นักธุรกิจหมื่นล้าน แห่ง อมตะนคร... วิกรม กรมดิษฐ์ “บันได3ขั้น..สู่ความสำเร็จ”

นักธุรกิจหมื่นล้าน แห่ง อมตะนคร... วิกรม กรมดิษฐ์ “บันได3ขั้น..สู่ความสำเร็จ”

 

 

CHANGE Live has changed

เรื่อง : สุทธิคุณ  กองทอง  ภาพ : ชวกรณ์  สะอาดเอี่ยม

นักธุรกิจหมื่นล้าน แห่ง อมตะนคร...

วิกรม กรมดิษฐ์  “บันได3ขั้น..สู่ความสำเร็จ”

ความสำเร็จของ “วิกรม กรมดิษฐ์” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บทบาทการ “นักธุรกิจ” หรือ “มหาเศรษฐี” อันดับต้นๆของเมืองไทย แต่ชื่อเสียงของเขายังเข้าไปมีบทบาทในฐานะนักคิด นักเขียน  มีผลงานตีแผ่ประสบการณ์ชีวิตและความคิดผ่านหนังสือมาแล้วกว่า 19 เล่ม  และมองว่า ความยั่งยืน คือ ความสำเร็จ

 

ที่สำคัญยังเป็นนักพัฒนา ที่ยึดถือแนวคิด “ความพอเพียง”ในแบบฉบับของตนเอง  ดังคำพูดที่ว่า “ผมรู้จักคำว่าพอดี..กับสิ่งที่เป็นตัวตนของผม”  ความสำเร็จในแต่ละก้าวของ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)  ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ  ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ผ่านมาหลายมรสุมทั้งเรื่องครอบครัว และการทำธุรกิจ  แต่ด้วยความมุ่งมั่น บวกความทะเยอทะยานที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง  ด้วยความคิดที่ว่า “หากมีหวัง .. ย่อมมีหนทางเสมอ” 

 

 

= ความฝัน..คือแรงผลักดัน

หลังจากคุณวิกรมเรียนจบระดับชั้นปริญญาตรี โดยก่อตั้งบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้าและ ส่งออก เมื่อปี 2518   ก่อนจะเริ่มบุกเบิกธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)   ปัจจุบันบริหารนิคมอุตสาหกรรมอยู่ 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอมตะซิตี้ และอมตะเบียนหัว ประเทศเวียดนาม  ก่อให้เกิดการลงทุนมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท มีโรงงานเกิดขึ้นกว่า  850 แห่ง และก่อให้เกิดการจ้างงานหลายแสนคน

เขายังบอกด้วยว่า “ความฝัน” คือ จุดเปลี่ยนของชีวิตที่อยากมีการงานที่ดี มีอนาคตที่มั่นคง เป็นแรงผลักดันให้เขาทำสนใจ และอยากทำธุรกิจของตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ และก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ “ความรู้” นอกจากนี้ ความมีระเบียบวินัย  และรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง

“ผมเป็นคนมีวินัย มีความรับผิดชอบ  และชอบมองอะไรข้ามช็อตหรือมองไกล  ความมีวินัย ก็เริ่มตั้งแต่การเรียนหนังสือ ผมเป็นคนตั้งใจเรียนหนังสือแล้วก็สร้างระบบการอ่านการเขียนอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งมีธุรกิจของตัวเอง ความมีระเบียบวินัย ก็มีส่วนช่วยให้กระบวนการมีระบบ”

นอกจากนี้คุณวิกรมยังบอกว่าอีกว่า  ในการทำงานทุกอย่าง  ก่อนจะบริหารสิ่งใด จะต้องเริ่มจากการบริหารตัวเองก่อน  เพราะการบริหารคนอื่น หรือเรื่องอื่นๆให้ได้ดีนั้น  ต้องเริ่มจากการบริหารตัวเองให้มีระบบ ระเบียบ  และมีหลักการ  ประสิทธิภาพในการทำงานจะเกิดขึ้น เมื่อมีการวางระบบที่ดี

