บ้านล้มละลาย คือ จุดเปลี่ยนชีวิต ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย “มีเงินหรือไม่มีเงิน ไม่ได้มีผลกับชีวิต”

บ้านล้มละลาย คือ จุดเปลี่ยนชีวิต ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย “มีเงินหรือไม่มีเงิน ไม่ได้มีผลกับชีวิต”

 

 

 


CHANGE Live has changed
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม


บ้านล้มละลาย คือ จุดเปลี่ยนชีวิต
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย “มีเงินหรือไม่มีเงิน ไม่ได้มีผลกับชีวิต”


ถอดบทเรียนชีวิตจากวิกฤตชีวิต “บ้านล้มละลาย” กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เป็นแรงผลักดันเตือนใจให้สุขที่ประสบความสำคัญ ด้วยหลักการดำเนินชีวิต “ต้องตั้งเป้าให้ใหญ่”

 

ทามกลางสังคมที่วุ่นวายแต่การใช้ชีวิตของ ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนได้เป็นอย่างดี โดยที่ชีวิตเริ่มทำงานกับบริษัทชั้นนำอย่าง บริษัทโธมัสคุก เทรเวลเลอร์เช็ค จำกัด, บริษัทอเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด, บริษัทเอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงเปิดบริษัทประชาสัมพันธ์และการตลาดของตัวเองขึ้นมาอย่างบริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด นอกจากนี้ยังมีสำนักพิมพ์DMG ที่จัดพิมพ์หนังสือหลายแนวโดยเฉพาะเรื่องของธรรมะให้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้เข้าใจซึ่งถือเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรและยังสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

 

//วิกฤตชีวิต “บ้านล้มละลาย”
ดร.ดนัย เป็นบุตรของ ดำรงค์-ชนิตร์นันท์ จันทร์เจ้าฉาย เกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง ที่จังหวัดนครราชสีมา เริ่มเรียนที่โรงเรียนสหพานิช โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา โรงเรียนชุมชนวัดบางขัน จนกระทั่งในระดับมัธยมที่โรงเรียนหอวัง และเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมเหรียญทอง สาขาการตลาด ภาคบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จบการศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาดภาคภาษาอังกฤษ (MIM) เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจาก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกอเทนเบิร์ก ประเทสสวีเดน และได้รับปริญญาเอก ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์ ประเภททั่วไป มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต


“คุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นคนหัวสมัยใหม่มากอย่างตอนที่ผมเข้าอนุบาล 1 แค่เพียงวันที่ 2 ของการเรียนท่านก็บุกไปที่โรงเรียนทันทีแล้วไปบอกคุณครูว่าอย่าให้ ด.ช.ดนัย เขียนมือขวาเพราะเขาเป็นคนที่ถนัดมือซ้าย คือคุณพ่อคุณแม่ท่านรู้ถึงธรรมชาติของคน เพราะมนุษย์เรามักถูกบังคับเหมือนสิ่งของเครื่องจักร คือผมเป็นมนุษย์ใช้สมองซีกขวาผมจึงถนัดซ้าย แล้วประโยคที่คุณพ่อคุณแม่พูดมันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกเสมอ ผมจึงรู้สึกว่าเราเคารพในกติกาของสังคมแต่ว่าเราโดดเด่นในสิ่งที่เราเป็น

“สมัยนั้นคุณแม่ก็สอนให้ผมนั่งรถเมล์เองตั้งแต่ ป.1 คือบ้านอยู่บางซื่อ โรงเรียนอยู่บางรักมันก็ไกลพอสมควร แต่ถ้าเป็นลูกสาวคุณแม่จะขับรถไปส่งเอง ผมเป็นลูกชายเลยต้องฝึกนั่งรถเมล์ มันก็เป็นเรื่องดีที่คุณแม่ฝึกให้ผมดูแลตัวเองตั้งแต่เล็ก ส่วนคุณพ่อจะดูเราห่าง ๆ จะเรียนหรือทำอะไรก็แล้วแต่ตัวเราโดยไม่ได้บังคับ”


หลังจากในระดับมัธยมคุณดนัยก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนหอวัง ซึ่งในช่วง ม.5 (พ.ศ.2531) คุณดนัยก็ได้ทุนเอเอฟเอส (AFS) ไปศึกษาที่โรงเรียนเคลตันไฮสคูล ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นประสบการณ์ให้เป็นต้นทุนชีวิตได้อย่างดีที่ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง แต่หลังจากกลับมาเรียนจบมัธยมปลายได้ปฏิเสธการเอ็นทรานซ์ ไปสอบเข้าที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) แทน ซึ่งก็ได้รับทุนจากการสอบเข้าเป็นอันดับหนึ่งของรุ่น เหมือนกำลังจะไปได้ดีก็เกิดวิกฤติครั้งสำคัญของชีวิต เนื่องจากทางครอบครัวล้มละลายทำให้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างไม่เคยมีมาก่อน


//บ้านล้มละลาย คือ จุดเปลี่ยนชีวิต
“ตอนกลับมาจากอเมริกาก็ไปเป็นเซลล์ขายหม้อ แล้วยังได้ไปทำข้าวมันไก่ให้ลูกค้าทานด้วย ช่วงนั้นถือว่ารายได้ดีมาก แล้วก็ไปทำงานที่ไต้แซ เป็นบริษัทเดินเรือ เป็นตัวแทนของบริษัทฮุนได ขายตู้คอนเทรนเนอร์ให้กับลูกค้าที่ต้องการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก แต่ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นช่วงวิกฤตสำคัญของชีวิต เพราะตอนอยู่ปี 2 ที่บ้านล้มละลายแบบไม่เหลืออะไรเลย สาเหตุเพราะคุณพ่อคุณแม่โดนเพื่อนที่ทำธุรกิจร่วมกันไม่ซื่อตรง ทำให้ที่บ้านถูกยึดทุกอย่างหมดเลย ทำให้คิดว่าเราจะเรียนต่อหรือเปล่าหรือเราจะออกมาทำแบบเต็มเวลา เพื่อจะช่วยคุณพ่อคุณแม่ที่ลำบากมาก ขนาดบ้านก็ไม่มีอยู่เลย ตอนที่ไปเรียนคุณพ่อคุณแม่ซื้อรถให้ขับไปเรียน แต่พอบ้านล้มละลายทุกอย่างหายไปหมดเลย


“ทำให้ไม่มีเงินเรียนด้วย แต่โชคดีที่คะแนนตอนเรียนอยู่นั้น คะแนนสูงมากนำมาหมดเลย ต้องขอบคุณเอแบคที่ให้ทุนเรียน ตอนนั้นผมก็คิดว่าเราต้องตั้งใจเรียน เพื่อที่จะได้งานที่ดี แต่เราก็ต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในการทำงานไม่ได้ทำงานที่ไต้แซอย่างเดียว แต่เราต้องเป็นท็อปเซลล์ให้ได้ เลยต้องย้ายการเรียนจากภาคกลางวัน เป็นภาคเย็นเพื่อที่จะทำงานเต็มเวลา ตอนที่บ้านล้มละลายถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมาก เพราะได้เดินเข้าโรงรับจำนำ(หัวเราะ) เพราะต้องเอาสร้อย ปากกาที่เป็นของมีค่าไปจำนำ ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะเศร้า แต่เราไม่ได้เป็นโรคจิต แต่เป็นคนมองโลกในแง่บวก เพราะถ้าบ้านเราไม่ล้มละลายเราจะมีโอกาสเดินเข้าโรงรับจำนำมั้ย แล้วได้รู้ขั้นตอนของการจำนำด้วยการใช้นิ้วโป้ง”


