คปภ.เชิญคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระและผู้สอบบัญชีบริษัทประกัน ทั่วประเทศประชุมร่วมกันถอดบทเรียนสาเหตุการปิดบริษัทประกัน
คปภ.เชิญคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระและผู้สอบบัญชีบริษัทประกัน ทั่วประเทศประชุมร่วมกันถอดบทเรียนสาเหตุการปิดบริษัทประกัน เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม • เลขาธิการ คปภ. แนะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระด้านประกันภัยรวมตัวกันเป็นชมรม แชร์ประสบการณ์และร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและความมั่นคงของระบบการประกันภัยไทย ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับระบบประกันภัย ซึ่งเลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหาร สำนักงาน คปภ. ประชุมร่วมกับประธานคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และผู้สอบบัญชีจากภายนอกของบริษัทประกันภัยทุกแห่ง รวมกว่า 400 คน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ เพื่อถอดบทเรียนกรณีที่มีการปิดบริษัทประกันภัย โดยได้วิเคราะห์สาเหตุของการหยุดชั่วคราวของธุรกิจประกันวินาศภัย การควบคุมบริษัทประกันชีวิต ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต โดยคณะกรรมการตรวจสอบถือเป็น Third-line of defense หรือปราการด่านสุดท้ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทมีความถูกต้อง โปร่งใสและเป็นไปตามกฎระเบียบ ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติจากท่านประสัณห์ เชื้อพานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชี ในคณะกรรมการ คปภ. เข้าร่วมประชุม และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
นอกจากนี้ในการประชุมร่วมครั้งนี้ยังได้มีการทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2561 ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบในการกำกับดูแลงบการเงินของบริษัทประกันภัย และแนวทางในการป้องกันมิให้บริษัทประกันภัยมีพฤติกรรมอันนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ประกาศ คปภ. เกี่ยวกับการเสนอขายที่ปรับปรุงใหม่ มีสาระสำคัญที่เน้นเกี่ยวกับรายละเอียดของการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมในการเสนอขาย มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าโดยเฉพาะการขายผ่านทางโทรศัพท์ และสำหรับบริษัทที่มีการขายผ่านธนาคาร ดังนั้น คณะกรรมการตรวจสอบต้องควบคุมและตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกติกาของ คปภ. ด้วย นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงมาตรการในการลงโทษ โดยเพิ่มมาตรการในการลงโทษตามลำดับชั้นของความผิด ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ออกประกาศ คปภ. เรื่อง การกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทประกันภัย พ.ศ. 2562 หรือ “ประกาศ CG (Corporate Governance)” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้ยกระดับจาก CG Guideline ที่ออกไว้เมื่อปี 2557 เน้นรายละเอียดให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และบริบทของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องดำเนินการ ดังนี้
1. จัดทำ CG Framework ให้เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการทบทวนตามความเหมาะสม
2. กำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการ ต้องมีองค์ประกอบ และจำนวนของกรรมการที่เหมาะสม มีการถ่วงดุลอำนาจ และคำนึงถึงความสามารถของกรรมการในการทำงานร่วมกัน ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
3. การแต่งตั้งประธานคณะกรรมการของบริษัท ประธานฯ ควรจะต้องเป็นกรรมการอิสระหรือกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารของบริษัท เพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี
4. กำหนดบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำองค์กร และแบ่งแยกหน้าที่ของกรรมการบริษัท ผู้บริหารของบริษัทในฐานะฝ่ายกำกับดูแล และฝ่ายบริหารของบริษัทไว้อย่างชัดเจน
โดยอยากเห็นคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ และผู้สอบบัญชีของบริษัทประกันภัย มี “R-E-A-C-T” ซึ่งประกอบด้วย R - Reliability คือ“รู้ทัน สั่งการ ติดตาม” E - Experience คือใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทำงานของบริษัทและมี A - Assurance คือปฏิบัติหน้าที่ทั้งการตรวจสอบเชิงป้องกัน หรือการตรวจสอบเพื่อหาข้อบกพร่อง ระบบการตรวจสอบที่ดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทประกันภัยมีรายงานทางการเงินที่มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง เชื่อถือได้ นอกจากนี้ยังต้องมี C - Compliance คือขอให้สอบทานว่าบริษัทมีวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบแล้วหรือไม่ และกระบวนการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Unit) และการตรวจสอบภายในสอดคล้อง และครอบคลุมกับประกาศ และข้อกำหนดต่างๆ แล้วหรือไม่ และสิ่งสุดท้ายที่ต้องมีคือ T - Transparency คือความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ในการประชุม ยังได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจ เรื่อง เกี่ยวกับสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาต และความคาดหวังต่อบทบาทของคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องระบบการควบคุมภายใน โดยนายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ อีกทั้งได้มีการชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องประกาศ คปภ. เกี่ยวกับการเสนอขายที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ “Appropriateness for the Best Policy” โดย นายอรรถพล พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย รวมถึงยังได้มีการนำเสนอเรื่องบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบในการกำกับดูแลงบการเงิน และประเด็นที่คณะกรรมการตรวจสอบควรให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความถูกต้องของงบการเงิน เพื่อแสดงความเห็นที่เป็นอิสระและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย รวมทั้งเปิดให้ที่ประชุมได้ซักถามและให้ข้อเสนอแนะ
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังได้แนะนำให้กรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระด้านประกันภัยมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยในเบื้องต้นอาจจัดทำเป็นชมรม เพื่อจะได้มีเวทีพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหาของบริษัทประกันภัยได้รับการป้องกันหรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีและเป็นระบบ
“สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากการประชุมในวันนี้ จะมีการนำประเด็นที่ สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยไปพิจารณาว่า บริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันความเสี่ยง กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม รวมถึง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจก็สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที เพื่อช่วยกันทำให้บริษัทประกันภัยมีความเข้มแข็ง และเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย