ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 เติบโตที่ 1.4% ครึ่งปีหลังพบปัจจัยเสี่ยงที่ไม่แน่นอน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองเศรษฐกิจไทยปี 68 ยังคงเติบโตที่ 1.4% ครึ่งปีหลังปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ลุ้น ส่งออกขยายตัว จะมีแนวโน้มเติบโตได้ 1.8%
วันที่ 11 มิถุนายน 2568 นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายด้านภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลกระทบต่อภาคการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลก
โดยล่าสุด OECD ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ลง 0.2 % มาอยู่ที่ 2.9% และปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง 0.6% เหลือ 1.6% เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2568
ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ ทั้งด้านการค้า การเงิน การคลัง การศึกษา และการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงิน เสถียรภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงกว่า 8% นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง
ท่ามกลางความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากร และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า มาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังการชะลอสิ้นสุดลงในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตที่ 1.4%
และเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค อย่างไรก็ตาม หากอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในหลายประเทศยังคงไว้ที่ระดับ 10% ตลอดทั้งปี คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ที่ 0.5% และเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มเติบโตได้ 1.8%
น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ให้ความเห็นว่าภาษีสหรัฐฯ ที่ไม่ชัดเจนจะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากความเสี่ยงการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักรกล เหล็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
รวมถึงการแข่งขันในประเทศกับสินค้านำเข้า โดยคาดว่าสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคต่อยอดขายของธุรกิจค้าปลีกปี 2568 จะอยู่ที่กว่า 30% และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
นายรุจิพันธ์ อัสสะรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ คงมองว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวลึกขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่ -1.7% YoY เทียบกับ -1.0% YoY ในช่วงครึ่งปีแรก จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด
แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV) ที่เร่งขึ้น จากการแข่งขันด้านราคาของรถจากจีน
ขณะที่รายได้ภาคเกษตรไทยมีแนวโน้มหดตัวจากแรงกดดันทั้งด้านราคาและความต้องการสินค้าเกษตรที่ลดลง รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดสินค้าเกษตรโลก
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย เพิ่มเติมมุมมองด้านสภาวะการระดมทุนของภาคเอกชนว่ายังอ่อนแอต่อเนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอลง การชำระคืนหนี้ที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงสถาบันการเงินที่ยังคงกังวลเรื่องปัญหาหนี้เสีย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ลงมาที่ -0.6% จากเดิมที่ 0.6%
ในขณะเดียวกัน มองว่า เอ็นพีแอลยังเป็นขาขึ้น แม้ว่าตัวเลขอาจไม่เกิน 3% ต่อสินเชื่อรวม โดยสถาบันการเงินจะยังคงพยายามเร่งจัดการหนี้เสีย และหนี้ที่เริ่มมีวันค้างชำระ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และการขายหนี้เสียออกไป เป็นต้น
นายกฤตย์ สีตะธนี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ให้ข้อมูลว่ากิจกรรมด้าน ESG ของภาคเอกชนไทยก็ชะลอลงเช่นกัน ท่ามกลางหลายปัจจัยลบ การออกหุ้นกู้ Sustainable Finance ลดลง
โดยส่วนหนึ่งเปลี่ยนมาเป็นการใช้บริการสินเชื่อสีเขียวจากธนาคารพาณิชย์ ที่ข้อมูลเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อสีเขียวในปีนี้ จะยังคงขยายตัวค่อนข้างสูง
โดยกลุ่มที่ยังระดมทุนอยู่เน้นไปที่ธุรกิจรายใหญ่ผ่านโครงการ Project Finance ที่มีแผนการระดมทุนอยู่แล้ว ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีคงเลือกชะลอแผนไปก่อน
หรือเน้นลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel), การประหยัดพลังงาน หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เห็นความคุ้มค่าค่อนข้างชัดเจนในระยะสั้น
“เพื่อรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ภาครัฐควรเน้นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสามารถเน้นมาตรการระยะสั้นที่ยังมีความจำเป็น แต่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับมาตรการระยะยาวเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วย ส่วนมาตรการเยียวยาเฉพาะหน้า
เพื่อลดแรงกระแทกให้กับผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบเรื่องภาษีสหรัฐฯ คงต้องมุ่งสนับสนุนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตในประเทศ (Local Content และ Made in Thailand)
รวมทั้งเร่งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวและกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวหลัก ขณะที่ คำแนะนำสำหรับธุรกิจ คือ การรักษากระแสเงินสด เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง”