“เกียรติ สิทธีอมร” ชำแหละนโยบายด้านพลังงาน และราคาน้ำมันของไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่?

“เกียรติ สิทธีอมร” ชำแหละนโยบายด้านพลังงาน และราคาน้ำมันของไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่?

 

 

 

 

 

 

CHANGE Live has changed   

เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง  ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม

 

 

อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย  

“เกียรติ สิทธีอมร”

ชำแหละนโยบายด้านพลังงาน และราคาน้ำมันของไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่?

 

 

ล่าสุดที่ผ่านมามีการสรุปวาระการประชุม คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม เมื่อวันที่  4 มีนาคม 2563 มีมติ จากปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานที่ประชุม ดังนี้ เสนอให้ กบง. ปรับลดราคาขายปลีก 50 สตางค์ต่อลิตร จากราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งจะนำเสนอเป็นวาระจร ของการประชุม กบง. ครั้งต่อไป วันที่ 19 มีนาคม 2563 อย่างไรก็ตาม คณะทำงานภาคประชาชน ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การปรับลดราคา 50 สตางค์ครั้งนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่นที่มิมติเห็นชอบร่วมกันทั้งผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงพลังงานและผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชนและทั้ง 2 ฝ่ายจะยังดำเนินการเจรจาการปรับโครงสร้างราคาหน้าโรงกลั่นกันต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และเป้าหมายที่ภาคประชาชนคาดหวัง ที่ 1.32 บาทต่อลิตร และได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าวาระต่อไปไม่ควรจะยืดเยื้อ เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์

 

นโยบายพลังงาน : บทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล  คำถามจาก นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย  พร้อมตั้งคำถาม “ราคาน้ำมันในประเทศไทยเป็นธรรมหรือไม่” จากนี้ไปคือ คำถามและคำตอบเรื่องน้ำมันที่คนไทยควรได้รับรู้!!!

 

 

 

-ราคาน้ำมันของประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่?

“ผมเป็นวิศวกรตั้งแต่ต้น ทำเกี่ยวกับพลังงานมาตลอด สร้างโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าบางปะกงผมก็มีส่วนทำอุปกรณ์ที่นั่น ผมทำงานบริษัทข้ามชาติในเรื่องธุรกิจพลังงานมาหลายสิบปี เรามีความสนใจติดตามสิ่งที่เราเคยรู้ พยายามทำความเข้าใจอยู่กับมันตลอดเวลา แล้วมองว่าในแง่ของนโยบายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีความเห็นอย่างไร เป็นเรื่องถนัดอีกเรื่องหนึ่ง ไปลงลึกตอนไหนเหรอ ตอนที่เป็น ส.ส.ในสภาฯแล้ว เป็นเรื่องที่คนจับเรื่องน้ำมันน้อยเพราะเรื่องที่ซับซ้อนมาก และเป็นเรื่องที่ต้องใจกล้า เพราะกลุ่มทุนที่อยู่ในธุรกิจนี้มีพลังสูงมาก เราต้องเชื่อต้องทำการบ้านให้ดี ต้องดูตัวเลขให้ชัดก่อนที่เราจะพูดอะไรไป ติดตามมาพอเห็นมันผิดปกติ เราก็เริ่มอภิปรายในสภาฯ เริ่มตั้งคำถามผ่านกรรมาธิการ คำตอบที่ได้ยินทำให้เราคิดว่ามันชักไม่ค่อยเข้าท่าแล้ว ไม่ชอบมาพากล เลยติดตามมาต่อเนื่อง

“ติดตามทุกวัน โดยโทรศัพท์ผมจะดังเตือนขึ้นมาว่าราคาน้ำมันโลกเท่าไร ของเราในประเทศหน้าโรงกลั่นราคาเท่าไร ค้าปลีกเท่าไร สิงคโปร์ราคาเป็นอย่างไร เพราะเราอ้างอิงราคาของสิงคโปร์อยู่เรื่อย ราคาตลาดอ้างราคาโรงกลั่นที่สิงคโปร์ตลอด ผมก็ไล่ศึกษาดูว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ตั้งคำถาม พูดง่ายๆ ผมก็ใช้ตัวเลขนี้ ที่ไม่ต้องไปหาที่ไหนตัวเลขจากกระทรวงพลังงาน เช่น ครั้งสุดท้ายที่น้ำมันเราราคาที่ 30 เหรียญต่อบาร์เรล เราขายอย่างไรเท่าไรปี 2543  ครั้งนั้นราคาน้ำมันอยู่ที่ 32-34 เหรียญต่อบาร์เรล ปี 2547 ก็เป็นอีกปีที่น้ำมันดิบก็โหนลงมาอยู่ที่ 34 ถึง 36 ตัวเลขของกระทรวงพลังงานทั้งสิ้น เราก็มาไล่ดูตอนนั้นขายปลีกที่ปั๊มน้ำมันราคาเท่าไร หน้าโรงกลั่นต้นทุนเป็นเท่าไร ก็เอาตัวเลขมาดูเทียบกับปัจจุบัน เราสงสัยเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องตั้งคำถาม พูดง่ายๆ ปี 43 น้ำดิบอยู่ที่ 32 ปี47 อยู่ 33 ถึง 37 ปัจจุบันอยู่ที่ 33 ถึง 34 ณ.ตอนนั้นน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ราคา 16 บาท ปี 47 ก็อยู่ที่ 17 บาทต่อลิตรวันนี้อยู่ที่ 30 บาท เปลี่ยนไปดูราคาน้ำมันดีเซลเพราะคนใช้กันเยอะ คนไทยใช้เยอะที่สุด รถขนส่ง การเกษตรบ้าง ราคาตอนนั้น 14 บาทในปี 43 ปี 47 อยู่ที่ 14. 59 บาท ตอนนี้อยู่ 20 บาท คำถามก็มีอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้น น้ำมันดิบตัวเดียวกันเลยนะ ที่สำคัญกว่านั้นอัตราแลกเปลี่ยน ปี 43 อยู่ที่ 40 กว่าบาทต่อ ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ยังอยู่ที่ 36 บาท หมายความว่าควรจะถูกกว่าปี 43 หรือ 47 ด้วยซ้ำไป

“แต่วันนี้หน้าปั๊มเราราคา 20 บาท ผมติดตามตั้งแต่วันแรกวันที่ราคาน้ำมันลง ลงมาเรื่อยๆ ของเราลงช้ากว่าชาวบ้าน 3 เดือน 6 เดือน ต้องถามว่าเวลาเป็นอย่างนั้นใครได้ใครเสีย ผู้ประกอบการคงได้เต็มๆ ประชาชนก็แบกรับภาระนี้ไป จนถึงวันนี้มันไม่ควรอยู่ที่ 20 บาท ปี 43 นี้ ปตท.ยังไม่แปรรูป ปี 47 ช่วงแปรรูปใหม่ ๆ ตอนนี้แปรรูปเต็มที่แล้ว ซึ่งประชาชนต้องตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมตอนนั้นเก็บภาษีต่อลิตรต่ำกว่า แต่ภาษีที่ต่างกันวันนั้นกับวันนี้ วันนั้นภาษี 3.38 บาท มาปี 47 ก็ 3 บาทเหมือนเดิม ตอนนี้ 5 บาท 60 สตางค์ พูดง่าย ๆ ต่างกัน 2 บาทผมเอา 14 บวกอีก 2 ด้วยแต่ต้องทอนกลับนะ เพราะอัตราแลกเปลี่ยน 10 เปอร์เซ็นต์ของ 14 บาท ก็คือ 1.4 บาท ทอนกลับไปมาต้องอยู่ที่ไม่เกิน 15 บาท รวม 2 ตัวต้องไม่เกิน 15 บาท

“คำถามใครได้ แน่นอนผู้ประกอบการได้ตรงๆ เวลาน้ำมันลงช้าหรือไม่ลง แต่ประชาชนเสียเต็มๆ จนถึงวันนี้ยังไม่ลงสุดด้วยนะ(น้ำเสียงหนักแน่น) ลิตรละ 4 บาท ดีเซลใช้ปีละ 80,000 ล้านลิตร เท่ากับ 3 แสน 2 หมื่นล้านนะครับ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 3 แสน 2 หมื่นล้านมันไปอยู่ในมือใครครับ ที่มันหายไปตรงนี้ คำถามนี้ต้องตอบให้ได้เพราะประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรในประเทศ แล้วทำไมต้องจ่ายแพงกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อก่อนนี้อ้างเหลือเกิน ราคาหน้าโรงกลั่นต้องอ้างอิงสิงคโปร์ ผมไล่ดูมาตลอด เดือนมกราคม หน้าโรงกลั่นของประเทศไทยสูงกว่าสิงคโปร์ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

“มาถึงวันนี้ราคาหน้าโรงกลั่นวันนี้ของไทยสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อย่าไปคิดเป็นบาทดูน้อย แต่ใช้กัน 80,000 ล้านลิตร คำนวณออกมาแล้วเยอะนะครับ อ้างราคาตลาดตลอดทำไม เราโด่งกว่าตลาด คนเราบางครั้งความจำสั้น กรรมการกำกับราคาพลังงานอยู่ไหน มองแค่วันนี้ มองแค่ปีที่แล้ว ทำไมไม่มองย้อนไปบ้างครับ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องตอบคำถาม นายกรัฐมนตรีต้องตอบ กรรมการกำกับดูแลพลังงานต้องตอบ ว่าเพราะอะไรถึงเป็นอย่างนี้ แล้วทำอย่างนี้ใครเสียประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ ต้องเอาให้ชัดครับ เรื่องนี้คือต้นทางของทุกเรื่องในภาคเศรษฐกิจ ราคาขนส่ง ราคาสินค้า ทุกอย่างเลยครับที่เป็นต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและขนส่งไปถึงผู้บริโภคนี่คือต้นทางหมดเลย ทำไมแพง รัฐบาลยุคปฏิรูป ปฏิรูปหน่อยครับ ทิ้งไว้อย่างนี้ไม่ได้ครับ