“การบริหารงานคน เป็นสิ่งสำคัญ แต่ก่อนที่เราจะไปบริหารคนอื่น จะต้องบริหารตัวเองก่อน และวางระบบในการทำงานให้ดี  เมื่อเราทำงานกับคนอื่นเป็นเวลานานเข้า ก็จะเกิดความเข้าใจและไว้วางใจ  หลังจากนั้นก็สามารถกระจายงานและให้โอกาสพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหาร เราจึงจะสามารถหาคนที่มีความสามารถและไว้ใจได้มาร่วมบริหารจัดการองค์กรได้”

 

= น้ำใจ...ซื้อใจ

อย่างไรก็ตามการให้ “โอกาส” เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะดึงศักยภาพของพนักงานออกมา ในการทำงานนั้น นอกจากองค์กรจะต้องการ “แรงกาย” และ “สมอง” ของพนักงานแล้ว  วิกรมยังต้องการ “ใจ” จากพนักงานด้วย  ก่อนจะได้สิ่งนี้มา ผู้บริหาร หรือองค์กร จะต้องมี “น้ำใจ”ให้กับพนักงานก่อน

“การที่จะให้คนมาทำงานกับเรานั้น ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราต้องมีน้ำจิตน้ำใจกับพวกเขาเหล่านั้นทุกคน ทั้งระยะสั้นในเรื่องของเงินเดือน หรือระยะยาวในเรื่องอนาคตของเขา  ถ้าเราปฏิบัติกับเขาดี เรามีน้ำใจกับเขา แล้วบอกให้ทุกคนเข้าใจว่า เรามีเป้าหมาย หรือมีนโยบายอย่างไร ทุกคนก็ยินดีมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา แล้วเขาก็ปรับตัวเดินทางไปข้างหน้ากับเราได้ "

ปัจจุบันมีพนักงานจำนวนมากที่อยู่กับกลุ่มบริษัทอมตะจนกระทั่งเกษียณ  และมีอีกจำนวนไม่น้อย ที่หลังจากเกษียณไปแล้วยังมากลับช่วยงาน หรือมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท    คุณวิกรม  บอกว่า “หลายๆคน ที่หลังเกษียณอายุการทำงานไปแล้ว จะรู้สึกว่าตัวเองหมดคุณค่า  สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นที่อมตะ เพราะพนักงานของที่นี่ จะสามารถทำงานต่อไปได้อีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว ที่สำคัญเขาเป็นคนที่อยากทำงานกับเราไปจนทำงานไม่ไหว เพราะเราเข้าใจ และมีน้ำใจกับเขา เขาจึงรัก และมีน้ำใจตอบกลับเรา

“ไม่เพียงเฉพาะพนักงานในบริษัทอมตะเท่านั้นที่เขาให้ความสำคัญ แต่ยังรวมไปถึงคนทำงานที่อยู่ในโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งในกลุ่มอมตะด้วย ซึ่งมีอยู่กว่า 3 แสนคน  แม้กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือเป็นพนักงานของอมตะโดยตรง แต่ก็ควรได้รับการดูแลเท่าที่อมตะจะสามารถจัดการให้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี รวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองที่สมบรูณ์แบบ

“ การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อลดต้นทุนให้กับคนที่ทำงานที่อยู่ในอมตะทุกๆคน      อันนี้เป็นสิ่งที่เรามีการปรับเปลี่ยน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เชื่อว่าหลายๆอย่างจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้อุตสาหกรรมอยู่คู่กับสิ่งแวดล้อได้  ซึ่งจะทำให้เกิดความพัฒนา หรือการเติบโตอย่างยั่งยืน  ในการทำธุรกิจ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ เราไม่สามารถคิดถึงแต่ผลประโยชน์ในด้านเดียวได้  ต้องรู้จักที่จะให้กลับคืน”

 

=บันได3ขั้น..สู่ความสำเร็จ

คุณวิกรมบอกว่า การทำธุรกิจ ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ละคนแต่ละกิจการย่อมมีแนวทางที่แตกต่างกัน แต่มีแนวทางที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือคนที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง ใน 3 ข้อ  หรือ 3 ขั้น

ในขั้นแรก ก่อนจะเริ่มทำสิ่งใดนั้น ต้องเริ่มจากตัวเอง ต้องค้นหาตัวเองให้เจอว่า ตัวเองมีจุดดี จุดเด่นอย่างไร รวมถึงต้องศึกษาว่าตัวเองมีจุดเสียอะไรด้วย เพราะการที่เราเข้าใจตัวเอง รู้จักตัวเองอย่างถูกต้องว่า เราถนัด ชอบ หรืออยากทำอะไรต่อไป จะทำให้เราเห็นทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ขั้นที่สอง หลังจากเราค้นพบ หาคำตอบให้ตัวเองแล้วว่า เราจะทำอะไร  ขั้นต่อไปต้องมองว่าเส้นทางที่จะเดินไปนั้น มีตลาด หรือความต้องการหรือไม่ มีคนต้องการหรือไม่

“หากเราเห็นโอกาส และดูแล้วว่าตลาดมีอยู่ จะนำไปสู่การพัฒนาได้ หลายคนที่ประสบความสำเร็จก็เริ่มมาจากตรงนี้ เช่น บิล  เกตส์  เขาเป็นคนที่เข้าใจและรู้จักตัวเอง ว่าเขาชอบเล่นคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่บิล เกตส์ ทำนั้นก็มีตลาดมากมาย  เพราะคนทั้งโลกใช้ซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์สิ่งที่บิล เกตส์ ได้ก็คือ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด และชอบทำ นั่นคือ การเขียนซอฟท์แวร์ และมีตลาดรองรับ”

ขณะเดียวกันซอฟท์แวร์ที่ “บิล เกตส์” เขียนมา เป็นซอฟแวร์ที่มีเหตุผล เหมาะสมกับตลาด ใช้งานได้แพร่หลาย และกว้างขวาง ทั้งการใช้งานส่วนตัว การใช้งานในสำนักงาน หรือองค์กรต่างๆ ตลาดมีอยู่ทั่วโลก   ฉะนั้นถ้าตัวเองทำอะไรออกมาแล้วสามารถขายได้ มีคนสนใจ  มีสนใจ นี่คือบันไดขั้นที่ 2

 

=ความยั่งยืน..คือความสำเร็จ

ส่วนขั้นที่สามนั้น คือการเลือกธุรกิจที่ยั่งยืน เป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ควรทำธุรกิจที่ตัวเองได้ แต่คนอื่นต้องเสีย ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งในภายหลัง แต่หากทำธุรกิจแบบที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่อาจจะมากน้อยต่างกัน หรือธุรกิจที่ “Win-Win”  จะทำให้ทุกคนอยู่ได้ ทำให้ธุรกิจมีความมั่นคง และยั่งยืน

“เราไม่ควรทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่เราได้แล้วคนอื่นเสีย อย่างนี้ไม่ควรทำ ถ้าเกิดว่าเราเป็นลักษณะแบบได้กับได้ ก็หมายถึงว่าเรานั้นได้ประโยชน์ ประสบความสำเร็จ คนข้างๆ คนอื่นๆ ลูกค้าเรานั้น ก็ได้เงื่อนไขที่เป็นแบบเราเหมือนกัน เรียกว่าได้ประโยชน์ ได้ความสำเร็จ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และก็มีความสบายใจ ถ้าอย่างนี้ เรียกว่า ได้กับได้ ซึ่งก็กลายเป็นร่วมมือกับใครก็แล้วแต่ เราก็จะไปกันด้วยดี ไม่กังวล ไม่พะวงว่า จะเกิดปัญหาขัดแย้งกันทีหลัง เพราะทุกคนนั้นมีได้กับได้”

ก่อนจบการสนทนาครั้งนี้ “กรม กรมดิษฐ์” กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า  “การเดินทางไปสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องเงินทองอย่างเดียว ความสำเร็จคือ การทำให้ทุกคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน มีความสุขและพึงพอใจในสิ่งที่เราทำไปด้วยกัน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าถูกต้อง เป็นความสำเร็จ เพราะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน "