พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

Strict Standards: Only variables should be assigned by reference in /home/admin/web/changeintomag.com/public_html/plugins/content/fcomment/fcomment.php on line 103

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

IMG_4637_1
IMG_4650_1
IMG_4657_1
IMG_4690_1
1/4 
start stop bwd fwd

 

กระทรวงตาชั่งยุคใหม่

 

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์

 

“ชีวิตวันนี้...มาไกลเกินฝัน”

 

หลังจากหลายฝ่ายจับจ้องการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษยุคใหม่การเปลี่ยนผ่าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจ ได้ส่ง“บิ๊กเปี๊ยก” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาแทนที่และยังได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของกระทรวง ด้วยการดำรงตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงยุติธรรม” ในฐานะข้าราชการตำรวจคนแรกที่เข้ามาบริหารงาน

 

//ทำหน้าที่“ปลอดการเมือง” 

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้เข้ารับหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ในครั้งนั้นได้ย้ำว่า  การทำหน้าที่ตนเองไม่มีเป้าหมายที่จะรื้อฟื้นคดีเดิม แต่คดีไหน ที่สอบสวนยังไม่เสร็จก็ต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จ และต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด ใครผิดว่าไปตามผิด ใครถูกว่าไปตามถูก “ผมเข้ามาตรงนี้ คิดว่าผู้ที่รับผิดชอบในการบริหารประเทศโดยทางผู้ใหญ่คงมองเห็นว่า หน่วยงานดีเอสไอ ควรต้องมีการปรับเปลี่ยน จึงได้พิจารณาว่าใครเหมาะสมจะมาทำหน้าที่อธิบดี  สุดท้ายผู้ใหญ่ก็มองเห็นว่าผมน่าจะมาทำหน้าที่ตรงนี้เหตุผลก็คือ ขณะทำงานอยู่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ผมก็รับผิดชอบงาน ด้านกฎหมาย และการสอบสวนตั้งแต่เรียนจบมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็จะทำงานด้านการพัฒนาการสอบสวน และพัฒนาบุคลากร    ซึ่งน่าจะสามารถมาทำงานที่ดีเอสไอได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายคดีพิเศษ ดังนั้น การมาทำงานที่นี่มันเลยต้องใช้ความรู้ทางด้านกฎหมายและความรู้ทางด้านการสอบสวนด้วย”

“ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่าดีเอสไอทำหน้าที่รับใช้นักการเมือง เช่น การนำคดีเกี่ยวกับการเมือง         มาสอบสวน หรือมุ่งทำคดีให้คุณหรือโทษ โดยมุ่งไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้น แต่การที่ผมเข้ามาทำงานตรงนี้ผมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วการที่เข้ามาทำงานในดีเอสไอ ผมมีหลักการคือการทำงานสอบสวนคดีพิเศษ และกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะมีเงื่อนไขว่า คดีพิเศษประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ด้วยแนวทางกฎหมายตรงนี้ได้กำหนดไว้ 5 ลักษณะ 1.คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ 2.คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนความมั่งคงของประเทศความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ 3.คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นคดีความผิดข้ามชาติที่สำคัญหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม 4.คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนและ 5.คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัย เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา  ดังนั้น ลักษณะของคดีที่ผมทำก็จะเข้าข่ายในคดีทั้ง5ข้อ

“ผมยึดมั่นในการทำหน้าที่มาตลอดว่า ใครก็ตามที่ทำผิดก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้จะให้ความหวังแก่ประเทศชาติได้ยังไงนั้น ผมคงประเมินตัวเองไม่ได้หรอก แต่ผมจะถ่ายทอดจากตัวของผมในเรื่องของความประพฤติการปฏิบัติงาน หรือการทำหน้าที่ที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ มุ่งมั่นเข้ามาเพื่อทำงาน อย่างน้อยก็ให้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้หน่วยงานนี้ ทำงานด้วยความเชี่ยวชาญในคดีพิเศษ และทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น การที่ผมมาอยู่จุดนี้ คนในองค์กรที่เป็นลูกน้องทุกคนจะเข้าใจและยึดถือการ ทำงานตามวิสัยทัศน์ที่ได้พูดไปแล้ว ตามค่านิยมที่มีอยู่ ผมเชื่อว่าจะใช้ความสามารถทำให้องค์กรนี้ เป็นไปตามที่ประชาชนมุ่งหวังและคาดหวัง หากใครมีเหตุหรือ ทุกข์ภัยเกิดขึ้นเข้าข่ายตรงกับความหมายที่เรารับผิดชอบ เราจะเป็นหน่วยงานที่พึ่งพาได้ ผมย้ำเสมอว่า วิสัยทัศน์ของคนในองค์กรให้คิดตรงกัน เพราะมันมีค่านิยมที่มีคำว่า เชี่ยวชาญ เกียรติศักดิ์ ซื่อสัตย์ เพราะถ้าเราทำงานอะไรก็ขอให้เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ และมีเกียรติ”