“ผมมองว่าราคาน้ำมันดีเซลต้องอยู่ที่ 15 บาท หรือ 16 บาทอย่างเก่งผมรวมภาษีให้แล้ว อย่างน้ำมันเบนซิน 95 พอเรามีแก๊สโซฮอลล์ นโยบายคือ ทำราคา 95 ให้สุดโต่งเพื่อส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอลล์ ไม่ว่าอะไรนะ แต่มันสูงเกินไปหรือไม่ 30 บาท กับ 16 บาท และในภาวะที่มันสูงใครได้ใครเสีย ต้องวิเคราะห์ให้ชัดทำไมเมื่อน้ำมันโลกลงมาประชาชนไม่ได้อานิสงส์เต็มเม็ดเต็มหน่วยครับ น้ำมันเป็นเรื่องใหญ่ใช้กันเยอะในประเทศหนึ่ง เงินหายไปหลักแสนล้านบาทนะครับ อยู่ในกระเป๋าใครล่ะครับ แทนที่ประชนจะได้ การแปรรูปมีเป้าหมายว่าคล่องตัวขึ้น ประสิทธิภาพดีขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำลง ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า เป็นระบบของรัฐ จนถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นสิ่งเหล่านั้น เห็นในบางกรณี อย่างเช่นการทำงานของ ปตท.สผ การทำงานของปตท.ก็มีความเป็นเอกชนมากขึ้นไม่เสียหาย แต่เป็นเอกชนก็ต้องดูว่าสู้กับเขาได้หรือเปล่า ถ้าจะเป็นบริษัทเอกชนก็ต้องบอกว่าต้นทุนการบริหารจัดการต่อลิตรเท่าไร ถ้าแพงกว่าเขาต้องพิจารณาตัวเองแล้ว อย่างเช่นกรณีแก๊สธรรมชาติมีกรณีศึกษาของจุฬาฯออกมาเลยว่า ถ้าเมื่อไรตั้งปั๊มโดย ปตท. เองต้นทุน 4 บาทต่อกิโลกรัม แต่เอกชนรายอื่นทำได้ 2 บาทต่อกิโลกรัม จะมาขอ 4 บาทไม่ได้ ต้องบริหารเก่งเท่าเอกชนนะครับ ถ้าพูดถึงราคาแก๊ส ไปอีกยาวเพราะมีปัญหาเหมือนกัน ประเทศไทยโชคดีมีแก๊สธรรมชาติ ถามว่าใครเป็นเจ้าของ ตามกฎหมายไทยทรัพยากรทั้งหมดที่อยู่ใต้ดิน ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของ รัฐ เป็นเจ้าของ ถึงมีการให้สัมปทาน ก็ให้สัมปทานกันไปถ้าผมไปขุดเจอจะทำอย่างไรมีรายได้จะแบ่งอย่างไร

“ที่ผ่านมาสิ่งที่ไม่เคยเปิดเผยเลยเรื่องแก๊สธรรมชาติที่อ่าวไทย และที่อื่นๆ ที่พบ ต้นทุนปากหลุมมีเท่าไร พูดกันในกรรมาธิการ พูดที่ไหนก็ไม่ยอมเปิดข้อมูล บอกว่าเป็นเรื่องความลับทางธุรกิจ เป็นองค์กรของรัฐ ทั่วโลกเขาก็รู้กันหมดข้อมูลนี้เพื่อใช้ในการตรวจสอบ คุณได้สัมปทานไปแล้วคุณได้รับแก๊สไปแล้ว คุณขายคุณบวกกำไรเยอะไปไหม ต้องให้ดูครับ ทราบไหมว่าปากหลุมเฉลี่ยของบ้านเรา แก๊สธรรมชาติที่ปั๊มเราขายที่กิโลกรัมละ 13 บาทกว่า แต่การศึกษาของจุฬาเขาบอกอยู่ที่เฉลี่ย 3 บาท แต่ต้องไปผ่านโรงแยกแก๊ส ปรับปรุงคุณภาพ แล้ว ราคาจะเป็น 13 บาทได้อย่างไรครับ

“ยุคที่พวกผมพ้นวาระไป 10 บาท 50 สตางค์ ก็สูงแล้ว ตอนนี้ขึ้นไปโดยอ้างกลไกตลาด มันต้องมีความเหมาะสมต้นทุนบวกการตลาด ถ้าต้นทุน 3 บาท แล้วค่าบริหาร 7 บาท รับได้ไหมคุณเป็นเอกชน ทำแบบนี้ไม่ได้ แข่งขันกับเขาไม่ได้ และคนที่เสียประโยชน์คือประชาชนที่ใช้แก๊ส พูดพอย่างนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปใช้แก๊ส เพราะมันถูกแล้วไปใช้กันเยอะ รัฐบาลเองต้องมีหน้าที่ไปกำกับดูแลว่าจะให้ภาคส่วนไหนใช้แก๊สธรรมชาติเพื่ออะไร แต่ที่มันสะท้อนคือประชาชนเป็นส่วนน้อยที่ใช้แก๊สธรรมชาติโดยตรง แต่เราใช้ไฟที่ผลิตจากแก๊สธรรมชาติ 80 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยมาจากแก๊สธรรมชาติ และถ้าราคาแก๊สธรรมชาติมันแพงกว่าที่ควรจะเป็น ประชาชนก็จะต้องจ่าค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นไหมครับ ต้นทุนผู้บริโภคทุกคน โรงงานอุตสาหกรรมทุกโรง ผู้ประกอบการทุกรายต้นทุนไฟฟ้ามาจากฐานราคาของแก๊สธรรมชาติทั้งสิ้น

“ต้องตอบคำถามให้ได้ ผมอยากให้เปิดเผยข้อมูล มีการถกเถียงกันไปมาว่าสัญญาสัมปทานจะเป็นอย่างไร ทำไมทราบไหมครับ เพราะประชาชนไม่ไว้ใจ ทั้งรัฐและองค์กรที่เกี่ยวกับรัฐว่าจะโปร่งใส เพราะแค่ถามคำถามว่า ทำไมราคาแพงกว่าชาวบ้าน ก็ไม่มีคำตอบมาตลอด พอพูดเรื่องแก๊สก็ไม่เคยยอมเปิดเผยราคาปากหลุม และเหตุผลเดียวที่ขอขึ้นราคา คือ ตามกลไกตลาด เอาราคาของบ้านเราไปเปรียบกับราคาที่ซื้อขายระหว่างประเทศ คนละเรื่องนะครับ ถ้าเราไม่มีแก๊สในประเทศไทย ทำอย่างนั้นผมไม่ว่าเลยแต่เรามี หลายประเทศที่เขามีทรัพยากรในประเทศ เขาก็เอาราคาต้นทุนของเขาบวกภาษีบวกอะไรไปก็ขายในประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนเขา เขาไม่จำเป็นต้องเอาราคาที่ซื้อในตลาดโลกมาเป็นตัวเกณฑ์ ตะวันออกกลางก็ไม่ใช่ อินโดนีเซีย มาเลเซียก็ไม่ใช่คำอ้างเหล่านั้นใช้ไม่ได้หรอกครับ แล้วขัดกับกฎหมายเราด้วย กฎหมายเราบอกว่าทรัพย์ในดินเป็นของคนไทย เรามีแก๊สอยู่ทำไมคนไทยไม่ได้ประโยชน์ คำถามว่า เราเอาแก๊สไปทำอะไรบ้าง ผมไล่ดูละเอียดยิบ เห็นตัวเลขภาคครัวเรือนขึ้นเยอะมากจากปี 55 จนถึง 59 ทำไมขยับขึ้นเยอะมาก เพิ่มขึ้นเท่าตัว ประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้น ทุกคนใช้ตามความจำเป็นพอบอกแก๊สถูกแล้วใช่ฟุ่มเฟือยไม่มีหรอกครับ ยกเว้นภาคขนส่ง แต่ผมดูแค่ภาคครัวเรือน ผมถามในสภา คำตอบที่ได้คือ มีการลักลอบ เท่ากับว่า การลักลอบใช้เท่ากับที่ใช้ในประเทศ 95 ล้านคนนะ ด้วยเหตุนี้เอง เราถึงต้องนำเข้าคือแก๊ส แอลพีจีใช้ไม่พอ ต้องนำเข้า แอลพีจีสำเร็จรูปมาเพื่อมาชดเชยส่วนต่างนี้ แต่เอาของแพงมาชดเชยพวกลักลอบ แล้วทำไมประชาชนต้องเดือดร้อน คุณจัดการพวกลักลอบไม่ได้หรือ เพราะมีคนได้ประโยชน์หรือเปล่าถึงเกรงใจกันเหลือเกิน ไปดูงบประมาณประจำปีของรัฐบาลมีว่าจะจัดการกับการลักลอบ ลักลอบไปเป็นหมื่นเป็น แสนล้านบาทนะ งบประมาณในการแก้ปัญหาการลักลอบเท่าไรทราบไหมครับ 500,000 บาท เท่านั้นต่อปี

“ผมตั้งคำถามเลยว่า พวกคุณสนใจเข้มงวดกันหรือเปล่าที่จะแก้ไขปัญหานี้กันหรือเปล่า เป็นไปไม่ได้เลยด้วยตัวเลขเท่านี้ ลักลอบผ่านชายแดนนะครับ ขนแก๊สไปเป็นถังใหญ่ยักษ์ ไม่ใช่ว่ายข้ามน้ำไปนะ ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย อีกตัวคือ ปิโตรเคมี ซื้อราคาถูกกว่าประชาชนซื้อเพราะเซ็นสัญญาไว้ 20-30 ปีแล้ว แต่ผลผลิตของปิโตรเคมีขายราคาตลาดเลย น้ำมันราคาไหนก็เทียบเคียงขายกับราคาน้ำมันทั้งสิ้น ทำไมปิโตรเคมีได้สิทธิ์ซื้อของถูกกว่าประชาชนซื้อแก๊สไปหุงต้ม คำตอบเดียวเลยนะครับเซ็นสัญญาไว้นานแล้ว ถ้าสมัยก่อนยุคปฏิวัติ มาตรา 17 ทำสัญญาแบบนั้นควรจับเอาไปยิงเป้าไหม เพราะมันเสียหายครับ เสียหายจนถึงวันนี้ พูดง่ายๆ คือประชาชนซื้อแก๊สหุงต้มแพงกว่าที่ควรจะเป็น ซื้อแก๊สธรรมชาติแพงกว่าที่ควรจะเป็น ซื้อไฟฟ้ากว่าที่ควรจะเป็น เพื่อชดเชยใคร อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ชดเชยพวกลักลอบ ไหวไหมครับ เรามายุคปฏิรูปมีมาตรา 44 ใช้เลยเพื่อแก้ปัญหานี้ ก็จะไม่มีใครว่าอะไร แต่วันนี้ผมยังไม่เห็นคำตอบ ผมยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน แม้กระทั่งยอมรับว่าตัวเลขกระทรวงเป็นแบบนี้”

 

-ตามตัวเลขประเทศไทยเป็นอันดับที่ 24 ของโลกขาก 200 ประเทศในการส่งออกน้ำมัน ส่งออกให้สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ในภาคเอเชีย ?

“แปลกไหมทำไมต้องนำเข้า และไม่พอใช้ใช่ไหมครับ ในอดีตเราก็ต้องมีส่งออกบ้าง เพราะโรงกลั่นเมื่อคุณเอาน้ำมันดิบเข้าไป ก็จะผลิตน้ำมันเครื่องบิน มา 95 และ 91 มาดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันก๊าด แต่ปริมาณที่ได้ไม่สม่ำเสมอและถ้าช่วงไหน อย่างตอนนี้เราเลิกใช้น้ำมันก๊าดแล้ว ใช้น้อยมากเลย ก็ต้องหาที่ส่งออก น้ำมันก๊าดส่งไปที่ไหนมากที่สุด ประเทศเวียดนามยังใช้น้ำมันตะเกียงอยู่ น้ำมันเตาก็ใช้ผลิตเครื่องปั่นไฟในประเทศญี่ปุ่นยังมีเลย แต่มายุครัฐบาลคุณทักษิณ1 เขาบอกประเทศไทยมีศักยภาพเราต้องทำเทรดดิ้ง(trading) ซื้อมาขายไปด้วยคราวนี้สนุกเลย ที่ตัวเลขวิ่งไปที่สิงคโปร์เยอะ ผมเชื่อว่าคนตั้งบริษัทในประเทศสิงคโปร์กันเยอะ ตัวเลขเลยวิ่งไป แต่จริงแล้วมันเป็นหน่วยค้าที่ไปค้าขายประเทศอื่น สิ่งสำคัญแม้กระทั่ง ปตท.เองก็เคยยอมรับว่าเคยไปตั้งที่สิงคโปร์และเป็นบริษัท บีบีไอด้วย เขาเรียกว่าเกาะฟอกเงินไม่เสียภาษี ก็มีคำถามต่อไปว่า ทำไมถึงมีการให้ตั้งตรงนั้น ปกติสิงคโปร์ก็ยอมรับว่าเป็นเทรดดิ้งฮับ(tradinghub) เป็นพื้นที่ดูแลการซื้อการขายกัน ก็มีคำถามว่าเราค้าขายกันด้านพลังงานตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไปเพิ่มตรงไหน ถ้ามันขายของเหลือจากโรงกลั่นที่ไม่ใช้ในประเทศไม่ผิดปกติ แต่ผมเชื่อว่าวันนี้มีมากกว่านั้น เรามีการค้าซื้อชาย เผอิญถ้าผู้ค้าเราไปได้ของถูก แล้วมันมีผู้ซื้อรออยู่ในมือ คือเขาหาไม่ได้ เราก็ทำเทรดดิ้งไปด้วย แต่ก็ต้องกลับมาที่คำถามเดิมว่าใครได้ใครเสีย ส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าองค์กรใน ปตท.ก็ทำ ถ้าไม่กระทบราคาน้ำมันในประเทศไทยผมไม่ว่า แต่เมื่อไหร่เพราะทำตรงนั้นแล้วกระทบกับราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานในประเทศ เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องออกมาชี้แจง ปกติแล้วเราเป็นประเทศที่นำเข้าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งออก

“ถ้าหาพลังงานไม่เจอในประเทศแล้วเดือดร้อน ถ้าเราอยากไปซื้อแก๊ส น้ำมันในราคาตลาดโลกซื้อที่ไหนเขาก็ขาย และ ซัพพลาย(suupply)ในตลาดโลกที่มันมีอยู่ในตะวันออกกลาง จากหลายๆ ประเทศ มีมากกว่าความต้องการของทุกประเทศรวมกัน มีอีกมากมายที่ประเทศเขาไม่เคยมีพลังงานในประเทศและนำเข้าในราคาตลาดก็ทำกันปกติ มีใช้ไม่ขาดแต่จะซื้อราคาเท่าไรเท่านั้นเอง ณ วันนี้ในเมื่อเรามีบางส่วนในประเทศควรเอาต้นทุนตรงนี้มาถ่วงดุลเพื่อให้ประชาชนจ่ายน้อยที่สุด หลายประเทศเขาก็ทำกัน เวียดนามน่าสนใจ เพิ่งกำลังสร้างโรงกลั่นโรงแรกของประเทศ ที่ผ่านมานำเข้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเข้าประเทศด้วย ซื้อดีเซล ซื้อ 91 ซื้อ 95 เข้าประเทศหมดเลยไม่มีโรงกลั่น ถามว่าเขามีพลังงานไหม แก๊สธรรมชาติส่วนหนึ่งเขามีนะทางใต้ นโยบายเขามีว่าตราบได้ที่เขาซื้อได้เขาจะไม่ใช้ของตัวเอง เก็บไว้ให้ลูกหลานซึ่งเป็นนโยบายเขา ของเรานโยบายมีเยอะรีบใช้เลย ใช้กันในรถเลย แก๊สแอลพีจี เป็นผลผลิตจากโรงแยกแก๊ส แอลเอ็นจีไม่เคยใช้นะเมื่อก่อน มียุคหนึ่งบอกเอาไปใช้เลย เสียของครับ เพราะ แอลเอ็นจีคือแก๊สธรรมชาติโดยพื้นฐานเพิ่มมูลค่าได้เยอะ ทำไมต้องรีบใช้

“ถ้าถามความเห็นผม ไม่เห็นด้วยกับการเอาแก๊สธรรมชาติไปเผา ได้เที่ยวเดียวไม่มีมูลค่าอะไรเลย เสียดายว่าน่าจะมีวิธีคิดที่ดีกว่านั้น เราจะมีจะจนเป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม แต่เรื่องพลังงานเราก็ไม่ควรให้ผู้บริโภคมีต้นทุนจ่ายสูงกว่าความเป็นจริง ที่ผมยกตัวอย่างไปมันมาจากนโยบายใช่ไหม และนโยบายเปลี่ยนได้ รัฐบาลเปลี่ยนได้ ไม่ต้องโทษกัน เรื่องนี้ไม่ต้องโทษกันแต่ผมอยากเห็นเราจ่ายตามต้นทุนที่มันแท้จริง บวกกำไรให้ผู้บริหารจัดการบ้าง แต่อย่าโลภ อย่าเอาเกินไป เราก็อยู่ในภาวะที่แข่งกับคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นผลที่เกิดขึ้น เราส่งออกไม่ได้ เพราะอะไรต้นทุนมันแพงกว่าที่ควรจะเป็นกว่าชาวบ้านเขาไหม ผลกระทบไม่ใช่แค่น้ำมัน หรือ แก๊สอย่างเดียวแต่กระทบไปถึงต้นทุนการผลิตทั้งระบบ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปครับ”

 

-ผลประกอบการ ปตท.4 แสนล้าน 5 แสนล้าน?

