นักการตลาดมืออาชีพ...
CHANGE Live has changed
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ณธกฤษ โรจนะหัสดิน
แต่งหน้า : เกตน์สิรี บุญแปง
นักการตลาดมืออาชีพ...
ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย ยึดหลักบริหาร “ไม่สร้างศัตรู”
จุดเปลี่ยนของชีวิต “ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” เรียนจบบัญชีกลับมุ่งมั่นในอาชีพ “เซลล์แมน” จนกระทั่งก้าวสู่นักการตลาดมืออาชีพ ที่ยึดหลักนักบริหาร “ไม่สร้างศัตรู” เพราะ ทุกมุมชีวิต คือ ความสุข
จากบทบาทหน้าที่ของการทำงานที่ไม่มีเวลามากนัก คุณตี๋-ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการ แผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) ยอมสละเวลามาเล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต และการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองและสังคม ภายในบ้านพักย่านราชพฤกษ์
//ครอบครัว “ให้ชีวิตอิสระ”
คุณ ตี๋เริ่มเรียนมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จบการศึกษาปริญญาตรี บัญชีบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สมัยนั้นเป็นภาควิชาบัญชีบริหารธุรกิจ ภายใต้คณะสังคมศาสตร์ รหัส 28 “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ครอบครัวคนจีน มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ผมเป็นคนสุดท้อง โชคไม่ดีที่คุณแม่เสียชีวิตตั้งแต่ผมอายุเพียง 4 ขวบ ผมเลยแทบจะจำคุณแม่ไม่ได้เลย คุณพ่อทำงานหนักมาก ผมเลยอยู่กับพี่น้องมาโดยตลอดทำให้สนิทกันมาก แต่สิ่งที่ผมได้จากการอยู่กับพี่น้องคือ ผมมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แล้วผมก็ได้ความรักไม่ต่างจากเพื่อนคนอื่นเลย ตอนเรียนจบที่โรงเรียนสวนกุหลาบผมเลือกไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เหมือนอยากทำตัวเป็นเด็กมีปัญหา(หัวเราะ) อยากอยู่ไกลๆบ้าน คืออยากเป็นตัวของตัวเองมาก
“พอไปเรียนบัญชีที่เชียงใหม่ก็ทำให้สนิทกับเพื่อนทั้งหมด 70 คนตลอด 4 ปี ทำให้รู้จักคำว่าเพื่อนจริงๆ แล้วการไปใช้ชีวิตอยู่ที่นี่คนเดียวทำให้ผมรู้จักการใช้เงิน เพราะตอนอยู่กรุงเทพฯ จะมีครอบครัวคอยดูแลเรื่องการเงิน แต่มาเรียนที่ มช.ทำให้ผมมีการวางแผนการใช้เงินได้อย่างลงตัว แล้วยังได้ไปเที่ยวสถานที่สวยๆ ผิดกับสมัยนี้ที่เชียงใหม่มีความเจริญมาก แต่เชียงใหม่ก็เหมือนเป็นจังหวัดที่อากาศที่ดีที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ มองไปไหนก็สวย ตอนเรียนจบก็ไม่อยากจบเลย(หัวเราะ)”
//อาชีพแรก “เซลล์แมน”
ระหว่างเรียนเป็นนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นเป็นประธานนักศึกษา เป็นประธานชมรมเชียร์ ประธานชมรมอาสา เมื่อเป็นนักศึกษาปีที่ 3 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศแผนการตลาด จากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย “ตอนเรียนบัญชีได้คะแนนดีอาจารย์ก็บอกว่าให้เรียนบัญชีเพราะจะได้หางานได้ง่าย แต่ผมก็ไม่ได้ชอบบัญชีมาก เรียนไปก็เหมือนไม่ใช่ตัวเอง เรียนแล้วเกรดออกมาดี แต่ก็ไม่รู้สึกชอบมากนัก กระทั่งปีสามได้แข่งการทำแผนการตลาดเรื่องข้าวให้กับสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ก็ได้รางวัลรองชนะเลิศเลยรู้สึกว่าเราตอนนั้นชอบงานด้านการตลาด พอเรียนจบจากเชียงใหม่ก็มาอบรมนักการตลาดรุ่นเยาว์ รุ่น 3 ของสมาคมการตลาดฯ เลยรู้สึกว่าชีวิตของเราเปลี่ยนไป ที่ไม่ได้ทำงานด้านบัญชีตามที่เรียนมา แต่มันก็เป็นวิชาพื้นฐานของการสร้างงบดุล ระหว่างนั้นเลยเลือกทำงานเป็นเซลล์แมนขายน้ำมันเครื่อง ตอนนั้นผมมีความสุขมากเพราะได้เจอผู้คนที่หลากหลาย แล้วยังได้พัฒนาบุคลิกภาพ”เขาเล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตทำอะไรแล้วต้องมีความสุข
//ประสบการณ์ชีวิต “ส่งหนังสือพิมพ์-พนักงานเสิร์ฟ”
ในปี 2535 เดินทางไปเรียนจบมหาบัณฑิตMBA เกียรตินิยม ด้าน Business Research จาก BarryUniversityรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา “การติดต่อตอนนั้นยังไม่เหมือนสมัยนี้ ผมติดต่อด้วยตัวเอง โดยการติดต่อกับทางอเมริกาโทรศัพท์บ้านก็ติดต่อไม่ได้ต้องไปรอรับสายที่ไปรษณีย์กลาง สมัยนั้นเป็นช่วงพฤษภาทมิฬพอดีการเดินทางค่อนข้างมีอุปสรรคมาก แต่ที่สุดก็ได้ไปเรียน ระหว่างที่เรียนอยู่ที่นั่นจะต่างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังมีความเป็นตัวเองสูงมาก ผมเรียนแล้วยังทำงานด้วย ผมจะทำงานตอนเช้าทุกวันตลอดสองปี ตื่นตั้งแต่ตีสองเพื่อไปพับหนังสือพิมพ์ไปส่งตามบ้านประมาณ 300 ฉบับ รายได้สัปดาห์ 200 กว่าเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
“พอศุกร์เสาร์อาทิตย์ก็ไปทำงานเสิร์ฟอาหารด้วย ตอนนั้นทำงานหนักมาก ก่อนที่มหาวิทยาลัยใหม่จะเปิดพอผมไปส่งหนังสือพิมพ์เสร็จได้นอนประมาณชั่วโมงเดียวก็ไปทำงานเป็น โอเปอร์เรเตอร์(Operator) สวิทเชอร์ (Switcher) รับโทรศัพท์ให้กับเอ็นจีโอแห่งหนึ่ง ทำงานถึงบ่ายสามก็กลับมานอน หลังจากนั้นก็ไปเสิร์ฟอาหาร ใช้ชีวิตหนักแบบนี้อยู่ 8 เดือน ก็หยุดเสิร์ฟอาหาร พอเรียนปริญญาโทหนักๆก็หยุดส่งหนังสือพิมพ์ ผมเรียนหนักมาก ในห้องมีนักศึกษา 50 คน เป็นชาวเอเชียไม่กี่คน แล้วมีคนไทยอยู่สามคน ทำให้ผมตั้งใจเรียนมาก โชคดีได้เกียรตินิยมซึ่งเป็นคนไทยคนแรกของทางมหาวิทยาลัย” คุณตี๋เล่าถึงความทรงจำที่ดีของชีวิตแบบไม่มีวันลืม
//ฉายา “นักบุญแห่งโลตัส”
ระหว่างที่คุณ ชาคริตเรียนจบปริญญาโทกลับมาได้เริ่มทำงานด้านการตลาดโดยดูแลด้านงานวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก ใช้งานวิจัยการตลาดเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคเพื่อนำ ความเข้าใจที่ได้มาเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการตลาด เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดโดยเริ่มชีวิตการ ทำงานจากการเป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยจากบริษัทวิจัยด้านการตลาด เป็นเวลา 7 ปี ก่อนเข้าร่วมงานกับเทสโก้โลตัสตั้งแต่ปี 2546 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิจัยลูกค้า ดูแลงานวิจัยลูกค้าของเทสโก้ และเปลี่ยนไปดูแลงานการตลาดด้านแผนงานลูกค้าเมื่อปี 2552 และเข้ารับตำแหน่งด้านกิจการบรรษัท กิจการสาธารณะเมื่อ เดือนกันยายน 2554
“ผมทำงานด้านการวิจัย แล้วก็ดูแลลูกค้า เทสโก้โลตัส ซึ่งตอนนั้นเป็นลูกค้าหลัก จากนั้นเปลี่ยนจากการเป็นเอเจนซี่ก็มาทำงานให้กับเทสโก้โกตัส ในฝ่ายวิจัย จนปัจจุบันอยู่มาเป็นปีที่ 13 โดยล่าสุดได้มาดูแลงานด้านการประชาสัมพันธ์ หลายคนบอกว่าผมเป็นนักบุญเทสโก้โลตัส เพราะผมทำงานดูแลสังคมและชุมชน ผมถือว่าโชคดีที่ได้มาทำงานตรงนี้ เพราะผมก็เป็นคนที่มีจิตอาสา ไม่ค่อยได้ทำบุญ แต่เป็นคนที่ทำทานมาก แล้วสิ่งที่ผมทำก็เข้าใจบริษัทด้วยว่า จ้างเรามาทำอะไร หรืออย่างน้อยการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบนี้ก็เป็นผลบวกให้กับบริษัท แต่ไม่ใช่ทำแล้วได้หน้าอย่างเดียว ตรงนี้อยากให้คนมองด้วยว่าในสิ่งที่เทสโก้โลตัสทำนั้นเป็นสิ่งที่ทำด้วยความจริงใจ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมมีกิจกรรมต่อเนื่อง แล้วสิ่งที่ทำก็สามารถจับต้องได้ ถ้าเราทำบุญอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนของบริษัทก็จะทำให้บริษัทไปได้ไม่ถึงไหน แต่ถ้าทำการค้าอย่างเดียวโดยไม่นึกถึงสังคมบริษัทก็ไปได้ไม่ไกลเหมือนกัน ดังนั้น เราต้องให้ทั้งสองอย่างมาบรรจบกันพอดี ทำให้บางส่วนเรียกผมว่า นักบุญ แต่จริงๆก็ไม่ได้เป็นนักบุญอะไรมากนัก แต่เป็นการนำข่าวดีของทางบริษัทมาบอกกล่าวให้ชุมชนและสังคมได้รับรู้ แล้วชุมชนได้รับในสิ่งที่เราทำด้วย”
