ไอคอนสยาม ร่วมสืบสานวิถีไทย มหัศจรรย์งานบุญครั้งยิ่งใหญ่
ไอคอนสยาม ร่วมสืบสานวิถีไทย มหัศจรรย์งานบุญครั้งยิ่งใหญ่
ในงาน “ไอคอนสยาม ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนไทยให้เรืองรอง”
สักการะขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง 4 ภาค
พร้อมชมต้นเทียนพรรษาสุดวิจิตร และกิจกรรมพฤกษาบูชา ภูมิปัญญาแห่งศรัทธา
ระหว่าง 3 – 6 กรกฎาคม 2563 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M
กรุงเทพฯ - “ไอคอนสยาม” แลนด์มาร์คของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จัดงาน “ไอคอนสยาม ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนให้เรืองรอง” ระหว่างวันที่ 3 – 6 กรกฎาคม 2563 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M, ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร เพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยและร่วมสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ภายใต้ความมหัศจรรย์งานบุญครั้งยิ่งใหญ่ ภายในงานพบกับกิจกรรมการหล่อเทียนพรรษา, การกราบไหว้ขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 4 องค์จาก 4 ภาคของไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลแด่ตนเองและครอบครัว ตอกย้ำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเป็นแม่น้ำสายวัฒนธรรมอีกครั้ง
สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “ไอคอนสยาม” ได้อัญเชิญมาเพื่อให้สักการะบูชาในงาน “ไอคอนสยาม ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนให้เรืองรอง” กับกิจกรรม “ศูนย์รวมแห่งศรัทธา” ประกอบไปด้วย พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ 4 องค์ จาก 4 ภาคของไทย ได้แก่ หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นมงคลคู่แปดริ้ว ทั้งวัดและองค์พระเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธายึดเหนี่ยว ไม่เฉพาะชาวแปดริ้วเท่านั้น แต่รวมถึงสาธุชนจากทั่วประเทศ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อโสธร เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนมากมายที่มีจิตศรัทธา และเชื่อมั่นในบุญกุศลที่หลั่งไหลมากราบไหว้สักการะบูชา และขอพรบารมีจากหลวงพ่อ จนเป็นที่กล่าวขานบอกเล่าต่อกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางค้าขาย ทางคงกระพัน ทางแคล้วคลาดปลอดภัย ทางรักษาโรค
พระพุทธสิหิงค์ (องค์จำลอง) จ.นครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แต่มีลักษณะพระวรกายกลมป้อม พระอุระนูนมาก พระเศียรและพระพักตร์กลมป้อม เส้นพระศกใหญ่ไม่มีไรพระศก พระหนุและพระนาสิกยื่นเล็กน้อย ชายสังฆาฏิสั้นเป็นแบบเขี้ยวตะขาบ จัดเป็นพระพุทธรูปที่เรียกว่า “แบบขนมต้ม” สกุลช่างนครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยาอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21, พระเชียงแสน จ.เชียงใหม่ เป็น “พระเชียงแสนแบบสิงห์หนึ่ง” มีลักษณะะที่สำคัญคือ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลม แย้มประโอษฐ์ ขมวดพระเกศาใหญ่ เหนืออุษณีษะหรือพระรัศมีเป็นตุ่มกลมหรือลูกแก้วคล้ายดอกบัวตูม ชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน การสร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรนี้ คงสัมพันธ์กับคติการสร้างพระพุทธสิหิงค์ที่คงเกิดขึ้นในล้านนาตั้งแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเรียกพระในกลุ่มนี้ว่า “พระสิงห์” ส่วนพระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่นำมาประดิษฐาน หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนเป็นสำคัญ และจากความศรัทธาเลื่อมใสนี้มักจะมีประชาชนมาบนบานขอพระต่อองค์หลวงพ่อพระใส โดยส่วนใหญ่มักจะขอให้แคล้วคลาดเดินทางปลอดภัย นอกจากนี้ยังขอเกี่ยวกับสุขภาพ หน้าที่การงาน เมื่อสัมฤทธิ์ผลแล้วก็จะมาแก้บน
พร้อมร่วมหล่อเทียนพรรษาด้วยดอกผึ้งบูชาอันวิจิตร และชมประติมากรรมต้นเทียนสุดตระการตา “เทียนส่องธรรมนำปัญญา” ผลงานจากหัวหน้าช่างทำเทียนพรรษา ช่างสุคม เชาวฤทธิ์ วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี การันตีด้วยรางวัลช่างจัดทำต้นเทียนดีเด่นชนะเลิศ 5 ปีซ้อน (ปี พ.ศ. 2535 – 2539) และศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2544 โดยต้นเทียนแสดงเรื่องเล่าปฐมเทศนา เล่าถึงภาพพุทธประวัติตอนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ เหล่าเทพธิดา เทพบุตรและพระสงฆ์สาวก มีพญาครุฑจับธงเป็นผู้ชักลากนำขบวนเทียน โดยมีฐานรองรับลำต้นเทียนที่แบกโดยพระโค และพระพุทธเจ้าประทับบนหลังพระโค ซึ่งประดิษฐานตรงหน้าลำต้นเทียน ทั้งสองด้านของต้นเทียน ด้านซ้ายประดับด้วยย่านาคีศรีปทุมา ส่วนด้านขวาคือปู่ศรีสุทโธพญานาค ซึ่งเคยไปขอบวชกับพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้บวชเพราะพญานาคเป็นเดียรัจฉา ปู่ศรีสุทโธเลยทูลขอว่าก่อนที่จะบวชขอให้มีการบวชนาคก่อน ซึ่งเป็นที่มาของการอุปสมบท พร้อมสัมผัสความสวยงามของดอกไม้จากสวนนงนุชพัทยา ที่จะมาเสริมความยิ่งใหญ่และสร้างความประทับใจให้แก่ต้นเทียนพรรษา โดยตกแต่งฐานรับต้นเทียนพรรษาตามแนวคิด “แมนดาลา” ศูนย์กลางของจักรวาลในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า ที่นำไปสู่รูปแบบของสถาปัตยกรรม การสร้างวิหารที่มีประตูเข้าออก 4 ทิศ อันสอดคล้องกับหลักพรหมวิหารสี่ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) และสอดรับการวางต้นเทียนเป็นจุดศูนย์กลางวงกลมที่แผ่ออกไปสู่พระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ เพื่อต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษาที่ใกล้จะถึงนี้
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์คช้อปทางธรรมสุดสร้างสรรค์ “พฤกษาบูชา ภูมิปัญญาแห่งศรัทธา” อาทิ การทำบุหงาพัดโบก ดอกไม้แห้งอบปรุงประดิษฐ์ทำเป็นรูปพัดโบก งานฝีมือที่จำลองรูปแบบเครื่องสูงในราชสำนัก บรรจุด้วยบุหงาอบกลิ่นดอกไม้ไทย ที่หอมละมุนละไม รูปแบบประณีตงดงาม ใช้ประดับตกแต่ง การทำเทียนหอมดอกบัว ผู้นิยมจุดเทียนไหว้พระตามสีวันเกิดของตัวเอง เป็นเครื่องสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต จึงมีเทียนสี กลิ่น และมีรูปแบบต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะรูปดอกบัวที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา หากผู้ใดได้จุดบูชา แสงเทียนก็จะส่องสว่าง นำปัญญา ช่วยหนุนนำวาสนาบารมีให้ดียิ่งๆ ขึ้น การพับดอกบัวถวายพระ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธมาช้านาน และเป็นการบูชาที่ชาวพุทธนิยมเพื่อความสวยงาม และเป็นการยอมรับน้อมรับคำสอนของพระพุทธเจ้า เสมือนดอกบัวที่แย้มบาน และจำปาดอง ภูมิปัญญาไทย กรรมวิธีอันแยบยลของบรรพบุรุษ ทำให้เราสามารถมีดอกจำปาดอกสวยๆไว้ดูนานเป็นสิบๆปี ไม่มีเสื่อมสลาย และใช้ในการบูชาพระ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไอคอนสยาม ขอเชิญชวนคนไทยมาร่วมสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญของไทยในงาน “ไอคอนสยาม ไหว้พระสุขใจ หล่อเทียนให้เรืองรอง” ระหว่างวันที่ 3 – 6 กรกฎาคม 2563 ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M, ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร ทั้งนี้ภายในงานยังคงเน้นมาตรการ เพื่อความปลอดภัย และสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทุกท่านได้ทำบุญเสริมสิริมงคลได้อย่างมั่นใจ ผู้สนใจเข้าร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 1338 หรือ www.iconsiam.com