“สมาคมเพื่อนชุมชน”ร่วมขับเคลื่อนศก.ฐานราก โชว์ผลิตภัณฑ์8วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งจ.ระยอง

“สมาคมเพื่อนชุมชน”ร่วมขับเคลื่อนศก.ฐานราก โชว์ผลิตภัณฑ์8วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งจ.ระยอง

 

 

 

 

“สมาคมเพื่อนชุมชน”ร่วมขับเคลื่อนศก.ฐานราก

โชว์ผลิตภัณฑ์8วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็งจ.ระยอง

 

 

นโยบายประชารัฐของรัฐบาลคือการรวมพลังในทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเน้นการยกระดับรายได้ให้กับชุมชนรวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนซึ่งที่สุดจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพใหญ่ให้กับประเทศ

 

            “สมาคมเพื่อนชุมชน” ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวของ 5 บริษัทใหญ่ได้แก่ กลุ่ม ปตท.  เอสซีจี  กลุ่ม บริษัท ดาวประเทศไทย  โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และ  โรงไฟฟ้ากลุ่มบริษัท โกลว์ ได้ตอบสนองนโยบายรัฐด้วยการจับมือกับทุกภาคส่วนที่ได้เข้าไปช่วยพัฒนา8 วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยองให้เกิดความเข้มแข็งด้วยการบริหารจัดการจนสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้จากผลิตภัณฑ์พื้นบ้านธรรมดาๆ ใช้การขายแบบปากต่อปาก จนกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นในชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวให้กับชุมชม เมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งทั้งหมดมีส่วนสำคัญต่อการเสริมให้ภาคการเกษตรและชุมชนในพื้นที่จ.ระยองมีความยั่งยืน ย้ำเจตนารมณ์ของสมาคมฯ และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ในการสร้างสังคมแห่งการเอื้ออาทรพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พร้อมก้าวเดินเคียงบ่า เคียงไหล่ไปพร้อมๆ กันของชุมชนและอุตสาหกรรม

 

                 สมาคมฯเข้าไปยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการโดยร่วมมือกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการสมาคมเพื่อนชุมชนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบเขตพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ โดยนำหลัก “ธรรมศาสตร์โมเดล” เข้ามาประยุกต์ใช้กับ 8 วิสาหกิจชุมชน ได้แก่  1.วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเทวินทร์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแปรรูปจากสมุนไพรท้องถิ่น2.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทิวลิป-ชุมชนเนินพะยอม จำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมเปี๊ยะสด“8 เซียน ขนมเปี๊ยะแห่งระยอง” 3.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปกล้วย-ชุมชนมาบชลูด จำหน่ายผลิตภัณฑ์ กล้วยหอมทองฉาบ-กวน “ตุ้ยนุ้ย”

 

4.วิสาหกิจชุมชนแตนบาติก จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ ผ้าบาติกและผ้ามัดย้อม “TAN TIE DYE”5.วิสาหกิจชุมชนเกษตรคลองทราย จำหน่ายผลิตภัณฑ์ก้อนเห็ด-เห็ดสด และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเห็ด “โดมเห็ด”6.วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลไม้-ชุมชนบ้านพลง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป7.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชุมชนมาบข่า-มาบใน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ดอกไม้ประดิษฐ์จากผ้าใยบัว“มาบศิลป์”และ 8.วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่“นาผืนสุดท้ายและชาวนาคนสุดท้ายของมาบตาพุด” ลูกประคบสด และผลิตภัณฑ์นวัตรกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ “Rice Me” และ นวัตรกรรมผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากลูกประคบสดเป็น “หอมเฮิร์บ”

 

            สำหรับรูปแบบดำเนินงานหรือ “ธรรมศาสตร์โมเดล” จะมีการมอบหมายให้นักศึกษาลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัย เพื่อยกระดับคุณภาพและนำจุดเด่นมาสร้างจุดแข็งให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยกลไกทางการตลาดยุคใหม่เข้าไปให้ความรู้กับวิสาหกิจชุมชนในการขยายช่องทางตลาดในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างกลไกของเครือข่ายระหว่างวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งในด้านวัตถุดิบ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน รวมทั้งยังคงรักษาวิถีชาวบ้านให้คงอยู่ การใช้ระบบอี-คอมเมิร์ช (E-Commerce) รวมถึงการจัดทำผลิตภัณฑ์ใหม่ และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์

 

                ทั้งนี้จากการได้นำองค์ความรู้มาพัฒนากระบวนการจัดการ เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงเพิ่มช่องทางจำหน่ายของวิสาหกิจชุมชนต้นแบบทั้ง 8 กลุ่ม ครบระยะเวลา 4 เดือน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2559) ปรากฏว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทั้งในด้านการตลาด บริหารจัดการ การลดต้นทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งให้มีความทันสมัยมากขึ้น เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิม มีการเพิ่มขึ้นของยอดขายและผลกำไร โดยเฉพาะการขยายช่องทางจำหน่ายเข้าสู่ออนไลน์ ที่ทำให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 365 วัน

 

               3ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างจุดเปลี่ยนที่ดีให้กับจังหวัดระยอง หลังจากที่ทางสมาคมเพื่อนชุมชนได้เข้ามาให้การส่งเสริมฯ ทำให้วิสาหกิจชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการตลาด การบริหารจัดการ การลดต้นทุน การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ การปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งให้มีความทันสมัย  การเพิ่มขึ้นของยอดขายและผลกำไร โดยเฉพาะการขยายช่องทางจำหน่ายเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้วิสาหกิจชุมชน สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่เพียงเฉพาะในตลาดในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดประเทศสมาชิกเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ด้วย

 

                ขณะที่นางสาวเชาวนี พันธุ์พฤกษ์ ผู้บริหารสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม 65 โรงงาน และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแบบครบวงจรในการยกระดับทุกภาคส่วน เพราะนอกจากจะส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้และพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาทั้งด้านชุมชนและนักศึกษา กล่าวคือ ผลักดันให้ชุมชนมีอาชีพ และนักศึกษามีความรับผิดชอบต่อชุมชน

 

                ด้าน  นางวราภรณ์ สุขชัยศรี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลไม้-ชุมชนบ้านพลงเป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทางกลุ่มได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถลดต้นทุนและเวลาการผลิต การลดต้นทุนแพคเกจจิ้งจากเดิมที่มีต้นทุนเฉลี่ย 5 บาทต่อถุง เหลือเพียง 3 บาทต่อถุง และทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายมีมูลค่าเพิ่ม  ทำให้ทางกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักแสนบาทต่อเดือน จากเดิมที่มีรายได้เพียง 2-3 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น

 

            “ล่าสุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งให้ทางกลุ่มไปเจรจาธุรกิจข้ามประเทศที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้ทางกลุ่มสามารถขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศและตลาดการค้าชายแดน” น.ส.วราภรณ์กล่าว

 

ขณะที่นายสำราญ ทิพย์บรรพต ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพชุมชนเกาะกก กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเดิมที่จำหน่ายเพียงข้าวไรซ์เบอร์รี่ กับสมุนไพรลูกประคบ เป็นผลิตภัณฑ์สแน็คบาร์ ภายใต้ชื่อ Rice Me ทำให้ทางกลุ่มสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้จากเดิม 20 เท่า หรือ 2,000% ส่วนสมุนไพรลูกประคบ ได้นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบแห้งบรรจุในรูปแบบหมอนหนุนคอ ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดกลุ่มสปาและคนรักษ์สุขภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์เข้าไปจำหน่ายในร้านกาแฟอเมซอน ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อด้วย ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียด  อีกทั้งทางกลุ่มได้เปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์

 

                ความสำเร็จครั้งนี้จุดเริ่มต้นคือการที่วิสาหกิจชุมชน ทั้ง 8 กลุ่มสมัครใจที่จะร่วมโครงการซึ่งพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจต่อคณะนักศึกษาของโครงการทำให้สามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนและเข้าไปปรับปรุงจนเกิดประสิทธิภาพได้  ซึ่งสมาคมเพื่อนชุมชนและคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับ 8 วิสาหกิจชุมชนจนถึงเดือน พ.ย. นี้ พร้อมกับการถอดบทเรียน เพื่อสรุปและใช้เป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจรายอื่นในพื้นที่จ.ระยอง ที่ยังมีอีกราว 500 วิสาหกิจชุมชนต่อไปทั้งนี้เพื่อที่จะทำเศรษฐกิจชุมชนเป็นฐานรากเศรษฐกิจของประเทศที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตลอดไป