เกษตรกรได้เฮ! "ธ.ก.ส." หั่นดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดร้อยละ 0.25-ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก มีผล 1 พ.ย.67

เกษตรกรได้เฮ! "ธ.ก.ส." หั่นดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดร้อยละ 0.25-ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก มีผล 1 พ.ย.67

  


เกษตรกรได้เฮ! "ธ.ก.ส." หั่นดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุดร้อยละ 0.25-ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก มีผล 1 พ.ย.67

 

ธ.ก.ส. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ลงสูงสุดร้อยละ 0.25 ตามทิศทางแนวโน้มตลาด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) สำหรับลูกค้าทั่วไปลดลงร้อยละ 0.10 เหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี และในกลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลดลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 6.725 ต่อปี ถึงสิ้นปีบัญชี 2567 (มี.ค. 2568) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี มีผลตั้งแต่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไป พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ระดับเดิม เพื่อส่งเสริมวินัยการออมเงินให้ลูกค้า

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปีนั้น ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลและพัฒนาภาคการเกษตรสู่ความยั่งยืน ได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุดร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดลงร้อยละ 0.10 ต่อปี จากร้อยละ 6.975 ต่อปี ลดลงเหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี และกรณีลูกค้าเกษตรกรกลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิตจนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ปรับลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 6.975 ต่อปี ลดลงเหลือ 6.725 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาออกไปอีกเป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2567 จนถึง 31 มีนาคม 2568 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าประเภทเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 7.125 ต่อปี ลดลงเหลือร้อยละ 6.875 ต่อปี ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส. พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภทออกไปให้นานที่สุด เพื่อส่งเสริมวินัยการออมเงินและร่วมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในการดูแลปัญหาหนี้สิน พัฒนาคุณภาพชีวิต และรายได้ของ เกษตรกรอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย โครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและ การประกอบอาชีพ เช่น สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร ระยะที่ 2 สินเชื่อแทนคุณ และสินเชื่อเงินด่วนคนดี สำหรับ สมาชิก อสม. และ อสส. และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ เป็นต้น