ก้าวทีละก้าว

ก้าวทีละก้าว

 

 

 

 

CHANGE Your Money
ขวัญชนก วุฒิกุล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ผู้ดำเนินรายการ "รายการเงินทองต้องรู้" ออกอากาศทางวิทยุ smartbomb FM 90.5

 

ก้าวทีละก้าว


สุดสัปดาห์ก่อน ถ้าใครเป็นแฟนรายการเงินทองต้องรู้ หรือติดตามเฟซบุ๊คแฟนเพจ หรือไอจีของดิฉัน คงทราบว่า ดิฉันประสบอุบัติเหตุระหว่างการออกกำลังกาย

เรื่องของเรื่อง คือ ปกติดิฉันมักจะออกกำลังกายทุกวันเสาร์–อาทิตย์ ตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง แล้วก็ออกไปเดินเร็วๆ สลับกับเดินช้าๆ รอบสวนสาธารณะในหมู่บ้านนั่นแหละค่ะ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ไม่เปลืองเงิน ไม่ต้องหาที่จอดรถ ได้ฟอกปอดขยายปอดกับต้นไม้ใบหญ้าบ้าง และที่สำคัญคือ เป็นการออกกำลังกายที่ทำคนเดียวได้เลย ไม่ต้องรอใคร

อย่างที่บอกว่า ปกติจะเดินเร็วๆ สลับกับเดินช้าๆ แต่รอบนี้ไม่รู้คิดยังไง คิดว่าเรายังไหว ประกอบกับอากาศกำลังเย็นสบาย ก็เลยทดลองวิ่งเหยาะๆ จริงๆ ก็วิ่งไม่ได้เร็วอะไร (หรือไม่รู้ตัวว่าวิ่งเร็วไปก็ไม่ทราบ) วิ่งไปสักพักก็ไปสะดุดกับฝาท่อบนฟุตบาธซึ่งเป็นทางที่ใช้เดินมาหลายปีจนคุ้นเคย สะดุดนิดเดียวบวกกับความเร็วจากการวิ่ง ทำให้ดิฉันถึงกับล้มคว่ำไม่เป็นท่า ได้แผลถลอกเสียเลือดเสียเนื้อไม่น้อย โชคดีที่กระดูกกระเดี้ยวไม่หักไปด้วย

กลับจากโรงพยาบาล นั่งคิดทบทวนว่า ทางเดินที่ใช้มาหลายปี เป็นทางที่คุ้นเคย ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ทั้งฟุตบาธ หรือแม้กระทั่งต้นไม้ที่รายรอบ และที่ผ่านมา หลายครั้งก็เคยเดินสะดุดฝาท่อแบบนี้แหละ แต่ตอนนั้นเดินช้าๆ หรือถึงเดินเร็วๆ พอสะดุดก็ยังพอทรงตัวได้ แต่พอใช้ความเร็วเท่านั้นแหละ สะดุดนิดเดียวถึงกับทำให้เจ็บตัวได้เอาการ

ตอนนี้แหละค่ะที่คำว่า “ก้าวทีละก้าว” นี่ผุดขึ้นในความคิดเลย ถ้าก้าวทีละก้าว ค่อยๆ ก้าว และก้าวอย่างมั่นคง เจออะไรสะกิดให้สะดุดนิดนึง เราก็ยังมี “หลัก” ไว้ประคองตัวได้ ไม่ใช่แค่เรื่องออกกำลังกายจนเจ็บตัว แต่ใช้ได้กับทุกเรื่องของชีวิต รวมทั้งเรื่องเงินๆ ทองๆ

บนหลักคิดหลักเดียว คือ “ก้าวทีละก้าว” ซึ่งหมายถึง “ไม่ประมาท”

“ก้าวแรก” ของการเริ่มต้นบริหารจัดการเงิน ก็คือ เราต้องมี “รายได้” ไม่ว่ารายได้ของเราจะมาจากทำงานประจำ งานพิเศษ งานฟรีแลนซ์ หรือจะมาจากการขายของออนไลน์ หรือจะมาจากการลงทุน ก็สุดแล้วแต่ แต่สุดท้ายเราต้องมี “รายได้” มันถึงจะเริ่มต้นได้

“ก้าวที่สอง” คือ “รายได้ต้องมากกว่ารายจ่าย” ถ้ารายได้เท่ากับรายจ่าย หามาได้เท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น เงินออมก็จะเท่ากับศูนย์ ไม่เหลือให้บริหารจัดการอะไรแล้ว แต่ถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่าย หามาได้เท่าไหร่ใช้มากกว่านั้น แบบนี้มีปัญหา เพราะนอกจากจะไม่มีเงินออมแล้ว ยังมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” เพราะต้องกู้มาใช้จ่าย ดังนั้น ต้องหาทางทำให้รายได้มากกว่ารายจ่าย เพื่อให้เกิด “ส่วนต่าง” ซึ่งก็คือ เงินที่เหลือในแต่ละเดือน เป็นเงินออม หรือเงินที่จะสะสมไว้สำหรับบริหารจัดการต่อไปในอนาคต

