ย้อนอดีตบ้านสงครามโลกครั้งที่ 2 นพปฎล พหลโยธิน “บ้านแห่งความผูกพัน”
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์
แต่งหน้า : วิโรจน์ ชมแค ทำผม : วรพงษ์ พลเวียงคำ
ย้อนอดีตบ้านสงครามโลกครั้งที่ 2
นพปฎล พหลโยธิน “บ้านแห่งความผูกพัน”
เปิดบ้านแห่งความผูกพันที่เรียบง่าย อยู่ใจกลางเมือง ของทายาท “พหลโยธิน” นักออกแบบสัญชาติไทย แต่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่เคยมีผลงานออกแบบในหลายประเทศ
สัมผัสตัวตนของดีไซเนอร์คนดัง อู้-นพปฎล พหลโยธิน นักออกแบบไทยที่มีผลงานโดดเด่นมากมาย เปิดบ้านสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่านสุขุมวิท พร้อมบอกถึงเคล็ดลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต
//// บ้านสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ย้อนประวัติของตระกูลพหลโยธิน คุณอู้ เล่าว่า คุณทวด หลวงสาลียากรพิพัฒน์ (เชษฐ์) พหลโยธิน ซึ่งเป็นพี่ชาย พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย เป็นบุตรของ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 5 ปี 5 เดือน 21 วัน ยังได้รับสมญานามว่า เชษฐบุรุษ ด้วย
ทายาทพหลโยธินเล่าถึงบ้านหลังนี้ของครอบครัวว่า เป็นบ้านที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากสมัยก่อน ตระกูลพหลโยธิน จะอาศัยอยู่ในย่านเกษรและเซ็นทรัลเวิลด์ สมัยที่คุณปู่ (กมล พหลโยธิน) คุณย่า ย้ายมาอยู่ซอยสุขุมวิท 30 ที่ยังเป็นทุ่งหญ้าทุ่งนาทั้งหมดเลย ซอยที่คุณปู่คุณย่ามาปลูกเพิ่ง มีการปลูกบ้านอยู่ประมาณ 4 หลังเท่านั้น นอกนั้นจะเป็นป่า และมีต้นก้ามปูต้นใหญ่ บริเวณโดยรอบยังเป็นท้องนา แล้วยังมีดอกบัวด้วย บ้านหลังเก่าที่เห็น น้องชายคุณปู่ ซึ่งเป็นสถาปนิก เป็นผู้ออกแบบ เป็นบ้านที่ออกแบบสไตล์ยุโรปที่มีการประยุกต์ให้เข้ากับเมืองไทย โดยมีความทันสมัยมาก ติดแอร์แบบบิลด์อินที่คุณปู่สั่งมาจากอเมริกา ด้านใต้ถุนก็มีเซลล่าร์เก็บไวน์เหมือนพวกตะวันตกมาก และช่องประตูทางเข้าออกมีลมพัดผ่านตลอด
“ผมอยู่บ้านหลังนี้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ อยู่กันแบบบ้านสมัยโบราณ คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าที่นี่มีเหมือนคอกม้า มีสวนกล้วย สวนมะพร้าว เพราะคุณย่าชอบทำสวนมาก ก็อยู่กันอย่างอบอุ่น เพราะในอาณาเขตนี้มีบ้านอยู่รวมกันถึงสี่ห้าหลัง มีคุณทวด คุณอา น้องชายและน้องสาวพ่อ ก็อยู่กันอีกคนละหลัง ที่นี่สมัยนั้นยังมีสนามหญ้า ผมยังได้วิ่งเล่น เรียนว่ายน้ำก็เรียนตรงสระที่อยู่บริเวณหน้าบ้าน สังเกตว่าบ้านสมัยก่อนจะสร้างสระแบบนี้เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย
“ส่วนบ้านในความหมายของผม บ้านความหมายของคนไทย จะไม่แบ่งแยก ถ้าเป็นของฝรั่ง House ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างอะไรขึ้นมา แต่ถ้าเป็น Home เป็นอะไรที่เราใช้ชีวิตอยู่ในบ้านจริงๆ บ้านเป็นอะไรที่เราอยู่และเติบโตที่นี่ พ่อก็เกิดที่นี่ และพ่อแม่ก็แต่งงานกันที่นี่เหมือนกัน มันมีประวัติความเป็นมาที่ทำให้เป็น Home ในชีวิตของผม บ้านหลังนี้จึงมีความผูกพันกับผมตั้งแต่เล็กจนโตเลย” เขาอธิบายถึงความหมายและความผูกพันของบ้านหลังนี้
// เปลี่ยน “เก๋งจีน” ให้เป็นบ้าน
เดินออกมาจากบ้านของคุณปู่ก็เป็นบ้านพักของคุณอู้ ที่ก่อนหน้านี้ถูกสร้างไว้เป็นเก๋งจีน สร้างด้วยไม้สูง 5 ชั้น เป็นทรงแบบ Pagoda ส่วนด้านบนก็จะเอาไว้เก็บแท็งก์น้ำ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องปั๊มน้ำ ตรงนี้เป็นเก๋งจีนที่ขึ้นบันไดวนไปแล้วจะได้เห็นวิวทั่วๆ ไป ดูแล้วก็สนุก ตรงนี้เป็นสิ่งที่คุณปู่คุณย่าทำไว้ กระทั่งกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสองบ้านในลักษณะโมเดิร์น ชั้นล่างตกแต่งเป็นห้องรับแขก มุมรับประทานอาหาร ระหว่างบันไดถูกตกแต่งด้วยของเก่ามากมาย และชั้นสองเป็นห้องนอนที่เรียบง่าย
“ตอนอายุ 10 ขวบ ก็ไปเรียนอยู่เมืองนอกแล้ว โดยไปเรียนวิชาสถาปัตยกรรมที่ The Bartlett School of Architecture ในลอนดอน เรียกว่า 30 ปีอยู่ต่างประเทศตลอดเลย แล้วเพิ่งกลับมาอยู่เมืองไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้พอกลับมาสักครั้งหนึ่ง คุณแม่ก็อยากให้ลูกได้มีที่พักดีๆ สักหลังหนึ่ง คุณแม่เลยให้สถาปนิกชาวเยอรมันออกแบบ บ้านหลังนี้เลยถูกออกแบบมาเหมือนเป็นห้องสวีตของโรงแรม สังเกตให้ดีจะไม่มีครัว ตู้เย็นอะไรเลย เพราะเรื่องอาหารการกินก็จะใช้รวมอยู่กับบ้านใหญ่ เลยถูกสร้างเป็นสองหลังติดกัน เป็นของผมกับพี่ชาย พอพี่ชายเสียชีวิตไปแล้ว ห้องพี่ชายเลยเอาไว้รับรองแขก และเป็นมุมโปรดที่ผมชอบมานั่งเล่นและทำทุกอย่างในห้องนี้ เพราะอีกห้องที่ติดกัน กลางวันแดดส่อง ต้องปิดมูลี่ มองอะไรไม่ได้เลย จะร้อนมาก แต่ห้องนี้ที่เป็นบ้านของพี่ชาย มองออกไปจะเห็นสระน้ำ เห็นต้นไม้ท่ามกลางธรรมชาติที่เป็นสีเขียว ทำให้เราสบายตา” เขาเล่าถึงมุมส่วนตัวที่ให้ความสุขทั้งใจและกายภายในบ้านสร้างสุข
// บ้านพักสไตล์โมเดิร์น
บ้านหลังนี้ออกแบบเรียบง่ายสไตล์โรงแรม โดย อ.สเตฟาน ชลาว สถาปนิกชาวเยอรมัน ตกแต่งด้วยของสะสมที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยคุณอู้เด็กๆ แล้ว เพราะเขาเป็นคนชอบเดินทาง ชอบไปลาว พม่า ไปตั้งแต่ยังไม่เปิดประเทศ เที่ยวตามเกาะอินโดนีเซีย อินเดีย เที่ยวตั้งแต่พระราชวังยังไม่กลายเป็นโรงแรมห้าดาว พอไปแล้วก็จะซื้อโน่นซื้อนี่เก็บมาเป็นของสะสม ของที่ระลึกในการเดินทาง ก็เลยจะเห็นว่ามีของสะสมเยอะมากทั้งสองบ้านเลย
“อ.สเตฟาน ชลาว สมัยที่ผมเรียนอยู่ลอนดอน เขาก็เคยสอนผมทางด้านดีไซน์ แล้วอาจารย์ก็ย้ายมาอยู่เมืองไทย มาเกษียณอยู่ที่นี่ พอดีรู้จักกับคุณแม่เลยให้มาออกแบบที่นี่ให้ ตอนผมมาบ้านหลังนี้ โครงสร้างก็เสร็จหมดแล้ว ผมก็แค่เลือกสีเรียบๆ สบายตา อย่างพรมก็ไปเที่ยวโมร็อกโก อินเดีย เจออะไรก็จะซื้อมา ที่บ้านหลังนี้มันเลยเหมือนเป็นที่เก็บของ กึ่งๆ โรงแรม สำหรับบ้านจริงๆ ที่อยู่มากกว่าที่นี่จะอยู่ประจวบฯ พอมาทำงานให้กับ จิม ทอมป์สัน ก็เลยต้องเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ บ่อยมากขึ้น พอกลับไปก็ได้ไปอยู่บ้านแบบเงียบๆ สบายๆ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์” เขาเล่าถึงบ้านพักที่ประทับใจ สะท้อนจิตวิญญาณตามวิถีเซน และความไม่หยุดนิ่งของคนที่ชอบชีวิตทันสมัย
// ดีไซเนอร์ไทยระดับโลก
ปัจจุบันคุณอู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ จิม ทอมป์สัน โดยก่อนหน้านี้มีผลงานสร้างสรรค์ที่โดดเด่น ปี ค.ศ. 1995-1998 ได้รับรางวัลการออกแบบหลายรางวัล ทั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น และออกแบบเก้าอี้ HK1 เพื่อร่วมฉลองการคืนเกาะฮ่องกง และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเก้าอี้ต้นแบบและเก้าอี้หายากของศตวรรษ รวมทั้งเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลอังกฤษ ในการตกแต่งพื้นที่ 1 ชั้น ของตึก Canary Wharf สำหรับการประชุมซัมมิท ปี ค.ศ. 2002 ออกแบบเครื่องสุขภัณฑ์ให้กับ บริษัท Nahm ปี ค.ศ. 2003 ออกแบบคอลเลกชั่นใหม่ของ “Ocean Glass” ชื่อชุด “Time” และมีไลฟ์สไตล์ชอบการผจญภัย ทำอาหาร นิตยสารที่ขาดไม่ได้ “Octane” เป็นหนังสือรถแข่ง
สำหรับคุณอู้ถือเป็นนักออกแบบสัญชาติไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ได้โชว์ฝีไม้ลายมือผ่านผลงานออกแบบสารพัดประเภท นับตั้งแต่คลับ ร้านอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ไปจนกระทั่งถึงแก้วเบียร์ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา “ตั้งแต่เด็กเป็นคนรู้ตัวเองว่าชอบครีเอต แล้วจบมาก็ยังไม่ได้เป็นนักออกแบบ ได้ไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งทอในสตูดิโอที่สอนงานสิ่งทอแบบญี่ปุ่น ในเมืองฟลอเรนซ์ รวมทั้งฝึกทักษะการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ Kingston University และฝึกการผลิตที่ Les Ateliers ในปารีส จนกระทั่งอายุ 29-30 ปี เริ่มรู้สึกว่ามาถูกทางตามที่เคยฝันเอาไว้ สิ่งที่ได้ออกแบบมา ดีใจ ภูมิใจที่ได้ทำ และลูกค้าพอใจ เพราะได้เห็นเขาชื่นชมในผลงานของเรา ผมก็มีความสุข มันเลยมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่า เพราะทำงานดีไซน์เป็นอะไรที่ยากมาก กว่าที่จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจ เพราะผมเป็นคนที่คิดอยู่ตลอดเวลา คิดไปเรื่อยๆ ก่อนนอนก็นึกถึง ตื่นมาก็นึกถึง จิตไม่เคยสงบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราทำในสิ่งที่เราชอบ เราอยากทำ พอทำอะไรที่ชอบก็เกิดแรงบันดาลใจได้ไม่ยาก งานที่ทำออกมาก็มีความจริงใจ
“สิ่งที่ทำให้ได้เป็นดีไซเนอร์ที่ดังระดับโลกแบบนี้ ถามผม ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) ตรงนี้อยู่ที่ดวง และจิตใจที่รักมันพาไป ซึ่งมันต้องอาศัยพรสวรรค์อะไรบางอย่างที่พ่อแม่หรือพระเจ้าที่ให้เรามา แต่ผมทำได้ประมาณสิบปี มีความรู้สึกมันเกินที่จะอิ่มตัว มันจุกเลย (หัวเราะ) ที่สุดก็เออร์ลี่ออกมา ส่วนปีสุดท้ายก่อนที่จะเออร์ลี่ มีโปรเจกต์ที่ แอลเอ เคปทาวน์ เซาท์แอฟริกา และก็มีที่ยุโรป แล้วยังบินไปบาร์เซโลนา ปีละ 20 ครั้ง เพราะมันใกล้ลอนดอน ไหนจะมีงานที่ญี่ปุ่น และลูกค้าที่เมืองไทยก็มีอีก รวมทั้งลูกค้าหลักๆ ที่ลอนดอน เรารู้สึกว่าตัวเองปั่นป่วนมากเลย บางครั้งจะส่งงานก็ต้องไปส่งเอง”
ก่อนจบการสนทนา “นพปฎล พหลโยธิน” ปิดท้ายถึงคนมีฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ “ผมอยากบอกว่า ทำอะไรต้องทำในสิ่งที่เชื่อมั่นว่าอยากทำจริงๆ เริ่มด้วยการที่จะต้องไม่เดินตามรอยใครเลย ตัวเองจะต้องสร้างรอยให้กับตัวเองที่เป็นทางของตัวเอง และต้องมั่นใจในสิ่งที่ทำ ให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงาน จะทำให้งานออกมาเป็นธรรมชาติ”