“อินฟอร์มา มาร์เก็ต” เปิดเส้นทางผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย สู่ตลาดโลก
“อินฟอร์มา มาร์เก็ต” เปิดเส้นทางผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย
สู่ตลาดโลก ผ่าน “Cosmoprof CBE ASEAN 2020”
งานจัดแสดงสินค้าธุรกิจความงามระดับโลก
สร้างโอกาสตลาดความงามไทยโตสวนทางกระแสเศรษฐกิจ
บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ต จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจ อุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่กำลังเติบโต ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย แถลงข่าวการจัดงาน “คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563 (Cosmoprof CBE ASEAN 2020)” งานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก ที่จะมาสร้างบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมความงามในภูมิภาคอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการด้านความงามไทย ฝ่าวิกฤตเปิดทางออกปัญหาเศรษฐกิจโลก ผ่านงานเสวนา “ฝ่าวิกฤติ กับโอกาสการลงทุนเครื่องสำอางไทยในตลาดโลก ปี 2563” จากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดความงามและเครื่องสำอางชั้นนำ
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย กล่าวถึง ภาพรวมของตลาดเครื่องสำอางไทยว่า “ตลาดเครื่องสำอางถือเป็นตลาดที่มีกำลังการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสะท้อนความน่าเชื่อถือของเครื่องสำอางไทยในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งศักยภาพของประเทศไทยยังเอื้อต่อการเติบโตของตลาดเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านมาตรฐานภาคการผลิตในระดับสูง คุณค่าของวัตถุดิบที่สามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมไปถึงความเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนและมาตรฐานของระบบโลจิสติกส์ ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมความงามไทยมีความพร้อมและเป็นที่เชื่อมั่นของนักลงทุน”
ทั้งนี้ ด้วยจุดแข็งของตลาดเครื่องสำอางไทย มีผลช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศมีการขับเคลื่อน และดึงเอาเม็ดเงินจากต่างชาติให้ไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น ทั้งยังเป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตแข่งขันกับผู้เล่นเก่าและผู้เล่นต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ที่สินค้า Made in Thailand Products มีความต้องการซื้อพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เช่นจากใน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ออสเตรเลีย ‘อินฟอร์มา มาร์เก็ต’ จึงใช้โอกาสนี้ สร้างเวทีเพื่อผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยนำพาสินค้าในมือขยายไปสู่ตลาดโลก ในชื่องานว่า “คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563 (Cosmoprof CBE ASEAN 2020)” ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
“คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563” เป็นงานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก บนเนื้อที่กว่า 25,000 ตารางเมตร พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมความงามในภูมิภาคอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 17-19 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายในงานเป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้ประกอบการความงามได้นำเสนอสินค้าและนวัตกรรมความงามจากทั่วทั้งอาเซียน พร้อมเปิดโอกาสขยายการเติบโตให้ผู้ประกอบการความงาม อาทิ ‘โปรแกรมจับคู่เจรจาธุรกิจ Business Matching’ โปรแกรมทางธุรกิจ ออกแบบให้ผู้ออกงานได้พบกับคู่ค้าทางธุรกิจ หรือผู้ซื้อ ที่ตรงความต้องการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น, ‘โปรแกรม Hosted Buyer’ ไฮไลต์สำคัญของงาน ที่รวมตัวผู้ซื้อคุณภาพจากทั่วโลก ให้มาพบกับผู้ประกอบการไทยภายในงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ, กิจกรรม ‘Cosmoprof CosmoTalks’ นำเสนอข้อมูลเชิงลึกรูปแบบใหม่ ด้านแนวโน้มและลักษณะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเวทีสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดความงามแก่ผู้ประกอบการไทย และการแสดงสาธิตโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ
ทางด้าน นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม ประธานกลุ่มเครื่องสำอางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันในตลาดผู้ผลิตเครื่องสำอางว่า “แม้ว่าตลาดเครื่องสำอางจะมีมูลค่าการเติบโตสูงขึ้นทุกปี แต่ในด้านของการแข่งขันก็มีไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีรูปแบบนำเสนอสินค้าที่หลากหลายกว่าเดิม อาทิ เทรนด์ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ Packaging ที่แตกต่างพกพาสะดวก ราคาต่อหน่วยที่ถูกลง โดยเฉพาะช่องทางการขายที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งจากช่องทางเดิมๆ ใน Modern trade, Convenient store, Beauty shop, Retail shop และการบุกทาง Online ผ่านทาง Social Media ต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ใช้งบน้อยและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย โดยกลุ่ม Startup, ดารานักแสดง, Net Idol ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้พฤติกรรม Brand Loyalty ของผู้บริโภคลดลง และนำมาซึ่งการตัดสินใจใช้สินค้าใหม่ๆ แบรนด์ใหม่ๆ ง่ายขึ้น”
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคครั้งนี้ ประกอบกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ตลาดเครื่องสำอางมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่ม Mass ระดับกลางและระดับล่าง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่, กลุ่มผู้ขายสินค้านำเข้า หรือแม้แต่กลุ่ม Global Brand เอง ก็เริ่มพัฒนา Collection ที่ถูกลง เพื่อเข้าหาลูกค้ากลุ่ม Mass มากขึ้น รวมถึงออก Fighting brand ใหม่ๆ ในราคาที่จับต้องได้ เพื่อร่วมในตลาดระดับรองลงมา และรักษาส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มสินค้านั้นๆ แต่โชคดีที่ในปี 2563 สัดส่วนของผู้บริโภคจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุของกลุ่มที่เริ่มใช้เครื่องสำอางมีค่าเฉลี่ยลดลง ทั้งยังมีโอกาสจากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และมองหาคู่ค้าไทยในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในเวที “คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563” ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถส่งสินค้าในมือไปสู่ตลาดโลก เพื่อสู้กับการแข่งขันที่ขยายตัว ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางเกศมณี กล่าวต่อไปว่า “เศรษฐกิจประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการส่งออกในระยะหลังค่อนข้างเติบโตช้า เนื่องมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า และสงครามการค้าของจีน-สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่นับเป็นเรื่องดีที่ตลาดเครื่องสำอางไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากความเชื่อมั่นสินค้าด้านเครื่องสำอาง Made in Thailand product ซึ่งเห็นจากมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางไทยในปี 62 กว่า 130,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 6% แต่ทั้งนี้ การจะดันมูลค่าตลาดให้เติบโตขึ้นต้องอาศัยการร่วมจากทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและภาครัฐ ในการผลักดันชุดยืนของโลโก้ Made in Thailand ให้ชัดเจนและน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงต้องร่วมกันผลักดันงานแสดงสินค้าให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น เพื่อที่จะส่งให้สินค้าความงามไทยไปอยู่ในสายตาโลกได้มากที่สุด”
ในส่วนของภาคผู้ประกอบการอย่าง นายพงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการสร้างความสำเร็จในตลาดความงามโลกว่า “ตลาดเครื่องสำอางเป็นตลาดที่มีความใหญ่เป็นอันดับต้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สามารถนำพาแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จได้คือการจับจุดเด่นตัวเองให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด กล่าวคือตัวสินค้าต้องมีนวัตกรรมและคงคอนเซปต์ที่ชัดเจน รวมถึงต้องตามเทรนด์ใหม่ๆ จับกระแสขอโลกอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ แบรนด์ที่ดีควรมีสินค้าหลายขนาด หลายรูปแบบไม่จำเจ ให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลายในราคาที่เอื้อมถึง ที่สำคัญควรรู้จักประเทศคู่ค้าให้ดี อาทิ ทำความเข้าใจด้านกฎหมายการค้า กระบวนการภาษี การขนส่ง ราคาที่เหมาะสม และมีการส่งเสริมการตลาดที่ดี อย่างด้านโปรโมชั่นหรือสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะประเทศนั้นๆ เป็นต้น”
ด้านอีกหนึ่งผู้ประกอบการอย่าง นางรุ่งระวี กิตติสินชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ในตลาดความงามโลกว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการผลิตและมี Supply Chain ที่ครบวงจร และยังมีแรงงานที่มีทักษะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งการเสริมจุดแข็งเหล่านี้ ผู้ประกอบการใหม่ควรศึกษาถึงการใช้ทรัพยากรที่มี เพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการ Formulate สูตรต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า พร้อมคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย และควรเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ด้วยการสร้างสรรค์สินค้าให้มีคุณภาพและปลอดภัยในระดับผ่านการประเมินจากองค์กรที่มีการรับรองในระดับสากลทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการเสริมศักยภาพของตัวองค์กร อาทิ เป็นสินค้าที่มีสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบไปยังต่างประเทศ หรือการบริหารการจัดการให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ด้านการผลิต การจัดเก็บ ไปจนถึงการส่งมอบ”
“จากการคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจของนักลงทุน และนักเศรษฐศาสตร์ พบกว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยรวมไปถึงในระดับโลก อาจยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในเร็วนี้ ทว่าในตลาดเครื่องสำอางและความงามไทยยังคงเป็นตลาดที่มีความแข็งแรงอยู่ ทั้งยังมีแนวโน้มที่สามารถเติบโตสวนทางกับกระแสเศรษฐกิจโลก และเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ประกอบการไทย รวมไปถึงตลาดความงามไทย ‘อินฟอร์มา มาร์เก็ต’ จึงใช้ประสบการณ์การจัดงาน Cosmoprof ทั่วโลกที่ผ่านมา และความเข้าใจใน Insight ความต้องการของธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงาม เพื่อผลักดันให้ “คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก” ได้เติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยไปอีกขั้น เพื่อให้โอกาสการลงทุนเครื่องสำอางไทยในตลาดโลกมีตัวเลขเพิ่มขึ้น พร้อมพาตลาดความงามฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสรรชาย กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร และรายละเอียดเพิ่มเติมของนิทรรศการแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก “คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563 (Cosmoprof CBE ASEAN 2020)” ได้ที่ www.cosmoprofcbeasean.com