ครอบครัวไหนที่รายได้น้อยกว่ารายจ่าย หรือมากกว่าแค่นิดหน่อย เหลือเก็บนิดเดียว มีทางแก้พื้นฐานแค่ 2 ทาง คือ หนึ่ง เพิ่มรายได้ และสอง ลดรายจ่าย ใครที่ไม่รู้จะเริ่มแบบไหน แนะนำให้ทำบัญชีรับ–จ่ายทั้งแบบรายวัน และรายเดือนนะคะ จะทำให้เราเห็นช่องโหว่ว่าจะลดจะเพิ่มตรงไหนได้ หรือจะใช้วิธี “ออมก่อนใช้” ก็ได้ผลค่ะ พอเงินเดือนออกปุ๊บ ก็แยกเงินออมออกมาก่อนอย่างน้อย 10% เช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท ก็แยกเงินออม 2,000 บาทเอามาฝากไว้อีกบัญชีนึงเลย แล้วค่อยใช้ส่วนที่เหลืออีก 90% หรือ 18,000 บาทให้พอ

“ก้าวที่สาม” เมื่อมีเริ่มมีเงินออมแล้ว “ต้องสะสมเงินออมให้มีพลัง” อย่ารีบร้อน อย่าใจเร็วด่วนได้อยากให้เงินส่วนนี้เพิ่มขึ้นเร็วๆ จังหวะที่เราเริ่มมีเงินออม เป็นจังหวะที่ต้อง “ไม่ประมาท” และต้องมี “สติกำกับ” มากที่สุด เพราะหลายคนพอเริ่มมีเงินออมก้อนเล็กๆ ก็อยากทำให้ใหญ่ขึ้นเร็วๆ อยากได้ผลตอบแทนมากๆ สุดท้ายกลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ที่ชวนไปลงทุนล่อหลอกด้วยผลตอบแทนสูงๆ ทั้งแชร์ลูกโซ่ ค้าเงินเถื่อน หรือชวนซื้อหุ้นนอกตลาด

เคยเจอลูกหนี้ที่มาออกรายการ สู้อุตส่าห์เก็บเงินก้อนได้ 2 แสนบาท อยากจะให้เงินงอกเป็น 4 แสน ด้วยการเอาไปเล่นแชร์กับใครก็ไม่รู้ทางเฟซบุ๊ก สุดท้าย 4 แสนก็ไม่ได้ 2 แสนก็ไม่เหลือ หนำซ้ำยังเป็นหนี้เป็นสินวุ่นวาย

ทีนี้ ถ้าถามว่า ต้องสะสมเงินออมเท่าไหร่ถึงมี “พลัง” ก็ต้องแบบนี้ค่ะว่า เงินสะสมก้อนแรกควรจะมีไว้เผื่อสำรองฉุกเฉิน ตามทฤษฎีเลยก็คือ ต้องมีเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ 6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือน ถ้าเรามีรายจ่าย 10,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องสำรองไว้ 60,000 บาท ถ้ารายจ่าย 20,000 บาท ก็ต้องสำรองไว้ 120,000 บาท ทำให้ได้แบบนี้ก่อน ค่อยคิดที่จะก้าวต่อไป

“ก้าวที่สี่” นั่นคือ แสวงหาโอกาสในการขยายดอกผล เมื่อกันเงินเผื่อสำรองฉุกเฉินไว้แล้ว เริ่มสะสมเงินก้อนใหม่ เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทน อันนี้ต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคนว่าต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนเท่าไหร่ และสามารถยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เริ่มตั้งแต่การฝากแบงก์แคมเปญพิเศษเพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ขยับไปถึงซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาล การซื้อสลากออมสินหรือสลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุนหุ้น หรือการลงทุนในหุ้นโดยตรง การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้เช่าหรือขายต่อ รวมถึงการลงทุนในทองคำ เหล่านี้ล้วนเป็น “โอกาสในการแสวงหาผลตอบแทน” ที่รูปแบบแตกต่างกัน ผลตอบแทนต่างกัน ความเสี่ยงก็ต่างกัน ขึ้นอยู่กับเราสนใจแบบไหนและมีความรู้ความเข้าใจแบบไหน

รู้แบบไหน เข้าใจแบบไหน อยากลงทุนแบบไหน ก็เลือกลงทุนแบบนั้น

ตรงนี้สำคัญค่ะ เพราะแม้ “การก้าวทีละก้าว” ไม่จ้ำพรวดพราดนั้นว่า สำคัญแล้ว แต่ที่สำคัญกว่า ก็คือ ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราจะไปลงทุน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกัน “ความเสี่ยง” ให้กับเราได้ระดับหนึ่ง หลายๆ ท่านที่เป็นผู้ฟังรายการวิทยุคงทราบดีว่า ดิฉันประสบอุบัติเหตุเมื่อวันอาทิตย์ แต่พอถึงวันจันทร์ ดิฉันก็ลุกมาทำงานได้ตามปกติ บางคนบอกว่า “เก่งจริง อึดจริง” ซึ่งมานั่งคิดแล้วพบว่า เราไม่ได้เก่งหรือไม่ได้อึด แต่การที่เรา “ล้ม” แล้ว “ฟื้นตัว” ได้เร็ว อาจจะเป็นเพราะร่างกายเราผ่านการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายปี ตรงนี้แหละที่น่าจะเป็น “เกราะป้องกัน” ทำให้ “ล้ม” แล้ว “ลุก” เดินต่อได้เร็ว

เพราะในขณะที่ทุกก้าวของการเดินต้องมีสติกำกับ ทุกก้าวของการลงทุนก็ต้องมีความรู้กำกับเช่นเดียวกันค่ะ