Strict Standards: Only variables should be assigned by reference in /home/admin/web/changeintomag.com/public_html/plugins/content/fcomment/fcomment.php on line 103
เชื่อ ในสิ่งที่ชอบ รัก ในสิ่งที่ทำ สละทุกอย่างเพื่อสิ่งที่รัก ถวายชีวิตที่เหลือ “เพื่อพระพระธรรมและสังคม” ณ สถาบันปัญญ์สุข ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ
เรื่อง เป็นไทย ภาพ ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง ขณะบางสิ่งกำลังเริ่มต้น บางสิ่งอาจกำลังจะสิ้นสุด หลายเรื่องบนโลกยังคงคลุมเครือและเป็นความลับ เช่น เรื่องราวของการ “มี” และการ “ไม่มี” อะไรเลย เพราะมนุษย์มักใช้เอาเปรียบกันและกัน คือ การวัดกันที่ “จำนวน” คนที่มีอะไรมากกว่ามักเป็นผู้ครอบครอง
โลกมีความกว้างเท่าที่มนุษย์สามารถคำนวณได้ มีจุดสูงสุดเท่าที่มันมีอยู่จริงมนุษย์จะไต่เต้าสูงขึ้นไปได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อสรรพสิ่งที่รายล้อมพวกเขามีขอบเขตอยู่จำกัด เมื่อทุกคนมองแต่จุดสูงสุด แข่งขันกันตะเกียกตะกายขึ้นไป ที่สุดผู้คนก็พากันลุ่มหลงกับมูลค่าอันเป็นมายา
เมื่อมนุษย์ลุ่มหลงวกวนอยู่ในโลกมายาต่อให้ทุกสรรพวิชาก็ไม่สามารถทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จได้ในวิชาที่ตัวเองสู้อุตส่าห์ร่ำเรียน บางคนถึงขนาดข้ามน้ำขามทะเลไปกอบโกยสรรพวิชามาจากอีกมุมหนึ่งของโลกแต่สุดท้ายก็ต้องคืนทุกอย่างสู่ธรรมชาติแล้ววิชาใดเล่าที่จะสามารถทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จดังหวัง?
ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ผู้ตั้งคำถามจึงเริ่มต้นทำการวิจัยในหัวข้อ “รูปแบบการพัฒนาความฉลาดทางสังคม (A Model of Social Intelligence Development)” และคำตอบที่ได้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ
ไปโดยสิ้นเชิง
ก่อตั้งสถาบันปัญญ์สุขเพื่อสร้างความสุขด้วยปัญญา
กว่าจะเป็น ดร.เพชรยุพาในวันนี้ ทุกบททุกตอนของชีวิตเหมือนละครฉากหนึ่งซึ่งยาวมาก เธอกรำงาน พูด เขียน งานสอนมาด้วยใจรัก เป็นเจ้าของสามสำนักพิมพ์ คือ ณ เพชร, นะเพชรเผ็ด, ดร.เพชรสำนักพิมพ์ ซึ่งเป็นธุรกิจองค์กรแบบใหม่ ประกอบด้วย สำนักพิมพ์ การฝึกอบรมภายในและภายนอก สถาบัน เป็นการทำธุรกิจที่ตระหนักถึงการ
ปวารณาตัวรับใช้พระธรรมและสังคมไปพร้อม ด้วยค่านิยมอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะนำกลับไปส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อพระธรรมและสังคมเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งตอนนี้ได้ก่อตั้งโครงการ “เพื่อน้องต้องเรียนรู้” คือให้ทุนการศึกษากับเยาวชนผู้รักและใฝ่เรียนรู้ และโครงการ “เพื่อน้องหนู บ๊อกๆ เมี้ยวๆ”
เป็นกิจกรรมหารายได้มอบให้สุนัขและแมวจรจัดทั่วราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่อาสาสมัครรับใช้พระธรรม มหาวิชชาลัยธรรมะเพื่อเยียวยาสังคม สาวิกาสิกขาลัยเสถียรธรรมสถาน
หนังสือเกือบทุกเล่มที่เขียนและผลิตภายใต้แบรนด์สำนักพิมพ์ล้วนติดอันดับขายดีติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ด้วยปรัชญา “เชื่อในสิ่งที่ชอบ รักในสิ่งที่ทำ สละทุกอย่างเพื่อสิ่งที่รัก” มุ่งมั่น จริงจัง ไม่หวั่นไหวต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ ชีวิตจึงปูลาดไปด้วยกลีบดอกไม้แห่งความสุข ตราบกระทั่งหอบดีกรีปริญญาเอก สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาก่อตั้งสถาบันการสอนภายใต้ชื่อ“สถาบันปัญญ์สุข”
สถาบันปัญญ์สุขก่อตั้งขึ้นภายใต้หลักธรรม “โยนิโสมนสิการ” การเจริญสติ การขัดเกลาทางปัญญา คือมรรควิธีอันทรงความสำคัญยิ่งในการฝึกตนให้สามารถมองเห็นแง่ดีงามของความทุกข์ เข้าถึง “ภาวนามย-ปัญญา” หรือปัญญาที่เกิดจากการวิปัสสนาซึ่งเป็นปัจจัตตัง คือผู้รู้ก็รู้ได้ด้วยตนเอง แปลเป็นความสุข ความสว่างเรืองรองของปัญญา
อันวาวโรจน์โชตนาขึ้นมาในทุกขณะจิต
เกือบสองปีที่ก่อตั้งสถาบันปัญญ์สุขเจริญงอกงาม ได้รับการตอบรับจากผู้สนใจมาเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก เปิดให้มีกิจกรรมหลากหลาย ทำการเปิดสอนสามวิชาที่มีความถนัดคือ ศิลปะแห่งความสุข (Art of Happiness) ศิลปะแห่งการพูด (Art of Speech) ศิลปะแห่งการเขียน (Art of Writing) ภายใต้ทฤษฎี “รูปแบบการพัฒนาความฉลาดทางสังคม” ลงมือสอนเองด้วยองค์ความรู้ที่คัดสรร มาเพื่อผู้ปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มั่งคั่งกว่า และประสบกับสิ่งที่ตัวเองนิยมชมชอบอย่างแท้จริง
จูนปัญญ์สุขสู่โครงการ “เติมเต็มรักในความเป็นไทย”
ขณะภารกิจใน “สถาบันปัญญ์สุข” รุดหน้าไปตามคืนวันอันงดงาม ดร.เพชรยุพาเริ่มผันชีวิตเข้าสู่งานที่ตัวเองรักมาตั้งแต่ชาติปางก่อนนั่นคือ รักในความเป็นไทย ในทุกอณูชีวิต โดยเฉพาะงานทางด้านวรรณศิลป์ของไทย ซึ่งถือว่าภาษาไทยนั้นเป็นรากเหง้าของความเป็นไทยอย่างแท้จริง จึงเกิดโครงการที่ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์มาแล้ว นั่นคือ
โครงการ “เติมเต็มรักในความเป็นไทย” FULFILL THE LOVE OF BEING THAINESS PROJECT
ด้วยแนวคิดที่ว่า “คนไทย” มีภาษาและวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งถือเสมือนรากแก้วหยั่งรากฝังลึกสืบทอดกันมายาวนาน แม้คนต่างชาติที่ได้มีโอกาสมาพบเห็นก็ยังเกิดความสนใจ บรรพชนได้สร้างความเป็นไทยไว้ในขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี ความเป็นอยู่อาหารการกิน ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ เหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดสืบต่อมาอย่าง
เป็นรูปธรรมให้ผู้คนได้รับรู้ และเกิดความ ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของความเป็น “ไทย”
แต่ด้วยปัญหาของคนไทยในปัจจุบันซึ่ง ไม่รู้เท่าทันวิถีชีวิตของตัวเอง พยายามก้าวล้ำทันสมัย หมายใจให้เท่าทันเทคโนโลยีผลักดันลูกหลานซึ่งเป็นอนาคตอันสำคัญของชาติไทยหันหน้าเข้าสู่ค่านิยมทางด้านการสื่อสาร ความมั่งคั่ง จึงเข้าไปศึกษาภาษาต่างชาติ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่หากการศึกษาของไทยจะป้อนและปลูกฝังให้เยาวชนสนใจภาษาไทย ซึ่งขณะนี้ปัญหาของการพูด อ่านเขียน ภาษาไทย เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาวิกฤต ในนามของคนที่รักความเป็น “ไทย” โดยเฉพาะภาษาไทยซึ่งเคยมีประสบการณ์ตรงในช่วงทำดุษฎีนิพนธ์ แล้วมองเห็นข้อบกพร่องของผู้ที่อ่อนด้อยในภาษาไทยในบทที่ต้องนำวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมาเขียน (review literature) ก็จะเห็นปัญหาในคำเชื่อม บุพบท สันธาน คือยกกันมาเป็นหน้า ๆ แล้วอ่าน ไม่รู้เรื่องพัลวันพัลเก เกิดความรู้สึกเสียดายความงดงามในเชิงวรรณศิลป์ของภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง
ดร.เพชรยุพาจึงสร้างบรรยากาศของสถาบันปัญญ์สุขให้มีความเป็นไทยร่วมสมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์“เท่-เหนือ-ไทย” ด้วยปรารถนาให้คนไทยใช้ภาษาต่างชาติอย่างเป็นประโยชน์ด้วยการใช้ภาษาต่างชาติบอกเล่าคุณงามความดีของ
ความเป็นไทยให้คนต่างชาติรับรู้ โดยเฉพาะวิถีไทยที่กำลังจะเข้าสู่กรณีประชาคมอาเซียนสถาบันปัญญ์สุขมีกิจกรรมหลากหลายที่จะให้คนไทยเกิดความรักชื่นชมความเป็นไทยโดยเฉพาะการส่งเสริม และสร้างจิตสำนึกรักไทย เริ่มจากรักภาษาไทย เขียนให้ถูกพูดให้ชัด อ่านให้เพราะ ร่วมค้นหาคุณวิเศษของภาษาไทย ด้วยห้ากิจกรรมการเรียนรู้
ชีวิตที่เหลือเพื่อพระธรรมและสังคม
ชีวิตที่เติบโตมาจากชนบท ผูกพันมากับพรรณไม้นานา สวนลำไย คนงาน นกกาสัตว์เลื้อยคลานหลากหลาย เพื่อนในโรงเรียนที่ไม่ค่อยชอบขี้หน้า ค่าที่เป็นคนเกกมะเหรกเกเร และฝูงน้องหมาจอมซนสุดรักอีกจำนวนหนึ่ง นั่งรถบขส.เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวงยามใดที่มีคนถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร”เธอจะตอบโดยไม่ลังเลว่า “อยากเป็นความสุข”เพราะแม่มักบอกเธอว่า “ความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต”
เรื่องราวในอดีตเหล่านั้นยังคงหลับใหลซุกซ่อนอยู่ในดวงจิต และสามารถเผยตัวไปในความฝัน อาจอยากบอกอะไรบางอย่างกับเจ้าของเรื่องราว ผู้คนในสังคมล้วนเติบโตมาด้วยประสบการณ์ร่วม หัดเรียน หัดอ่าน หัดจดจำ เข้าสู่ชีวิตการศึกษา กิจกรรมในสังคมปัจจุบันการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องมาเป็นอันดับหนึ่งซึ่งมนุษย์อาจหลงลืมไปว่า
“วิชาที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ หาใช่วิชาที่อยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการไม่วิชาดังว่าคือ “การเดินทางภายใน” ทางพุทธศาสนาเรียกขานขนานนามวิชานี้ว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” ซึ่งชีวิตในอดีตเราอาจไม่แตกต่างกัน ทุกเรื่องราว สุข ทุกข์ ดี เลว สมหวังผิดหวัง จน รวย เหล่านี้คือบททดสอบให้ก้าวผ่าน และพระธรรมของพระพุทธองค์นี่เองที่ทำให้มี เมื่อมีในระดับหนึ่ง ก็รู้จักพอ รู้จักวางและมีความตั้งใจว่า ชีวิตที่เหลือจะสร้างสานแต่สิ่งที่ดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อโลกและสังคมชีวิตที่เปลี่ยนจากประชาชนผู้ยากไร้ กลายเป็นมหาเศรษฐี เปรียบความเปลี่ยนแปลงหรือ
Change ก็คือความเป็น “อนิจจัง” และที่สุดของมนุษย์คือ “ความตาย”ซึ่งทุกชีวิตต้องไปถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง หากไม่สร้างสานสาระประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ชาติก็จะไม่หลงเหลือสาระแก่นสารดีงามใดไว้ในโลก
ดร.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะทำงานรับใช้พระธรรม และสังคมจนกว่าจะหมดลม...”