 

//นโยบายผดุงความยุติธรรม

จากนั้นมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ อธิบดีกรมสอบสวน      คดีพิเศษ ได้ดำรงตำแหน่ง เป็น ปลัดกระทรวงยุติธรรม “ผมออกจากงานข้าราชการตำรวจมาเป็น ดีเอสไอ    ก็เป็นข้าราชการพลเรือน ความรู้สึกตอนนั้นมันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะจากที่เราเคยรับราชการตำรวจมาตลอดชีวิตข้าราชการเกือบจะเกษียณตลอด 37 ปี มันก็มีความผูกพัน แต่พอได้มาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ในการบริหารงานก็เป็นการบริหารงานแบบพลเรือน อย่างน้อยเราได้ประสบการณ์มาช่วงหนึ่งที่เราทำงานอยู่ที่ดีเอสไอ แต่พอมาทำงานที่นี่มีหลายกรมกองมากขึ้น การบริหารงานเลยค่อนข้างจะแตกต่างจากข้าราชการตำรวจ

“ส่วนนโยบายในการทำงานของผม สายงานจะมีรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกระทรวงในการกำหนดนโยบายว่า นโยบายของท่านต้องการเห็นอะไรในกระทรวงยุติธรรม ตรงนี้ท่านก็ฟังจากข้าราชการพลเรือนที่ทำงานอยู่ในกระทรวงเหมือนกัน สุดท้ายก็สรุปได้ว่า นโยบายของท่านรัฐมนตรีภายในหนึ่งปีนี้ ซึ่งจะต้องให้มีผลงานออกมาภายใน 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี จะมีทั้งหมด 5 ด้าน โดยด้านแรก คือการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการช่วยเหลือคดีอาญา หรือการตอบแทนจำเลย และการให้ค่าตอบแทนฝ่ายพยาน ตรงนี้อยู่ในกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรม สามารถจะร้องทุกข์ร้องเรียนกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม    

“หรือในด้านที่รับผิดชอบก็จะมียุติธรรมจังหวัด ยุติธรรมชุมชน หรือมีการไกล่เกลี่ยเรื่องข้อพิพาททั้งหลาย หรือพิพาทคดีทางแพ่งก็อยู่ในกรมบังคับคดี ที่จะเข้าไปให้ความรู้ไกล่เกลี่ยเพื่อจะไม่ให้ถูกฟ้องในคดีทางแพ่งเหล่านี้ และถ้าเป็นคดีที่เกี่ยวกับเด็กก็จะมีกรมพินิจและคุ้มครองเข้ามาดูแลเด็กที่ถูกดำเนินคดีและก็จะมีสถานพินิจสถานแรกรับด้วย นอกจากนี้ยังมีกรมประพฤติที่จะเข้ามาสอดส่องดูแลความประพฤติของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลสั่งแล้ว ส่วนด้านการบังคับคดีทางแพ่งเพื่อบังคับให้มีการชดใช้ก็อยู่ในส่วนของกรมบังคับคดี ในการนำทรัพย์สินขายทอดตลาด และที่สุดเมื่อศาลตัดสินลงโทษแล้วก็จะไปขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด ส่วนเด็กก็จะถูกส่งตัวไปไว้ยังสถานพินิจ

“ถ้าเป็นเรื่องคดีมี ดีเอสไอ ที่จะเข้าไปสืบสวนสอบคดีพิเศษ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) ก็จะเข้ามาดูแลในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งนโยบายการป้องกันด้วย ด้านการปราบปรามทุจริตของภาครัฐก็จะมี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ด้านที่สอง คือการพัฒนาพฤตินิสัย แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และป้องกันการกระทำผิด ส่วนที่สาม ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ส่วนที่สี่ การป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ และส่วนที่ห้า ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ทั้งหมดเป็นนโยบายในการทำงานเพื่อให้งานของกระทรวงมีความก้าวหน้าต่อไปให้เป็นรูปธรรม” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรียุติธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และยังเป็นบทพิสูจน์การทำงานของปลัดยุติธรรม  

 

//วัด“สร้างคุณธรรม” 

จากเด็กชายชัชวาลย์ที่วิ่งเล่นตามทุ่งนา ต.แคออก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พอเรียนจบชั้นประถมปีที่ 3   พ่อแม่จับส่งเข้ากรุงเทพมหานครฝากไว้กับพระที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อยู่วัดได้นาน 9 ปีเศษ รับใช้พระสงฆ์ด้วยการเป็นเด็กวัด และเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานสำเร็จการศึกษาในรุ่นที่ 30 รับราชการครั้งแรกเป็นพนักงานสอบสวน สน.พญาไท บางเขน บุปผาราม และบางยี่ขัน ขยับตำแหน่งมาเรื่อยๆ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและสอบสวน ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้บัญชาการกองบัญชาการศึกษา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนกระทั่งก้าวสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมในที่สุด

“สาเหตุที่มาเป็นเด็กวัด เพราะมีญาติซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องหรือลูกคุณป้าท่านมาบวชเป็นพระระดับมหา          ที่กรุงเทพฯ ท่านก็เห็นว่าเราอยู่ต่างจังหวัดเดี๋ยวจะเรียนหนังสือไม่ทันเขา และจะสู้เด็กกรุงเทพฯไม่ได้ ท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นมาอยู่กรุงเทพฯเลยดีกว่า แล้วเราก็ไม่รู้จักใครในกรุงเทพฯ ญาติพี่น้องก็ไม่มี ท่านก็เลยให้มาอยู่ที่วัดสุคันธาราม ดุสิต ผมก็อยู่วัดจนเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 รวมเวลา 9 ปี พอไปสอบเข้าโรงเรียน     นายร้อยตำรวจสามพราน จะต้องใช้ทะเบียนบ้าน ผมเลยต้องย้ายทะเบียนบ้านจากวัดไปเรียนที่สามพรานซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ แต่พอหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะมาอยู่วัดบ้าง

“ถามว่าอยู่วัดได้อะไรบ้าง ต้องย้อนกับไปสมัยเรียนประถมที่บ้านต่างจังหวัด คุณพ่อคุณแม่ก็ไปอยู่วัด ซึ่งการไปอยู่วัดเขาจะมีวันโกนวันพระ สมัยก่อนโรงเรียนจะหยุดวันโกนวันพระ ไม่ได้หยุดเสาร์อาทิตย์เหมือนสมัยนี้   พอพูดถึงวันโกนวันพระพ่อแม่จะไปที่วัดทำบุญและสวดมนต์ และจะอยู่ที่วัดในวันพระตอนเป็นเด็กผมเลยไปวัดกับพ่อแม่และต้องนอนอยู่วัด1 คืน ทำให้ผมผูกพันในเรื่องของการทำบุญและสวดมนต์ พอมาเป็นเด็กวัดก็ต้องทำวัตรสวดมนต์ทุกวันอาทิตย์ ผมก็เป็นผู้นำสวดด้วย จากนั้นจะมีพระมาอบรมสั่งสอน ผมเลยได้ซึมซับในเรื่องของคุณธรรม มีจิตใจที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทำให้เป็นคนใจเย็นและไม่เคยใช้อำนาจบาตรใหญ่ และจากชีวิตที่ผมเป็นลูกชาวนาแล้วชีวิตได้ก้าวมาสู่จุดนี้ก็เหมือนได้ตอบแทนบุญคุณพ่อคุณแม่ จากที่ท่านได้ส่งให้เราได้มีการศึกษาจนออกมารับราชการตำรวจและก้าวมาสู่การเป็นข้าราชการพลเรือนก็ถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จ ความสำเร็จตรงนี้มันก็เหมือนได้ตอบแทนพระคุณของคุณพ่อคุณแม่ที่ท่านให้กับเรา”

ก่อนจบการสนทนาครั้งนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ กล่าวทิ้งท้ายเป็นข้อคิดให้กับทุกคนว่า “เมื่อมีโอกาสมีความสามารถในการทำงานก็อยากจะไปให้ถึงที่สุด และการที่ผมก้าวขึ้นมาเป็นถึงยศพลตำรวจเอกได้นั้น เพราะความสามารถของตัวเอง วันนี้ชีวิตมาไกลเกินฝัน ชีวิตการทำงานเคยนึกคิดไว้ว่าน่าจะสิ้นสุดของชีวิตการเป็นข้าราชการตำรวจ โดยฝันอยากเป็นผู้บริหารสูงสุด ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ชีวิตที่เดินมาถึงวันนี้เปลี่ยนแปลงไป กับตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมข้าราชการพลเรือน มาถึงจุดนี้ก็ถือว่าสูงสุดแล้ว”