บ้านปูฯ จับมือ มหิดล เดินหน้า “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12”
บ้านปูฯ จับมือ มหิดล เดินหน้า “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12”
ส่งเสริมเยาวชนเรียนรู้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมกับ
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสมดุล
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร (ที่สามจากซ้าย) ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ (ที่สี่จากซ้าย) ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12 และน้องๆ เยาวชนทีมชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์ จาก ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลอย่างไรให้ยั่งยืนในยุคไทยแลนด์ 4.0” คัดเลือกเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์จำนวน 70 คน จากผู้สมัครทั่วประเทศรวม 429 คน เข้าค่ายเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยจุดเด่นของค่ายฯ นอกจากรูปแบบ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” แล้ว
ในปีนี้เน้นการเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้สัมผัสประสบการณ์จริงผ่านกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ การดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของคนในชุมชน ที่มุ่งพัฒนาเศรฐกิจและการประกอบอาชีพท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเรียนรู้การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาสำรวจและระบุแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน เพื่อนำไปประยุกต์ต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนกับประเทศต่อไป
จุดหมายปลายทางสู่การเรียนรู้ของเยาวชนในครั้งนี้คือ จังหวัดชลบุรีและระยอง ที่ไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืช และสัตว์จำเพาะ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และแหล่งการเรียนรู้ทางด้านอวกาศ Space Inspirium ถือเป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ชั้นดีให้เยาวชนในโครงการฯ เข้าไปศึกษา วิเคราะห์และนำมาบริหารความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลแก่ประเทศชาติ
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องที่บ้านปูฯ เน้นย้ำและให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องผ่านการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และค่ายเพาเวอร์กรีน เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability Policy) และนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Policy) ของเรา เพื่อใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการและป้องกันไม่ให้กิจกรรมของบริษัทฯ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เราได้ต่อยอดนำองค์ความรู้มาสู่เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และนำความรู้ที่ได้รับไปเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมรักษาคุณค่าทางระบบนิเวศควบคู่กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า “พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
ในค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12 เยาวชนทั้ง 70 คน มีโอกาสได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับในหัวข้อต่างๆ เช่น คุณค่าและการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์พืชในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน การประยุกต์ใช้การสำรวจระยะไกลเพื่อการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จากคณะอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมรับฟังเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมบนฐานการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน” กับนักธุรกิจที่มีความสนใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดในประเทศไทย และคุณออย อิษฏ์วรรณ สุทธินาค เจ้าของแบรนด์แฟชั่นผู้สร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจ ธรรมชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านบริษัททัวร์เชิงอนุรักษ์ Suntan Tour ที่ให้ชาวมอร์แกนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมเป็นทีมงานเพื่อช่วยสร้างอาชีพและส่งเสริมการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวมอร์แกน
นอกจากนี้ หนึ่งในจุดหมายสำคัญของการเดินทางไปยังจังหวัดชลบุรีและระยอง คือ พื้นที่กลุ่มประมงเรือเล็กปากคลองตากวน และ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทในเครือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ที่เป็นตัวอย่างการอยู่ร่วมกันระหว่างการดำเนินธุรกิจ ชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมดุล
นายแดง บุตรบุญอินทร์ ตัวแทนกลุ่มชุมชนประมงเรือเล็กปากคลองตากวน เผยว่า “ในอดีต การทำประมงเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ของกลุ่มเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น แต่หลังจากได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ทางกลุ่มชุมชนได้รับองค์ความรู้ เงินทุนสนับสนุน และสามารถพัฒนาต่อยอดการทำประมงเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่จนเป็นอาชีพหลัก หาเลี้ยงปากท้องแก่ทุกคนในชุมชนได้อย่างประสบความสำเร็จ ปัจจุบันชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การดำเนินธุรกิจของโรงไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเรา ต่างฝ่ายต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน”
