“อุ๋ย บุดดาเบลส” ปลุกกระแสคนไทยเป็น Listenian
“อุ๋ย บุดดาเบลส” ปลุกกระแสคนไทยเป็น Listenian
เปิดประสบการณ์เป็น “ผู้ฟังจากหัวใจ ไม่ตัดสิน”
กับแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” National Month of Listening (NMoL)
“อุ๋ย-นที เอกวิจิตร” หรือที่รู้จักกันในนามของ “อุ๋ย บุดดาเบลส” ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคยในบทบาทของนักร้อง นักแสดง พิธีกร แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าอุ๋ยมีอีกหนึ่งบทบาทที่เจ้าตัวอุทิศตัวเป็นจิตอาสา รับหน้าที่นักจิตบำบัด ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นงานที่อุ๋ยมีความภาคภูมิใจอย่างมาก และจากประสบการณ์การเป็นนักจิตบำบัด ที่รับฟัง รับรู้ถึงปัญหาของผู้คนหลากหลาย ก็เห็นถึงความสำคัญของ “การฟัง” ซึ่งจะเป็นสิ่งช่วยบรรเทาลดทอนความทุกข์ของคนคนหนึ่งได้ จึงอาสาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญระดับชาติ "เดือนการฟังแห่งชาติ" National Month of Listening (NMoL) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยธนาคารจิตอาสา และ ความสุขประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคีสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา หลากหลายองค์กร ได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการรับฟัง ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการรับฟังให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมให้มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการความรู้สึกเหงาและความโดดเดี่ยวได้
อุ๋ยเล่าถึงแคมเปญนี้ว่า “ในยุคนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน คือปัญหาความสัมพันธ์ การมีช่องว่างระหว่างวัย รวมถึงความขัดแย้งในความเห็นต่าง อีกทั้งเรื่องของความเหงาและความโดดเดี่ยว ในหลายประเทศรวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ จึงประกาศวันสำคัญที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ในเดือนพฤศจิกายน เช่น World Kindness Day, International Day of Tolerance หรือ National Day of Listening ของสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศไทยก็ได้จัดแคมเปญ "เดือนการฟังแห่งชาติ" National Month of Listening (NMoL) ขึ้น โดยที่ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดพื้นที่รับฟัง 28 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นในสวน หรือคาเฟ่ ในห้างฯ ในรถและในเรือเป็ดก็มีนะครับ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถมาเล่าระบายกับอาสาเพื่อนรับฟังได้ นอกจากนี้ยังจัดให้มีคลาสเรียนรู้ทักษะการฟัง ถึง 22 คลาส ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทักษะการฟังพื้นฐาน, ฟังต่างวัย, ฟังความเห็นต่าง หรือฟังในกลุ่มหัวอกเดียวกันอย่างพ่อแม่ วัยเรียน หรือคนทำงาน ที่สามารถมาเรียนรู้เพื่อจะนำไปใช้กับตัวเองหรือพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ด้วย .ผมว่าแคมเปญนี้ดีมาก เพราะเป็นโอกาสดี ที่คุณจะได้พูดอะไรก็ได้ให้
ใครสักคนฟัง ที่ใครคนนั้นไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร และฟังคุณด้วยหัวใจอย่างไม่ตัดสิน โดยที่เป็นอาสาสมัครที่มีความรู้ อย่างผมเองที่ได้ทำงานจิตบำบัด ที่ รพ.จุฬาฯ จึงมีประสบการณ์โดยตรงในการเป็นผู้ฟัง และได้ทราบว่าคนที่เข้าคิวรอการรักษาโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลนั้นคิวล้น และ สายด่วนกรมสุขภาพจิตก็ยิ่งคิวยาวมาก ผมเลยคิดว่าไม่ต้องรอให้จิตแพทย์ นักจิตบำบัด หรือจิตอาสามาบริการเราอย่างเดียว พวกเรานี่แหละที่จะทำตัวเราให้เป็นจิตอาสาสำหรับคนในครอบครัว คนใกล้ตัวของเรา ฟังคนในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน คนในที่ทำงาน แคมเปญนี้จะเป็นการจุดประกายให้พวกเราได้เห็นความสำคัญของการฟัง ได้เรียนรู้เป็นผู้รับฟังที่ดี ซึ่งถ้าทุกคนรู้จักที่จะฟังกัน ฟังด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่แค่ฟังด้วยหู จะส่งผลดีทั้งองค์รวม สังคมน่าอยู่ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ง่าย หรือเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรอก แต่ถ้าเรามาเริ่มเรียนรู้กันตั้งแต่วันนี้และต่างคนต่างทำจนเป็นเรื่องปกติ ทำกันได้จนกลายเป็นธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันจะเป็นสิ่งที่วิเศษมากครับ และผู้ใดที่สนในร่วมแคมเปญระดับชาติครั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ เพจเฟสบุ๊ก “ความสุขประเทศไทย” หรือ เว็บไซต์ Listen.HappinessisThailand.com” (https://listen.happinessisthailand.com)
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ // กุณฑี คำนุช (061 696 4261)