแต่ละชุมชนๆ แต่ละหมู่บ้าน ศึกษาของแต่ละหมู่บ้านว่าเราจะทำเรื่องน้ำตามศาสตร์พระราชานี้มีอะไรบ้าง


“เช่น แก้มลิงปลวก เราขุนบ่อ ทุกคนขุดได้อย่างที่มีความรู้ เอาดาวเทียมมาส่องดูพื้นที่ความสูงต่ำ แล้วเราควรจะขุดที่ไหน น้ำจะไหลไปไหน เพื่อให้น้ำอยู่ในหมู่บ้านนี้ได้ตลอดปีจนถึงหน้าฝน โดยน้ำจะไม่ท่วมไม่แล้ง การทำน้ำใต้ดินช่วยแก้ปัญหาได้มาก น้ำที่ล้นมาจากไหนจะลงสู่ใต้ดินหมด มีสองระบบ แบบเปิดและปิด ปิดมิดถ้าน้ำบ้านเราตรงไหนท่วมก็ทำธนาคารน้ำใต้ดิน พอน้ำไหลจากบ้านก็จะลงสู่ใต้ดินหมด มันจะลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ก่อนถึงชั้นหินอุ้มน้ำมันจะเป็นดินเหนียว ถ้าเราขุดไม่ถึงดินเหนียวน้ำก็จะไม่ลงไป แล้วมีการต่อท่อให้มันหายใจ โดยให้น้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดินแล้วมันจะกระจายไปด้วย 3 แรง คือ แรงโน้มถ่วง เมื่อถึงชั้นหินอุ้มน้ำแล้วมันก็จะกระจายไปตามแรงโน้มถ่วง แรงที่สองคือแรงเหวี่ยงของโลก แรงที่สามคือน้ำหนักน้ำ ที่จะกลายเป็นสิบกิโล ยี่สิบกิโลในใต้ดิน คือเอาน้ำฝนที่เหลือจากการจัดเก็บลงไปในดินชั้นหินอุ้มน้ำ ในขณะนี้คนที่กำลังธนาคารน้ำใต้ดิน พบว่า บ่อน้ำบาดาลที่แห้งไปแล้วมีน้ำผุดขึ้นมามากมาย เพราะน้ำตรงนี้มันถึงกัน ชั้นหินอุ้มน้ำ หรือน้ำบาดาลมันต่อไปแม่น้ำลำคลองด้วย บางโรงเรียนเคยน้ำท่วม แต่พอทำธนาคารน้ำใต้ดินแล้วน้ำเลิกท่วมโรงเรียน”


//ชีวิตมีวันนี้ “เก่ง+ โชค”

ดร.คุณหญิงกัลยา เกิดที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นบุตรีคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ของตระกูลพงศ์พูนสุขศรี ครอบครัวประกอบอาชีพด้านการเกษตรและค้าขาย คุณหญิงกัลยามีชื่อเล่นว่า “ฮ้ง” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า “ยิ่งใหญ่”สมรสกับ คุณโชติ โสภณพนิช บุตรชายคนที่ 4 ของ คุณชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้ง ธ.กรุงเทพ มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน (โชติยา, ชลิต, สุภณา, กิติยา) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในปี 2504 ได้ทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และได้รับทุนต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก สาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล ในเครือ ม.ลอนดอน (Imperial College of Science and Technology, University of London) ของสหราชอาณาจักร สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ด้าน High Energy Nuclear Physics เมื่อปี 2513 ทำงานเป็นกรรมการและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ขึ้นในปี 2529 และมีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด


“ชีวิตได้เรียนจนจบปริญญาเอก ได้เป็นคุณหญิง ตรงนี้อันดับแรกมองว่าเป็นเรื่องโชคเรื่องหนี่ง เพราะถ้าไม่มีโชคก็คงไม่เกิดแบบนี้ตลอดเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา อันที่สอง พ่อแม่สอนมาดี และอันที่สาม เราเรียนหนังสือได้ดี เรียนหนังสือไม่เคยต่ำกว่าที่ 3 ตั้งแต่อยู่ต่างจังหวัด แล้วเป็นคนช่วยพ่อแม่ทำงาน ซักผ้า รีดผ้า หาบน้ำ เอาผ้าไปซักที่คลองตั้งแต่ตีห้า ถึงได้กลับมาทานข้าวถึงไปโรงเรียน สิ่งต่างๆทั้งหลายเหล่านี้ได้หลอมเราให้เป็นคนแกร่ง เป็นคนกล้า และเป็นคนอึด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และสิ่งแวดล้อมในชนบทก็หล่อหลอมให้เรามีจิตสาธารณะ ตรงนี้เราอาจจะมี่ทุนเดิมอยู่แล้วที่ทำให้เรามีจิตสาธารณะ เช่น ใครมาทอดกฐินที่อำเภอเราก็จะเกณฑ์สาวๆคือพวกเราไปทำกับข้าว ทำน้ำพริก ขูดมะพร้าว เพื่อจะเลี่ยงคนที่มาทอดกฐิน แล้วก็ปักหมอนทำย่ามเองที่ใช้ในการทอดกฐิน เพราะฉะนั้นการถูกฝึกมา ทั้งฝีมือ การทำกับข้าว ขายของหน้าร้านชั่งตวงวัดได้ทั้งหมด ขายปลาทูเค็ม ขายลูกอม ขายหนังสือ


“ตอนหลังคุณพ่อก็มาสนใจเรื่องเกษตร เรื่องโรงสีข้าว โรงสีข้าวโพด แทรกเตอร์ ทำให้คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้กับการที่ได้อยู่กับชาวไร่ชาวนาตั้งแต่เด็ก จึงมองเห็นว่าชาวไร่ชาวนาตั้งแต่ปี 2505 ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 เกิดขึ้นแล้วทางรัฐบาลและสภาพัฒน์ก็ไปเน้นเรื่องการปลูกพืชเชิงเดียวเพื่อส่งออก และทำอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก หรือเป็นอิเล็กทรอนิกส์อะไรก็แล้วแต่ จะพูดว่าทำให้เกษตรกรถูกทอดทิ้งก็ได้ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 ก็เริ่มทำตามยถากรรม และก็ตามยถากรรมมากขึ้นๆ จึงถึงเวลาหรือยัง ที่จะต้องกลับมาช่วยเกษตรกร ช่วยให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นถ้ามีน้ำ มีอาหารทาน และผลิตผลดีขึ้น ขายได้ ไม่ต้องให้กู้หรอก แต่ให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข และครอบครัวอยู่ร่วมกันได้ ถ้าทำเรื่องน้ำตามพระราชดำริ ก็จะมีโปรตีนรับประทาน มีข้าวปลาอาหาร พ่อแม่ลูกก็จะได้อยู่ด้วยกัน ไม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด”


//”ขายน้ำ” สู้ชีวิต

ดร.คุณหญิงกัลยา ย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า “สมัยอยู่สีคิ้วเรียนหนังสือยามว่างก็จะไปนั่งรอที่ไม้หมอนของรถไฟ เพื่อที่จะขายน้ำที่สถานีรถไฟ แล้วเดินขายน้ำ น้ำจ้าน้ำ(หัวเราะ) สมัยนั้นจะมีถังเหล็กหรือเรียกถังอลูมิเนียม สมัยก่อนก็มีหูหิ้ว โดยเอากระป๋องนมใส่น้ำเพื่อเทใส่ขวด เพราะสมัยนั้นคนเดินทางจะมีขวดน้ำติดตัวไป ในระหว่างทางก็ดื่มน้ำจนหมดแล้ว พอมาถึงสถานีรถไฟก็จะมาซื้อเติม เราก็จะใช้น้ำฝนมาขายแล้วร้องขาย น้ำจ้าน้ำ(หัวเราะ) สมัยนั้นขาย 10 ตังค์ หรือ 1 บาท จำไม่ได้แล้ว แล้วยังขายผลไม้พวกลำไยเป็นการหารายได้ตั้งแต่เรายังเด็ก แล้วยังทำขนมไปขายในงานแสดงลิเก งิ้ว เพื่อที่จะเอาเงินไปฝากออมสิน เพราะครูเขาบอกว่า เงินที่จะฝากออมสินจะต้องหาเอง เด็กสมัยก่อนมันซื่อ เราเลยต้องทำขนมไปขาย เอาน้ำและผลไม้ไปขาย(หัวเราะ) แล้วที่บ้านก็เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เป็นรายได้เสริม คุณแม่ไม่มีรายได้ เราอยู่กงสีกินกงสี เราจึงต้องเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู ชีวิตเราจึงเป็นคนเลี้ยงหมูตั้งแต่เด็ก อาบน้ำให้หมู ทำความสะอาดคอกหมู และเก็บผักมาต้มกับปลายข้าวเลี้ยงหมู” ภาพอดีตแห่งความลำบากที่เธอจำได้ไม่ลืม


//เป้าชีวิต “ขอทำการเมืองจนหมดแรง”

กำลังมุ่งสู่เส้นทางโรดแมปการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า กระแสข่าวของการดึงตัวอดีต ส.ส.เริ่มมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มุมมองของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อยากถามว่าเราจะปฏิรูปการเมืองหรือเปล่า ถ้าต้องการปฏิรูปการเมืองก็ไม่น่าที่จะทำแบบเดิม เพราะแบบเดิมก็มีคนทำแล้ว ซื้อมาทั้งพรรค ซื้อมาทั้งโขยง ซื้อมาทั้งกลุ่ม เพื่อให้ได้คะแนน และถ้าทำอย่างนั้น ก็แปรว่าไม่ได้ปฏิรูปบ้านเมือง การเมืองก็เหมือนเดิม และปกติแล้วรัฐบาลรักษาการณ์ที่จะมีการเลือกตั้งเขามีกฎหมายไม่ใช้งบประมาณนอกกรอบ ไม่ให้โยกย้ายข้าราชการ และมีหลายอย่างที่รัฐบาลไม่ควรทำ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีกฎหมายนี้แทรก แต่มีกฎหมายพิเศษ ม,44 ทำอะไรก็ได้ จึงเป็นการใช้งบประมาณลงพื้นที่อย่างที่มีความเคลือบแคลง ตรงนี้ประชาชนน่าจะมองเห็นว่า เป็นการใช้งบประมาณเพื่ออะไร แล้วอีสานรัฐบาลจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ จำนวนคนกว่า 20 ล้านคน ที่เราจะต้องพูดให้ประชาชนได้เข้าใจว่าเราจะนำพาพวกคุณไปไหนกับเรา นำพาประเทศให้ก้าวข้ามวิกฤตต่างๆได้อย่างไร ขณะเดียวกันเราจะมีรายได้ ก็ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน”


“ตัวเองมีความตั้งใจจะทำงานการเมืองจนกว่าจะทำไม่ไหว เพราะมีตัวอย่าง มหาเธร์ โมฮัมหมัด" ผู้หวนคืนสู่เก้าอี้ผู้นำมาเลเซียอีกครั้งในวัย 92 ปีแล้วก็ยังทำงานการเมืองได้ ตรงนี้เรามองแล้วว่าเรายังมีอนาคต ทำให้ใจชื้นขึ้นมา(หัวเราะ) ที่พูดมาทั้งหมดของการเมืองทางอีสานนี้ อยากจะเรียนว่า ชาวบ้านก็รู้มากขึ้น มาบอกกับเรากับสิ่งต่างๆมากขึ้น เราก็หวังว่าจะได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของพวกเขาได้ ยืนยัน ชีวิตที่เหลือขอทำงานการเมืองให้ประเทศชาติจนกว่าจะหมดแรง”


“ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” กล่าวถึงเคล็ดลับในการดูสุขภาพ “ที่ทุ่มเทชีวิตทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติ ต้องบอกตรงๆว่า ไม่เคยอด อยากทานอะไรก็ทาน ทานอะไรง่ายๆ อย่างส้มตำ(หัวเราะ) ไม่มีอะไรพิเศษ ทานผลไม้ และทานขนมบ้าง โดยเฉพาะขนมไทยจะอดไม่ได้เลย เช่น ปลากริมไข่เต่า แต่จะออกกำลังกายทุกวัน และก็ทำฮูล่าฮูปหน้าทีวี เพราะเราทำงานการเมืองไม่ค่อยได้ดูทีวี พอเย็นๆก็จะจ๊อกกิ้งหน้าทีวี การดูทีวีอย่านั่งหรือนอน ต้องยืนแล้วก็จ๊อกกิ้งโบกไม้โบกมือและก็ทำฮูล่าฮูป แล้วก็ใช้ดัมเบลวิ่งไปวิ่งมาเบาๆ ทำให้หัวเข่านี้ดีมาก ขึ้นเขาลงห้วยปลูกต้นไม้ก็ยังสบาย”

 


มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ 4 ซอยพระรามเก้า 54 ถนนพระรามเก้าตัดใหม่ สวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250 โทรศัพท์ 0-2720-1001, 0-2720-1015 โทรสาร : 0-2720-1001