จากนั้นแบ่งเวลาด้วยการทำหน้าที่อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยมหิดล ภาคอินเตอร์ ตลอดระยะเวลา 10 ปี “ผมคิดว่าการสอนหนังสือทำให้เราได้พัฒนาตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูดต่อหน้าผู้คน ทำให้เรามีความมั่นใจในการพูด รวมทั้งการใช้ภาษา และทำให้เราต้องอัพเดรทข้อมูลอยู่ตลอดเวลา หลังจากสอนประจำไม่ไหวก็มาบรรยายเกี่ยวกับผู้บริโภค การประชาสัมพันธ์ และการวิจัยตลาด รวมทั้งบรรยายเรื่องของผลตอบแทนเพื่อสังคมให้กับหลายหน่วยงานจำนวนมาก ผมจะปฏิเสธเฉพาะที่ไม่อยู่เมืองไทยเท่านั้น ผมไปบรรยายให้หมด ไปไม่ได้เห็นแก่เห็น แต่ผมไปบรรยายแล้วมีความสุข”
//ทุกมุมชีวิต คือ ความสุข
แม้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบอ้างว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาเวลาออกกำลังกายได้ทุกวัน แต่สำหรับคุณตี๋ไม่ใช่ปัญหาเลย กลับมองว่าอยู่ที่ทุกคนจะวางแผนในการแบ่งเวลาให้กับชีวิตเพื่อมีความสุขอย่างไร “ผมอยู่มุมไหนของชีวิตก็มีความสุขตลอด บางครั้งเจอเรื่องร้ายๆ จนบางคนบอกว่าทำไมถึงมองโลกในแง่ดี(หัวเราะ) จริงๆผมไม่ได้มองโลกในแง่ดี คือ ว่าผมเป็นคนที่ไม่ค่อยทุกข์ เพราะชีวิตเปรียบเหมือนเรากำลังเดินเข้าไปในอุโมงค์ๆหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นดวงไฟเป็นช่วงๆ แล้วเราก็จะไม่รู้เลยว่า ข้างหน้าจะเป็นอะไร เพียงแค่เราหวังว่าข้างหน้าจะดีกับเรามันก็คงจะลำบากนิดหนึ่ง แต่ถ้าเราหวังว่ามันจะร้าย หรือเจอหินเราก็หลบคือทำตัวเองให้หลบไปเรื่อยๆ พอผมตั้งทัศนคติแบบนี้แล้วก็ทำให้ผมไม่ค่อยคิดอะไรมาก
“ไม่ค่อยคิดว่าการสูญเสียอะไรไปจะเป็นความทุกข์ และไม่ค่อยจะดีใจอะไรมากๆกับสิ่งที่ได้มา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันตั้งอยู่แล้วก็ดับไป แม้ว่าผมจะเป็นคนที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องธรรมะมากนัก แต่ผมเป็นคนที่เข้าใจหลักการดำเนินชีวิตที่ว่า หากมีความสุขเข้ามาผมก็จะบอกตัวเองว่า ประเดี๋ยวมันก็ทุกข์ พอบางคนบอกว่าวันนี้วันศุกร์แล้ว ผมก็จะบอกว่า ประเดี๋ยวมันก็วันจันทร์ พอเริ่มวันจันทร์ผมก็บอกว่าเดี๋ยวก็วันศุกร์ พอคิดได้แบบนี้ผมเลยไม่ค่อยมีช่วงชีวิตที่สุขมากๆหรือทุกข์มากๆ ชีวิตเลยค่อนข้างราบเรียบ” นี่เป็นมุมมองชีวิตในดำเนินชีวิตแบบไม่ทุกข์และไม่สุขบนเส้นทางสายกลาง
//การ์ตูน “พัฒนาชีวิต”
ระหว่างเดินชมภายในบ้านของคุณชาคริตพอเข้าไปในห้องน้ำกลับเห็นกองหนังสือการ์ตูนมากมาย “ผมอ่านหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะมาประมาณ 30 ปี ตั้งแต่เขาทำออกมาขายเป็นเล่มใหญ่ๆ ผมก็อ่านอยู่สามเล่ม คือ ขายหัวเราะ มหาสนุก และก็หนูหิ่น เป็นหลักเลย แต่ก็ยังติดตามอ่านข่าวสารจากนิตยสารต่างๆด้วย แต่การอ่านหนังสือการ์ตูนเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้ ขนาดเดินทางไปต่างประเทศก็ยังพกติดตัวไปอ่านด้วยทุกครั้ง
