สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน จัดงาน “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์”

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน จัดงาน “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์”

 

 

 

 
 
 

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน

จัดงาน “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์”

ภายใต้กิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมชาติล้านนาสู่อาเซียน

 

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ จังหวัดเชียงใหม่ - สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน แถลงข่าวจัดงาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ภายใต้กิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมชาติล้านนาสู่อาเซียน ตามโครงการเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน๑ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ ธำรงไว้เพื่ออัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญา และคุณค่าทางวิถีชุมชนที่ดีงาม ปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม เกิดความรักและหวงแหน ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อให้พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม - ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ลานจอดรถด้านหน้า หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการร่วมมือกันในครั้งนี้ว่า“ในฐานะตัวแทนผู้จัดงานและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน๑ ที่ประกอบไปด้วยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เป็นกลุ่มจังหวัดภาคเหนือที่มีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 14-15 กลุ่มชาติพันธุ์ เฉพาะแม่ฮ่องสอนก็มี 8 กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆท่านคงได้เคยเห็นการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ทางสื่อต่างๆมาบ้างแล้ว แต่หลายท่านก็คงจะไม่ได้เคยสัมผัสอย่างลึกซึ้ง เพราะแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์นั้นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะ
มีภาษา อาหารการกิน เป็นของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน๑ พวกเรามีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กันมาโดยตลอด การร่วมกันจัดงาน “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์” ในครั้งนี้
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ กระชับความสัมพันธ์กลุ่มชาติพันธุ์ และเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้มาสัมผัสมาศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากกลุ่มชาติพันธุ์ ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ได้มาสัมผัส นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลิน ได้รับความรู้มากมายจากสิ่งที่นำมาแสดง รวมถึงได้มาช่วยสนับสนุนสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชน และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน๑ โดยการจับจ่ายสินค้าที่นำมาจำหน่ายที่งานนี้งานเดียวแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ล้านนาได้เผยแพร่วิถีชีวิตให้แพร่หลาย ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต”

 

 

ด้าน นายสมเกียรติ พันธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “กระทรวงวัฒนธรรมมีพันธกิจหลักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม สร้างจิตสำนึก สร้างค่านิยม และวิถีชีวิตที่ดีงามในสังคมไทย รวมถึงส่งเสริมการพัฒนา ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศเพื่อนำความเป็นไทยสู่สากล กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ที่รู้ข้อมูล รู้จักการอนุรักษณ์ชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยมีชาติพันธุ์ทั้งหมด 43 ชาติพันธุ์ ประชากร 4 ล้านคน มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม มีกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงาม รวมทั้งศิลปะและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีกระจายอยู่ทุกชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เช่น ไทยอง ไทใหญ่ ม้ง กะเหรี่ยง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรม ที่สามารถนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ พร้อมส่งเสริมกิจกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในมิติทางวัฒนธรรม ให้สอดรับกับการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมตามนโยบายรัฐบาล ในเรื่องการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมให้มีการรักษาสืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้โดดเด่นและมีคุณค่า หัตถอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาในด้านการท่องเที่ยวเชิงมิติวัฒนธรรม เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศเพื่อนำไปสู่สากล พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน”

 

โดยกิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยนิทรรศการมีชีวิต การแสดงแสง สี เสียง ประวัติความเป็นมาของแต่ละชาติพันธุ์ดั้งเดิมของทั้ง 4 จังหวัด การละเล่นกีฬาของชนเผ่า และศิลปะการต่อสู้ และกิจกรรมไฮไลท์การประกวดอาหารชาติพันธุ์และแฟชั่นโชว์ชุดแต่งกายของแต่ละชาติพันธุ์ รวมถึงมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๕ ด้าน ประกอบไปด้วย อาหาร, ภาพยนตร์และวิดีทัศน์, ผ้าและการออกแบบแฟชั่น, ศิลปะการต่อสู้ และการอนุรักษณ์และขับเคลื่อนเทศกาล ประเพณี โดยมีกิจกรรมต่างๆดังนี้

  • กิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ จาก ๔ จังหวัด โดยมีหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านภาษา การแต่งกาย อาหาร และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์
  • นิทรรศการ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาติพันธุ์
  • การสาธิตภูมิปัญญาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเป็นภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของกล่มชาติพันธุ์
  • การจำหน่ายอาหารชาติพันธุ์สร้างสรรค์สุขภาพ
  • การแสดงศิลปวัฒนธรรมและดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์
  • สารคดีชาติพันธุ์ ๔ จังหวัดเกี่ยวกับด้านอาหารและเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิม

 

งาน “แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์” ภายใต้กิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมชาติล้านนาสู่อาเซียน ตามโครงการเสริมสร้างเอกลักษณ์และอัตลักษณ์การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน๑ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ สิงหาคม - ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ณ ลานจอดรถด้านหน้า หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามข่าวสารและรายละเอียดงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/กิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์