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 12 กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การเริ่มปลูกฝังความรู้ทางด้านนี้ให้แก่เยาวชนผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคตถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการพัฒนาประเทศ ในปีนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำคณะอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่เยาวชน เพื่อจุดประกายจิตสำนึกและให้ความรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ อีกทั้งยังหล่อหลอมกรอบความคิดที่เป็นระบบและสร้างสรรค์ ฝึกการตีโจทย์และแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางความคิดต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในทุกมิติได้อย่างยั่งยืน”
หลังการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว เยาวชนได้นำเสนอโครงการกลุ่ม ซึ่งโครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1ได้รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท คือ โครงงาน “แอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ SEAN” เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้แก่นักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยแอปพลิเคชันจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและ ความหลากหลายทางชีวภาพ นำมาแสดงให้ผู้ใช้ได้ทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พร้อมได้รับคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกรางวัลต่อไป นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังแสดงข้อมูลเกี่ยวกับที่พักและของฝากประจำท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมของภูเก็ตอีกด้วย
นางสาวนภัสสร ปิ่นแก้ว หรือ ซอ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับค่ายว่า “รู้สึกดีใจและสนุกมากๆ ที่ได้เข้าร่วมค่ายนี้ ค่ายเพาเวอร์กรีนเป็นค่ายที่แตกต่างจากค่ายทั่วไปเพราะมีการส่งเสริมให้เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้มีโอกาสไปเรียนรู้และสัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพ เดิมเป็นคนที่ชอบธรรมชาติอยู่แล้ว ค่ายนี้จึงตอบโจทย์ความชอบได้ตรงใจ ตอนแรกคิดว่าหัวข้อค่ายในปีนี้จะยากและไกลตัว แต่จริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวควรให้ความสำคัญ และถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและอนุรักษ์ไว้เป็นหน้าที่ของเราทุกคนเพื่อความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
###
ภาพประกอบเพิ่มเติม
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานแห่งเอเชียที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างสมดุลอย่างไรให้ยั่งยืนใน
ยุคไทยแลนด์ 4.0” ให้กับเยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5
สายวิทยาศาสตร์ จำนวน 70 คน
นางอุดมลักษณ์ โอฬาร (ซ้าย) ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ (ขวา) รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการ
ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 12
วิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมบนฐานการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน”
จากซ้ายไปขวา
• นายวุฒิกร คุ้มเจริญ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์
• ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
• คุณออย อิษฏ์วรรณ สุทธินาค เจ้าของแบรนด์แฟชั่นผู้สร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจ ธรรมชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านบริษัททัวร์เชิงอนุรักษ์ Suntan Tour
• รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กำแพงแสน
• ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืดในประเทศไทย
นายแดง บุตรบุญอินทร์
ตัวแทนกลุ่มชุมชนประมงเรือเล็กปากคลองตากวน
กลุ่มเยาวชนขณะเข้าศึกษาเส้นทางธรรมชาติที่ทุ่งโปรงทอง ป่าชายเลนแสมภู่ ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
พื้นที่กลุ่มประมงเรือเล็กปากคลองตากวน ตัวอย่างการอยู่ร่วมกันระหว่างการดำเนินธุรกิจ ชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพที่สมดุล และ กลุ่มเยาวชนขณะเข้าศึกษาความเป็นอยู่และการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่
กลุ่มเยาวชนขณะเข้าชมและศึกษาเทคโนโลยีในการสำรวจและระบุแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และแหล่งการเรียนรู้ทางด้านอวกาศ Space Inspirium
นางสาวนภัสสร ปิ่นแก้ว หรือ ซอ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ตัวแทนทีมชนะเลิศ จากโครงงาน “แอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ SEAN”
เกี่ยวกับ ค่ายเพาเวอร์กรีน
โครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” (The Power Green Camp) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยความร่วมมือระหว่างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ภายใต้แนวคิดที่ว่า “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม - เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเน้นให้เยาวชนรู้จักนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้แก่เยาวชน สร้างแกนนำและเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยกลุ่มเป้าหมายของค่าย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปู
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานชั้นแนวหน้าของเอเชีย ดำเนินธุรกิจถ่านหิน ธุรกิจไฟฟ้า และพลังงานที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
บ้านปูฯ เชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ของบ้านปูฯ ในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ
# # # # #
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
วลัยสมร ผึ้งน้อย 02.627.3501 ต่อ 222
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ปริตต์ กาศยปนันทน์ 02.627.3501 ต่อ 129
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
อรสิริ วรยศ 02.694.6923
ornsiri_v@ banpu.co.th
มุกพราว พ่วงเผือก 02.694.6892
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.