//บทเรียนจากทุกข์ “เตือนใจให้สุข”
“จำได้ว่าวันหนึ่งได้ไปหาญาติห่างๆซึ่งเป็นคนที่รวยมาก มีเงินมหาศาล ตอนที่ไปหานั้น ตั้งใจจะไปขอยืมเงินเขา เพราะตอนนั้นเราไม่มีเงินเลย จริงๆเขาให้เราได้เพราะบ้านเขารวยเป็นร้อยล้านพันล้าน เราเลยจำได้เลยว่า อะไรสำคัญที่สุดในชีวิตของเราตั้งแต่วันนั้นเลย ต้องขอบคุณเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านั้นไปหาก็ขับรถไป แต่ไปครั้งนี้นั่งรถเมล์ไปหา จำได้ว่าเงินในกระเป๋ามีเงินอยู่ไม่กี่สิบบาท พอเดินเข้าในบ้านจากประตูรั้วสีขาวถึงตัวบ้านที่เป็นสีขาว แต่เราสัมผัสได้ว่า บ้านหลังนี้ไม่มีชีวิตชีวา ก่อนหน้านั้นมาทุกครั้งก็ขับรถมา เลยได้สังเกตรอบๆบ้านญาติ พอเดินเข้าไปในบ้านที่เหมือนคฤหาสน์ แต่มีคนอยู่ไม่กี่คน แล้วได้คุยกับญาติห่างๆท่านนี้ดูสีหน้าทุกข์มาก แต่สีหน้าของเราไม่ได้บ่งบอกเลยว่าเราทุกข์จริงๆ


“หน้าตาท่านดูทุกข์แล้วผมก็ร่วง ผมก็เลยถามว่าเป็นอะไรครับ ท่านก็บอกว่า ให้เพื่อนยืมเงินไปแล้วติดต่อเพื่อนไม่ได้หลายเดือน สงสัยเพื่อนจะเบี้ยว เราก็ถามว่ายอดเท่าไหร่ ท่านบอกว่าไม่กี่แสน จริงๆยอดเงินถ้าเทียบกับเงินของท่านที่มีมันน้อยมาก แต่มันสามารถทำให้ท่านทุกข์ได้ขนาดนี้ เชื่อมั้ยครับว่า เขาไม่รู้เลยว่าเราเป็นอะไรมา เพราะสีหน้าเราไม่ได้แสดงเลยว่ากำลังเป็นทุกข์ จริงๆเราควรทุกข์มากกว่าเขา เพราะเราไม่มีบ้านอยู่เลย ต้องไปอาศัยเช่าตรงหลืบเล็กๆของบันไดเพื่อเอาไว้นอน แล้วเพื่อนก็ใจดีมากไม่เก็บค่าเช่า เราเลยมีกำลังใจมากขึ้นหลังจากที่ไปหาญาติคนนี้ ทำให้คิดได้ทันทีว่า เงินไม่ได้มีความหมายสำหรับชีวิตเราเลย


“เดินกลับออกมาจากบ้านญาติโดยที่เขาไม่รู้เลยว่าเราเจออะไรมา เราก็ไม่ได้บอก เพราะความทุกข์เมื่อมาปิดกั้นปัญญาจะมองไม่เห็นอะไรเรา หรือจะถามอะไรเราถึงสารทุกข์สุขดิบ วันนั้นจำได้มาจนถึงวันนี้ เดินออกจากบ้านที่เป็นคฤหาสน์สีขาวมาที่ประตูรั้วที่ยาวหลายร้อยเมตร ใจมันสุขใจมันโปร่งว่า เราเป็นคนหนึ่งที่รวยที่สุดในประเทศไทยโดยที่ไม่ได้มีเงิน เพราะมีเงินหรือไม่มีเงินไม่ได้มีผลกับชีวิตเราเลย ได้นั่งรถเมล์กลับมาที่หอพักของเพื่อนลมที่ปะทะหน้าเราทำให้มีความสุขที่สุด แล้วกลับมานั่งกินขนมปังขาไก่กับน้ำที่มีความสุขที่สุด


“เรารู้สึกว่าชีวิตเราสุดยอดแล้ว ทำให้เห็นว่าคนที่มีอะไร เป็นอะไร ไม่ได้หมายความว่าจิตใจเขามีความสุขไปด้วย ตัวเราต่างหากสามารถมีความสุขกับสิ่งที่เราไม่มี เรามีความสุขมากกว่าที่เราไม่มี วันนั้นถึงได้เรื่องนี้เลย ทำให้เราไม่คิดที่จะสะสมเงินทอง บ้านเราอยู่อย่างไรเราก็อยู่อย่างนั้น มีความสุขอยู่กับสิ่งที่เราเป็นตลอด หลังจากนั้นชีวิตเริ่มพลิกกลับขึ้นมาได้ก็มาซื้อบ้านหลังนี้แถวย่านวัชรพลเป็นเวลา 30 ปีแล้ว


//ยอมรับความจริงด้วย “สติ”
“ความทุกข์ที่เข้ามาตอนนั้นถือว่ามีหลายดอกว่าเราจะเรียนดีหรือไม่เรียนดี บังเอิญช่วยนั้นแด๊ดกับมัม ที่เป็นพ่อกับแม่ที่เราเคยไปอยู่บ้านเขาตอนไปเรียนที่อเมริกาครบสองปีบอกว่าจะเดินทางมาเยี่ยมเรา แล้วเราควรจะมีบ้านให้เขาได้พัก เพราะเราไปอยู่กับเขาหนึ่งปีเขาดูแลเราอย่างดี มันเป็นเวลาที่บีบคั้นเรามากเลย นั่งอ่านหนังสือสอบถ้าไม่มีสติน้ำตามันก็ไหล(หัวเราะ) เราก็บอกกับตัวเองว่าไม่ได้ๆ ต้องมีสติ เราก็เลยบอกความจริงกับแด๊ดกับมัมไปว่าเกิดอะไรขึ้น ที่สุดทั้งสองท่านก็เข้าใจ แต่บางครั้งเรามีความทุกข์จะชอบคิดไปก่อนว่าเขาจะยอมรับไม่ได้ ทำให้เราต้องตั้งเป้าหมายพร้อมกับกดดันตัวเองด้วยว่า ต้องเรียนให้จบภายในสามปีครึ่ง และขอให้จบด้วยเกียรตินิยมเหรียญทอง ตอนนั้นมันเหมือนกิเลส เพราะเราก็ยังเด็กอยู่(หัวเราะ) แต่มันเป็นแรงผลักดันที่ดีทำให้เราทะเยอทะยาน เราจะต้องจบมาเป็นอาจารย์สอนเพื่อให้ได้ เพราะตามกฎของเอแบคผู้ที่จะมาสอนต้องมีประสบการณ์สองปี เราได้พอดีเพราะระหว่างเรียนก็ทำงานไปด้วย ปรากฎว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็สำเร็จทุกอย่าง


//หลักดำเนินชีวิต “ต้องตั้งเป้าให้ใหญ่”
สำหรับหลักการบริหารของ ดร.ดนัย คือการใช้ความเมตตา กรุณา มุทิตตาอุเบกขา ที่สามารถใช้ได้จริงกับพนักงานได้ อาทิ การเลี้ยงอาหารกลางวัน ให้ทุนการศึกษา ดูแลพนักงานเหมือนพี่น้องดูแลลูกค้าเหมือนญาติ เมื่อมีหลักแบบนี้เหมือนกัลยาณมิตรที่จะดูแลกันไปตลอด และองค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องมีอิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะวิมังสา โดยได้นำมาแปลงเป็นสมัยใหม่ คือทำงานให้สนุกเป็นสุขเมื่อทำงาน


“เกิดมาทั้งที่ต้องตั้งเป้าให้ใหญ่ จริงๆแล้วไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อผู้อื่น แล้วถ้าเป้าเราเป็นไปเพื่อผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ ชีวิตเราจะมีคุณค่าได้มากเท่านั้น นั้นก็เป็นเป้าหมายตอนเป็นเด็กเราตั้งเป้าไว้ ดูเหมือนจะเพื่อตัวเอง แต่พอเราโตขึ้นเรื่อยๆ จะรู้ว่าชีวิตเราจะมีค่าเมื่อเป้าหมายชีวิตของเราทำประโยชน์และทำความสุขให้ผู้อื่นได้มากเท่าไหร่ นั่นคือเป้าหมายที่เราควรไป ผมขอยกตัวอย่าง พระปฐมบรมราชโองการ หรือเป้าหมายของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนมหาชนชาวสยาม คือเป้าหมายของพระองค์ท่านใหญ่มาก เพราะฉะนั้นยิ่งใหญ่เท่าไหร่เรายิ่งควรต้องทำ”ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กล่าวทิ้งท้าย