“ถามว่าได้อะไรจากการอ่านการ์ตูน ถ้าเรามองในตรรกะมุมที่เราหัวเราะก็คือมุมที่เป็นความทุกข์ของคนอื่น แต่เราจะไม่รู้สึกทุกข์เพราะไม่ใช่เรื่องของเราเอง พอเรารู้สึกว่าเรากำลังทุกข์ แล้วถามตัวเองว่าครึ่งหนึ่งเราทุกข์ แต่อีกครึ่งหนึ่งเรากลัวคนที่มองเราแล้วจะดูถูกหรือหยามเหยียดเรา แต่พอได้อ่านจากตรงนี้แล้ว มองว่าไม่ใช่ เพราะเขาไม่ได้หยามเหยียดเรา แต่เราเองต่างหากที่กลัวอายคนอื่น ตรงนี้เราก็คิดกันไปเอง แต่คนอื่นเขาอาจให้กำลังใจเรา เหมือนกับเราอ่านเรื่องตลกที่จริงๆมันเป็นเรื่องทุกข์ของคนอื่น ตลกเพราะว่าคนอื่นไม่ได้เครียดไปกับเรา
“ดังนั้น ครึ่งหนึ่งที่เรากังวลว่าคนอื่นจะดูถูกเรา เราก็ตัดตรงนั้นไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจัดการได้ ทำให้เราคิดได้ว่า เรื่องที่เราทุกข์ๆอยู่นี้ จริงๆแล้ว คนอื่นก็มีความสุขด้วยเหมือนกัน ตรงนี้มันเลยทำให้ผมไม่ค่อยมีความทุกข์กับชีวิต จริงๆเรื่องขำๆในการ์ตูนก็เป็นเรื่องจริงของสังคมที่เราได้พบเห็น แต่การ์ตูนเขียนขึ้นมาให้เราไม่ต้องคิดอะไรมากมาย การอ่านการ์ตูนก็เป็นการช่วยเพิ่มมุกตลกให้กับตัวเองในการไปบรรยายที่ไหนก็สามารถนำมาสอดแทรกหรือปรับใช้ให้กลุ่มผู้ฟังนักศึกษาไม่ต้องเครียดหรือน่าเบื่อระหว่างที่ผมไปบรรยาย แล้วทำให้ผมมีมุกไปบรรยายแล้วไม่ซ้ำ(หัวเราะ) หรือถ้าซ้ำก็จะมีมุมมองใหม่ๆ แล้วทำให้ผมดูเป็นคนอารมณ์ดี”
//หลักนักบริหาร “ไม่สร้างศัตรู”
นอกจากนี้คุณชาคริต ยังเป็นคอลัมนิสต์ ให้กับนิตยสาร 3 เล่มกับ 1 บล็อก(Blog) คือ นิตยสาร QM เกี่ยวกับธุรกิจ และการทำหลักการตลาด นิตยสาร เชียงใหม่ธุรกิจ คอลัมน์ รักลูกค้าให้ถูกทาง และนิตยสาร เชนจ์ อินทู และเขียนในบล็อก ของบริษัท เพื่อให้น้องๆในบริษัทได้อ่านกันบ้าง ซึ่งการเขียนหนังสือก็เหมือนได้ทำสมาธิ เพราะจริงๆชีวิตคนเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้มาก แต่เราสามารถเปลี่ยนความคิดตัวเองได้ จากเรื่องหนักๆให้เป็นเรื่องง่ายๆได้”
“การเป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้มีความแตกต่างกันในเรื่องบริหาร ความสามารถในการบริหารทุกคนคล้ายกัน บวกลบซ้ายขวาแตกต่างกันไม่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่นักบริหารจะแตกต่างกันคือ ความเอาใจใส่ลูกน้อง และการเอาใจใส่เรื่องคน สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เราไม่ได้บริหารงานให้ไปเป็นไปได้อย่างเดียว แต่เราต้องบริหารให้ทีมมีความสุขด้วย เพราะการบริหารคนที่เราทำงานด้วยให้มีความสุขนั้นสำคัญมาก เราไม่ได้บริหารงานเฉพาะทีมเรา แต่เราต้องบริหารทีมที่อยู่ข้างๆ หรือเพื่อนที่เป็นคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา แล้วส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากทุกคนในองค์กรไม่ร่วมมือกัน
“ถ้าเราเป็นนักบริหารที่เก่งเพียงแค่งานของเรา หรือแผนกของเรา ดังนั้น ถ้าเป็นนักบริหารที่เก่งจะต้องไม่เก่งแค่งานของเรา หรือแค่งานในแผนกของเรา แต่เราต้องเก่งในเรื่องของคนและมิตรภาพในแผนกของเรา เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นเมื่อไหร่ และเราจะขอความร่วมมือจากคนข้างๆได้เมื่อไหร่ ถ้าเรามีเพื่อนๆหรือรุ่นพี่ในแผนกข้างๆที่นิสัยดี ลูกน้องก็รัก เจอปัญหาอะไรก็แก้ได้หมด ตรงนี้เราจะไม่เครียดเลย เพราะเราจะกล้าโทรหาใครให้เข้าช่วยได้ ผมอยากฝากว่าการบริหารงานทุกคนทำได้ ทุกคนเก่งหมด แต่การบริหารคนมันยากต้องฝึกด้วยตนแอง หากทำได้ก็จะทำให้ผู้บริหารเป็นนักบริหารที่แตกต่างจากคนอื่นจนโดดเด่น และเป็นผู้บริหารที่น่ารัก แม้บางคนหน้าตาไม่ดีแต่คนที่เห็นหรือทำงานด้วยก็รักได้ พอเรามีคนรักแล้ว ขนาดเดินเหยียบกองขี้หมายังเท่เลย(หัวเราะ)”
ก่อนจบการสนทนา “ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย” กล่าวปิดท้ายด้วยข้อคิดอย่างน่าสนใจ “การบริหารงานแบบไม่สร้างศัตรู ไม่ใช่ไปทำร้ายใคร แต่เป็นเรื่องที่ไม่ทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดีกับเรา ผมเลยมองว่าถ้าเราเจอใครเราต้องทำดีกับเขาทุกคน หรือเรานั่งแท็กซี่ก็ต้องคุยดีกับเขา พอลงจากรถก็ขอบคุณเขา รวมทั้งเราซื้อพวงมาลัยจากเด็ก ก็ขอบคุณเขา ตรงนี้ผมมองว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะผมมองว่าชีวิตเราเดินไปอย่าไปสร้างศัตรูเลย แล้วถ้าเรามีสติที่จะไม่ทำร้ายใคร มีอะไรที่ต้องทำเพื่อความถูกต้องก็ต้องบอก เช่น ถ้าเขาบริการไม่ดีก็ต้องแจ้งให้เขาทราบ เพียงแค่อย่าใช้อารมณ์ไปทำให้เขาต้องโดนไล่ออกจากงาน ถ้าเราเดินไปแล้วเจอคนที่ไม่ถูกกันก็พยายามเดินผ่านไป เพราะไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะต้องมาเจอกันอีกหรือเปล่า ชีวิตมันต้องเดินและเจอขวากหนามอีกมาก เรียกง่ายๆคนเรามีบุญกรรมต่างกัน หรือบางคนไม่ค่อยมีมิตรมาก แต่ทำตัวโดดเด่นส่วนใหญ่ก็จะมีคนไม่ชอบ คนๆนั้นก็จะมีขวากหนามมากมาย แต่ถ้าเราเป็นคนที่น่ารักในสายตาคนทั่วไป เราดีกับลูกน้องกับเพื่อน กับครอบครัว เพื่อนบ้าง เราน่ารักกับสังคม เราไปไหนคนก็อยากช่วยเหลืออุปสรรคขวากหนามของเราก็จะน้อยลง ดังนั้น หลักการใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างหนึ่ง คือการไม่สร้างศัตรู เราทำอะไรด้วยความตั้งใจ และอย่าไปคาดหวังอะไรมากก็พอ”