“สมัยก่อนเราตั้งปตท.ขึ้นมา การปิโตรเลียมแห่งชาติถ้าบอกว่าประสิทธิภาพน้อยมาก แต่ยังไงรายได้ก็ยังกลับประเทศไปเข้ากระทรวงการคลัง ไม่ต้องดูละเอียดยิบ พอไปได้พอเทียบกับเกณฑ์ที่คนอื่นเขาทำได้ก็ไปได้ แต่ ณ วันนี้ไม่ใช่ เอกชนเป็นเจ้าของ ประชาชนผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายย่อยเป็นเจ้าของ 49 หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเอากำไรเกินเหตุโดยผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายให้เกิดกำไรเหล่านั้น สูงเกินเหตุ รัฐบาลต้องทบทวนไหมครับ ไม่ได้ความผิดใครนะครับ ผมย้ำนะครับ เมื่อเกิดขึ้นมาแบบนี้ มันต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นยุคไหนเราก็รู้ ช่วงที่แปรรูปจริงๆ จากปี 43 ไป 47 ยุคนั้น และถ้าแปรรูปแล้วมันเก่งขึ้น ต้นทุนลดลง ประสิทธิภาพดีขึ้น ประชาชนใช้ต้นทุนต่ำลง แต่ ตอนนี้มันไม่ใช่ครับ สมัยก่อนโรงกลั่นผมยกตัวอย่าง ไทยออยล์ ก่อนที่ ปตท.จะเป็นเจ้าของ เมื่อก่อนไทยออยล์เป็นของรัฐวิสาหกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ กระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์กำไรปีหนึ่งร้อยล้านบาท พอแล้ว หรือเอาไปใช้บำรุงรักษาโรงกลั่นให้ดี เดี๋ยวนี้กำไรเป็นเจ็ดพันล้านครับขนาดปรับแต่งบัญชีทำเต็มที่แล้วนะ เมื่อสักครู่ผมโชว์ตัวเลขให้ดู กำไรหน้าโรงกลั่นเมื่อก่อนอยู่ที่ 1 บาท 20 สตางค์ต่อลิตร  ณ วันนี้ 2บาท 63 สตางค์ ตรงนั้นไม่พอ แต่ค่าการตลาดก็สูงขึ้นด้วย จาก 1บาท 50 สตางค์ เป็น 2 บาท 30 สตางค์ ทำไม่ครับ ประสิทธิภาพเราต่ำลงหรือเปล่า เพราะเราแปรรูป และกำไรส่วนต่างไปอยู่ในมือใคร ไม่ใช่ประชาชนแน่นอน ประชาชนเป็นคนจ่าย ผิดปกตินะ เป็นนโยบายที่ต้องปรับปรุงแก้ไขไหม ผมว่าต้องใช่”

 

-มุมมองการปฏิรูปที่ดีควรเป็นอย่างไร?

“จุดเริ่มต้นความโปร่งใสของข้อมูล เปิดเผยให้หมด แก๊สราคาปากหลุมเท่าไร ถามผมรู้ไหม ผมรู้ครับ สัมปทานเท่าไร ผมไม่อยากพูด เดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นโต้เถียง อย่าไปลงรายละเอียด ต่ำกว่า 3 บาท เฉลี่ยกว่าที่ 3 บาทซึ่งเขาอ้างไหม ต่ำกว่าครับ หลายหลุมต่ำกว่าเปิดเผยสิครับ ผมให้ 3 บาท ขาย 10 บาทส่วนต่างมันคืออะไรบ้าง คนเขาจะได้ตรวจสอบได้ จะได้แสดงความเห็นได้ เพราะทรัพยากรตรงนี้ประชาชนเป็นเจ้าของทุกคน มันเริ่มจุดนี้ ถ้าคนเหล่านี้คิดว่าทรัพยากรเป็นของใครก็ได้ คนละตำรา คนละหลักการ คนละความเชื่อแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องคุยกัน แต่ผมเชื่อตามกฎหมายไทยที่เขียนไว้ว่า ของใต้ดินเป็นของรัฐ ซึ่งหมายความว่าต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ตีโจทย์ตรงนี้ให้แตกก็จะได้คำตอบว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

“เคยพูดเรื่องนี้ในสภาประธานก็บอกว่า คุณเกียรติเบาๆ หน่อย(หัวเราะ) มีความรู้เยอะเห็นใจรัฐมนตรีเขาบ้าง อีกครั้งผมก็บอกว่ารัฐมนตรีกรุณานั่งฟังให้จบ อย่าไปไหน เขาก็เดินออกนอกห้อง ผมเรียนประธานไปตามหน่อย เรื่องนี้เรื่องสำคัญ รัฐมนตรีพลังงานต้องตอบ ประธานบอกผมว่าถ้าเขาจะเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องของเขา ซึ่งผมก็ไม่เคยได้รับคำตอบ ผมถามเรื่องลักลอบไม่ตอบเลย ผมถามเรื่องราคาไม่ตอบ ผมถามเรื่องปากหลุมไม่ตอบ คือผมถามเรื่องหนึ่งเขาไปตอบอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ เหมือนหนังคนละม้วนเลย พอผมทวนไปบอกประธานว่าเขาต้องตอบให้ตรงคำถาม ไม่ใช่หาว่าผมถามไม่ตรงคำตอบ ประธานบอกเขาบังคับไม่ได้ ให้ประชาชนตัดสินแล้วกัน การเมืองไทยถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ไหวล่ะครับ ไม่ได้ตอบปัญหาที่เป็นปัญหาของประชาชน ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการทำงาน

“ผมไม่อยากต้องรอกับปัญหานี้ครับ ตอนนี้ถ้าตั้งใจหน่อยและอำนาจมี ทำเลยครับ ต้องตอบคำถามให้ได้ เพราะตัวเลขของกระทรวงทั้งนั้น ผมไม่ได้เอาอะไรมาเลย ถ้าตอบตอนนี้ไม่ได้ ก็ต้องถามว่าแล้วทำอะไรกันอยู่ เป็นปัญหาปากท้องชัดๆ แท้ๆ เลย อย่ารอครับตอนนี้ทำง่ายกว่ายุคไหนๆ เลย การทำเรื่องนี้ต้องขัดผลประโยชน์แน่นอน แต่คุณเข้าไปทำงานเพื่อใคร เพื่อกลุ่มผลประโยชน์หรือเพื่อประชาชน ผมไม่เห็นต้องคิดหลายรอบเลย เรื่องนี้ไม่ต้องทวน วันไหนที่คุณเดินเข้าไปนั่งในตำแหน่งคุณต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คนที่ต้องทบทวนคือผู้ประกอบการที่เอาเปรียบ ต้องละอายใจตั้งแต่วันที่คนเห็นแล้ว หรือตั้งแต่ทำแล้ว ถูกจับผิดจับได้ต้องละอายใจสิครับต้องแก้ครับ”

 

-ถ้าราคาลงจะมีผลกับเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง?

“วันนี้ที่ผมฟัง มีหลายวงการเลย โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวบางรายการพูดว่า น้ำมันลงแบบนี้เศรษฐกิจเราแย่แน่ ขอร้องเลยครับไปเรียนเศรษฐศาสตร์ 101 ใหม่ ต้นทุนการผลิตทุกอย่างมันลดลง ต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนลดลง เศรษฐกิจแย่หรือครับ ไม่รู้พูดเป็นปากเป็นเสียงให้ใคร เยอะครับหลายคนพูดอย่างนั้น นักเศรษฐศาสตร์ใบ้ งง ตำราไหนไม่รู้ เศรษฐกิจมันย่ำแย่กับผู้ประกอบการที่นำเข้าครับ ต้นทุนที่เหลือลดลง มันน่าจะดี สินค้าต้องถูกลง เท่ากับคุณเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน มีเงินเท่าเดิมแต่ของถูกลง กำลังซื้อเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องขึ้นเงินเดือน มันแย่กับเศรษฐกิจตรงไหน ผมไม่รู้คนที่พูดแบบนั้นมีสิ่งจูงใจอะไรผมก็ไม่ทราบ มันจะต้องดีกับประเทศไทย ดีกับประชาชน ดีกับทุกคนลดต้นทุน เพิ่มกำลังซื้อ เงินเมื่อก่อน 500 บาทไปได้แค่อยุธยา แต่นี่อาจไปได้ถึงพิษณุโลก แต่ถ้าตรงนี้ลดแล้วการบริหารจัดการของรัฐบาลไม่ทำให้เกิด การลดลงตามกันของต้นทุนอื่นๆ ซวยอีก ไม่ได้ประโยชน์ในเศรษฐกิจอีก

“จริงแล้วต้องบริหารไปด้วยกันเลยเป็นระบบ กลับไปเรื่องหมูๆ ของผม รัฐบาลประกาศราคาหมูกิโลละ 120 บาท ไปซื้อที่ไหนครับ ผมไปดูมาหลายที่ 150 บาทนี่เก่งมากแล้วค้าส่งเลย ถ้าเรายังหลอกตัวเองโดยการประกาศในสิ่งมันไม่เกิดขึ้นจริงจะมีประโยชน์อะไร ไปตรวจตลาดครับ พาณิชย์จังหวัดมีทุกจังหวัด ไปตรวจกันหน่อยครับเอาตัวเลขมาแลกเปลี่ยนกัน มาหาวิธีแก้ปัญหากัน ตอนนี้การเอาเปรียบผู้บริโภคมีเยอะหลายเรื่อง เรื่องใกล้ตัว บัตรเครดิตจ่ายช้า 2 วันแต่คิดเป็นจ่ายช้าเดือนหนึ่ง โดนคิดดอกเบี้ย 1 รอบบิล สูงเกินไปต้นทุนมันเท่าไร คุณมีคดีทางแพ่งกับผมไม่ว่าสัญญาเขียนอย่างไร ผู้พิพากษาให้การเสียหายตามจริง ตรงนี้ความไม่เป็นธรรมมีเยอะ วันนี้เราไม่ได้พูดเรื่องบัตรเครดิต แต่เราพูดเรื่องพลังงานของประเทศเพราะเป็นเรื่องใหญ่และกระทบกับประชาชนทุกคน ซึ่งฝันของประชาชนจะเป็นจริงไหม ตอบถ้าเขาตั้งใจฟังจะเกิดขึ้นจริง ฟังสักนิดครับ ไม่มีอะไรหลอกเลยตัวเลขจริงทั้งนั้น กรรมการที่อนุมัติราคาต่างๆที่ ออกมานั้นกลับไปถามเถอะครับอนุมัติด้วยพื้นฐานอะไร ทำไมความจำสั้น มองย้อนไปไม่กี่ปีก็เห็นอยู่แล้ว ธุรกิจน้ำมันค่าแรงคนมันอ่อนไหวกับราคาน้อยมาก เพราะว่าราคาสูง ที่บอกในสิบปีค่าแรงคนขึ้นขนาดไหนก็ไม่ใช่”