มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข “พอได้ทำก็มีความสุข”

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข “พอได้ทำก็มีความสุข”

 

CHANGE Live has changed

เรื่อง : สุทธิคุณ  กองทอง  ภาพ : ชวกรณ์  สะอาดเอี่ยม  

แต่งหน้า : เกตน์สิริ  บุญแปง  สถานที่ : โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

 

ชีวิตที่เปลี่ยน....

ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข   “พอได้ทำก็มีความสุข”

 

จากอาชีพ นักข่าว-นักการเมือง-นักธุรกิจ ชีวิตที่เปลี่ยนกับบทบาทใหม่  “มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” นักสังคม(ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน) ตลอด 9 ปี จนได้รับฉายา "นางฟ้าของชนเผ่าม้ง"  พร้อมยืนยันว่า “พอได้ทำก็มีความสุข”

 

จากความฝันกับอาชีพนักข่าวตั้งแต่ชั้น ม.2 ของ “ติ่ง” หรือ"มอลลี่"มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่พิชิตความฝันได้สำเร็จ  จากนั้นก้าวสู่สนามการเมือง ในตำแหน่ง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งผลให้เธอผันตัวเองมาทำงานเพื่อสังคม ในฐานะ ประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน

 

//มูลนิธิฯ เพื่อประชาชน

เธอเป็นคนจังหวัดพะเยา เป็นอดีตนักกีฬาจักรยานทีมชาติ3 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนท่าฟ้าใต้ โรงเรียนปงรัชดาภิเษก โรงเรียนพะเยาพิทยาคม จบปริญญาตรีคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบปริญญาโทวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และกำลังศึกษาปริญญาเอกสาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ การเมืองมหาวิทยาลัยรังสิต มัลลิกาทำงานด้านผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศข่าว และพิธีกร รายการสน. ไอทีวีรายการร่วมมือร่วมใจรายการไอทีวีทอล์ควาไรตี้ สถานีโทรทัศน์ไอทีวี "ช่วงไอทีวีเป็นช่วงที่ทุกคนต้องรู้จักเธอ" ต่อมาได้ลาออก และลงสมัครในโดยรับการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 สังกัดพรรคมหาชนและในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์และการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยทั้งหมดเป็นการลงสมัคร ส.ส.ในเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา แต่ไม่ประสบความสำเร็จในเลือกตั้ง

 

ประสบการณ์ที่ผ่านมาของการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่ได้ช่วยเหลือสังคม ที่โดดเด่นมากคือช่วงทำรายการสน.ไอทีวี และร่วมมือร่วมใจ ขนาดที่ประชาชนที่เดือดร้อนเหมารถบัสกันมาจากอีสานเพื่อมาพบถึงสถานีและเธอนั่นเองที่ประสานผู้บังคับการกองปราบปรามรับแจ้งความประชาชนในเวลาเดียวถึง 100 ราย ทั้งช่วยเหลือทั้งให้คำปรึกษาทั้งหาช่องทางกฏหมายดูแลประชาชนเดือดร้อนและเป็นเธอเช่นกันที่เป็นโปรเจคเมเนเจอร์ทำโครงการออกหน่วยอาสาพร้อมกับสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลบ้านแพ้วไปช่วยผ่าตัดต้อตา รักษาโรค แจกยารักษาโรคและแจกผ้าห่มเสื้อผ้ากันหนาวในชื่อโครงการสน.ไอทีวีต้านภัยหนาวและต่อมาเปลี่ยนเป็นร่วมมือร่วมใจต้านภัยหนาวเป็นเวลา 6 ถึง 7 ปี จึงเป็นที่มาของการผันตัวมาก็ตั้ง"มูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน"หลังการลาออกจากไอทีวี 

“พอดีช่วงที่ไอทีวีเปลี่ยนรูปแบบจากสถานีข่าวมาเป็น ทีวีเพื่อสังคม แล้วได้มารับผิดชอบทำรายการให้กับคำปรึกษาและช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ  จนกลายเป็นประสบการณ์ที่สะสมเลยมาเปิดเป็นมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชนแล้วดำเนินการมาหลังจากออกจากไอทีวีจนมาถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปีกว่าแล้ว เป็นงานที่เราถนัดทำแล้วมีความสุขถ้าเรื่องที่เราช่วยมันสำเร็จแล้วยังเป็นความภาคภูมิใจ

 

“เวลาทำงานได้เงินมาปกติก็ทำบุญอยู่แล้วแต่มัลลิกาทำคือส่วนหนึ่งก็มาทำบุญมูลนิธิฯของเราเอง มูลนิธิมัลลิกาฯจะมีโครงการทุกปี เป็นส่วนหนึ่งของงาน เช่นปีก่อนนั้นก็ทำโครงการผ่าตัดต้อตาที่จังหวัดพะเยา 200 กว่าราย ปีที่แล้วทำโครงการแจกผ้าห่มเสื้อผ้ากันหนาวให้กับเด็กโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนที่จังหวัดราชบุรีและบ่อยครั้งจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้พิการหรือสมาคมผู้พิการโดยทางมูลนิธิมัลลิกาฯก็จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนพาเขาเข้าไปให้เข้าถึงหน่วยงานของภาครัฐเป็นปากเป็นเสียงแทนให้เช่นล่าสุดเรื่องพาสมาคมผู้พิการที่เดือดร้อนจากโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลไปพบรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาให้เขา ส่วนที่สอง จะเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ให้ โดยมีอาจารย์วันชัย สอนศิริ มาเป็นประธานที่ปรึกษาช่วยประชาชน เช่นใครมีปัญหาข้อกฎหมาย เราก็จะส่งทนายไปช่วย ประสานสภาทนายความ แล้วเราก็จะคอยให้คำแนะนำและประสานงานให้ ส่วนที่สาม จะเป็นโครงการอย่างที่กล่าวมาจะเป็นการผ่าตัดต่อตา ก็จะทำปีเว้นปี โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และองค์การเภสัชกรรมมาช่วยกัน” โดยทำหนังสือขอความร่วมมือทุกครั้งที่ทำโครงการ ไม่เพียงเท่านี้ล่าสุดเธอยังทำหน้าที่เป็นประธานชมรมนักรบไซเบอร์ Fight Bad Web (ขจัดเว็บหมิ่นผิดกฎหมาย) จนได้รับฉายาหัวขบวน "นักรบไซเบอร์" ที่มักจะมีดราม่าจากคนที่ต่อต้านบ่อยครั้งบนโลกไซเบอร์

 

//9 ปีแห่งภูมิใจ

คุณมัลลิกา เล่าต่อว่า กิจกรรมที่เราทำนั้นทำเท่าที่พอจะทำได้ ทำตามกำลังทรัพย์ที่เรามี ตลอด 9 ปีกว่าที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ ถ้าจะมองว่าสำเร็จตามเป้าหรือไม่นั้น  ต้องบอกว่า เราทำไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีแล้วเราพอที่จะทำได้ เพราะเราไม่ได้มีกำลังทรัพย์มหาศาล และไม่ได้ระดมเงินบริจาค ตรงนี้ล่าสุดก็ใช้เงินของสามี(หัวเราะ) คือเราก็ใช้เงินของเราที่พอจะนำมาช่วยเหลือสังคมได้ ถ้าปีไหนเราทำโครงการก็มีบ้างก็มีเหมือนกันพี่บางโครงการเราหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนหลายโครงการที่ผ่านมาเคยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน,เมืองไทยประกันชีวิต,ธนาคารอิสลาม,องค์การเภสัชกรรม,บริษัทชุดชั้นในชายเจเพลส อย่างนี้เป็นต้น แต่รายการใช้จ่ายประจำเดือนถ้ามีก็จะเป็นผู้สนับสนุนหลักคือคุณมัลลิกาและสามี (ณัฐพล มหาสุข) ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่

 

“เพราะเราเองก็รับผิดชอบงานหลายอย่าง ทั้งภาคธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการทำงานภาคการเมืองมัลลิกาก็ทำกิจกรรมต่อเนื่องอยู่ส่วนกิจกรรมด้านมูลนิธิฯเราก็ไม่ละทิ้ง คนนึกถึงเขาก็มาหามาให้ช่วยมีบ่อยๆ มีเวลาก็จะทุ่มให้กับงานสังคมอย่างเต็มที่ถือว่าเป็นการทำความดีทำกรรมดี เป็นการทำบุญ ท่าบริหารจัดการเวลาดีเราก็มีเวลาเหลือเฟือในชีวิตๆ จริงๆเราก็เหมือนคนไทยทุกคนพอได้อิ่มเอมกับการทำบุญ พอได้ทำงานเพื่อสังคมเราก็มีความสุขใจแล้ว เพราะบางเรื่องเป็นความทุกข์ของเขา เราก็แค่เข้าไปใส่ใจและแก้ปัญหาให้กับเขา  มันก็เหมือนเราเป็นสะพานเพื่อแก้ปัญหาให้พวกเขาหมดทุกข์ได้”

 

//ผ่อนคลายด้วยกีฬา “ยิงปืน”

ที่ผ่านมาทำงานอย่างเต็มกำลังสามารถแล้ว  คุณมัลลิกายังเป็นอีกคนที่มีงานอดิเรกไม่เหมือนผู้หญิงทั่วไป นั่นคือการยิงปืน ถือเป็นกิจกรรมที่ชื่นชอบ ในสนาม พล.ม.2 แถวสนามเป้า และ สนามยิงปืนพิบูลสงคราม จ.ลพบุรี และเป็นสมาชิกสนามยิงปืนเกือบทุกแห่ง ล่าสุดขนาดเข้าแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน และรายการแข่งขันต่างๆ จนได้รับถ้วยประเภทรองชนะเลิศถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ

 

“การยิงปืนเป็นกิจกรรมของครอบครัว เนื่องจากสามีเป็นคนที่ทำงานและชอบด้านยุทโธปกรณ์  เมื่อก่อนเคยทำกิจกรรมอื่นๆ แต่รู้สึกว่าการยิงปืนเป็นกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดเพราะทำให้มีสมาธิมากขึ้น เหนี่ยวไกแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง ดังนั้นสติและสมาธิจะต้องอยู่กับตัวตลอด ปกติไปสนามยิงปืน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และยิงไปประมาณ 200 นัดต่อครั้งซึ่งตกนัดละ 9 บาท ราคากระสุนขึ้นกับชนิดของปืนที่ใช้ การไปยิงปืนแต่ละครั้ง บางทีก็ไม่ได้ยิงเพื่อฝึกฝีมือแต่เพื่อระบายอารมณ์จากความรู้สึกภายในยิงแบบสะบั้น ซึ่งก็ช่วยให้สบายใจคลายเครียดได้เช่นกัน แต่ด้วยสัญชาตญาณนักกีฬาทีมชาติเก่าเวลาลงสนามแล้วมันก็อดไม่ได้ที่จะแข่งขันก็เลยกลายเป็นนักกีฬาไปด้วยกันนี่

 

“ล่าสุดลงแข่งแบบยิงปืนลูกซองสปีดประเภทสตรีโดยการแข่งขันนั้นจะแข่งแบบยิงเป้าให้ล้ม 3 เป้าเป็นหนึ่งใน 3 จะมีตัวประกันอยู่กลางคือต้องเร็วที่สุดและห้ามยิงโดนตัวประกันโดยเราต้องยิงให้แม่นยำและทำเวลาให้น้อยที่สุดลงแข่งประเภทนี้มาเกือบปีแล้วได้รางวัลอันดับ 2 อันดับ 3 มาเรื่อยๆ จนได้รับถ้วยรองชนะเลิศในงานแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานฯ นอกจากนั้นก็ยังได้เข้าร่วมฝึกหลักสูตรการยิงปืนสั้นที่ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หลักสูตรรบหลักรุ่น123 ร่วมฝึกหลักสูตรการยิงปืนป้องกันตัวหรือปืนต่อสู้ของชมรมยิงปืนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เรียกว่าหลักสูตรฉก.90 เรียนไปทั้งขั้นต้นและขั้นกลาง ได้รับใบประกาศมาทุกหลักสูตร ยังไม่หยุดเรียนนะจะไปเรียนอีก (หัวเราะ) 

 

เดี๋ยวนี้ไปไหนใครๆก็ทักว่าสอนยิงปืนให้บ้างสิตอนนี้จะกลายเป็นครูสอนยิงปืนอีกละ การยิงปืนเป็นกีฬาไม่ใช่เรื่องน่ากลัวนะเมื่อก่อนก็เคยคิดว่ามันน่ากลัวไม่อยากเข้าใกล้กลัวมันลั่นแต่พอเอาเข้าจริงแล้วมันไม่ใช่นะคะ การที่เรามีทักษะดีรู้จักกลไกของปืนและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอทำให้เรารู้จักปืนและการใช้มันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เป็นกีฬาน่าเล่น ทำให้ใจเย็นมีสติและสมาธิอยู่ตลอดเวลา" นี่เป็นอีกมุมหนึ่งของรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ที่อาจทำให้หลายคนเป็นต้องหนาวไปตามๆกัน

 

//มุ่งมั่นเดินตามฝัน

ที่ผ่านมาเธอยังมีประสบการณ์ทางการเมืองเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติปี 2549 หลังการรัฐประหารในกลางปีเดียวกัน และเป็นผู้ช่วย เลขานุการ รัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ  หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และจุติ ไกรฤกษ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และล่าสุดได้ประกอบธุรกิจส่วนตัวผลิตภัณฑ์ด้านความงามและเป็นประธานบริหารธุรกิจศูนย์การค้า และด้านอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

 

“ความฝันอยากเป็นนักข่าวสะพายกล้องตั้งแต่อยู่ชั้น ม.2  เพราะเริ่มเขียนไปลงตั้งแต่นิตยสารกุลสตรี นิตยสารธรรมชาติและสัตว์เลี้ยงก็ไปทำ แล้วหนังสือของบ้านวรรณกรรมก็ไปทำ  จากนั้นเข้ามาสู่สนามข่าวการเมืองประมาณปี 2539 ประจำทำเนียบรัฐบาล สังกัด หนังสือพิมพ์ไทยไฟแนนเชียลก็ได้เป็นอย่างที่ฝัน แล้วก็ไปเป็นนักข่าวไอทีวี เรียกว่าได้ทำงานครบวงจร ทั้งเป็นนักข่าว ผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการทำได้หมด เพราะเป็นคนที่เห็นอะไรแล้วมันท้าทายก็จะกระโจนเข้าใส่ทุกงาน ทำให้ได้รับโอกาสมากขึ้น เป็นนักจัดการวิทยุก็ทำ โดยจัดถึงตีหนึ่งตีสองเราก็ทำ ชั่วโมงละ 500 ก็ทำ(หัวเราะ)”

 

ก่อนจบการสนทนาในครั้งนี้ “มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข”ฝากข้อคิดถึงน้องๆรุ่นใหม่ ว่า “ถ้าอยากเป็นนักข่าวต้องเป็นและทำงานให้สนุกมีความสุขทุกวัน ต้องอ่านวันรู้ทุกวันรู้ทันคนอื่นทุกวัน และพัฒนาการจะมาเองมาไวด้วย ถ้าอยากทำข่าวต้องกระโจนเข้าใส่ข่าวการเมืองและข่าวเศรษฐกิจเพราะการทำข่าวการเมืองก็ทำให้เราได้เข้าสู่โหมดของการบริหารชาติ เป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศ ศูนย์กลางแห่งอำนาจซึ่งถ้าหากเป็นนักข่าวที่ดีที่เก่งและแหล่งข่าวทุกระดับให้ความนับถือเราจะเป็นผู้มีอำนาจมากแต่ต้องใช้อำนาจในการตรวจสอบติดตามอย่างถูกต้องแล้วเราจะได้รับการยอมรับเอง เมื่อเราเป็นที่นับถือได้รับการยอมรับเราจะรู้หนทางพัฒนาตัวเอง ในวงการนี้ถ้าเราไปไม่รอดเราจะกลายเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูลไม่เช่นนั้นเราก็จะถูกแหล่งข่าวใช้ให้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เท่านั้น ตรงนี้คือความแตกต่างระหว่างสื่อมวลชนกับพีอาร์ประชาสัมพันธ์ อาชีพนี้ทำให้เรารู้เท่าทันสังคม หรือถ้าเราได้เข้าไปตรวจสอบนโยบายอันไหนที่ทุจริตได้เราก็ได้ช่วยชาติช่วยสังคมและช่วยอย่างมหาศาลด้วย

“สำหรับมัลลิกาแล้ววิญญาณและสัญชาตญาณความเป็นนักข่าวยังมีอยู่ในตัวเสมอ แต่ที่ต้องเปลี่ยนอาชีพเพราะเราทำมันนานเกินไปแล้ว เราตกผลึกกับการเป็นนักข่าวนักสื่อสารมวลชนแล้วพอแล้วพัฒนาการต่อมาเรามีความรู้สึกว่าเราอยากจะเป็นนักเปลี่ยนแปลงการที่เราจะสามารถเป็นผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงนโยบายเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตประชากรเปลี่ยนแปลงสังคมได้นั้น เราต้องมาเป็นนักการเมืองและต้องเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถและจิตวิญญาณของนักสู้ไม่มีถอยอย่างเรานำไปสู่การพลิกเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น เช่น เขียนกฎหมายฉบับหนึ่งแก้ปัญหาชะตากรรมคนชรา เขียนนโยบายเรื่องหนึ่งแก้ปัญหาเกษตรกรทั้งระบบ ผลักดันนโยบายด้านหนึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตคนจนให้มีอาชีพที่มีสิทธิรวยได้ หรือแม้กระทั่งพลิกนโยบายเรื่องหนึ่งสามารถสร้างพลังงานให้กับประเทศมหาศาลอย่างนี้เป็นต้น ทำเรื่องใหญ่ๆเรื่องดีๆชีวิตจะได้มีความหมายและสามารถตอบตัวเองได้ว่าเราอยู่เพื่ออะไร"