กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 35.40-36.00 รอตีความสัญญาณเฟด
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.40-36.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 35.79 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.43-35.82 บาท/ดอลลาร์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรแต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์แตะจุดสูงสุดในรอบกว่า 6 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ทั่วไปของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.7% y-o-y ในเดือนส.ค. หลังจากปรับขึ้น 3.2% ในเดือนก.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งชะลอลงจาก 4.7% ในเดือนก.ค. นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค.ของสหรัฐฯสูงเกินคาด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 25bp สู่ 4.00% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการใช้สกุลเงินยูโร อย่างไรก็ดี อีซีบีส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย อีกทั้งอีซีบีได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลง ทางด้านเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 5,572 ล้านบาท และ 6,813 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีตราสารหนี้ครบอายุ 4,840 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดการรณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.โดยตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานสรุปการคาดการณ์เศรษฐกิจ(SEP) และดอกเบี้ย(Dot Plot)ฉบับล่าสุด นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยสู่ 5.50% และอาจเป็นครั้งสุดท้าย ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)มีแนวโน้มคงนโยบายไว้ตามเดิม ในภาวะเช่นนี้ ราคาสินทรัพย์ทางการเงินจะเหวี่ยงตัวผันผวนสูงตามท่าทีการสื่อสารของธนาคารกลางหลักของโลกและการตีความของผู้ร่วมตลาด
สำหรับประเด็นในประเทศ กรุงศรีมองว่า ผู้ว่าการธปท.ระบุถึงความกังวลเรื่องเสถียรภาพด้านการคลัง โดยมองว่าไทยไม่จำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคมากนัก เนื่องจากการบริโภคกำลังขยายตัวได้ดีแต่ควรเน้นเรื่องการลงทุน ทั้งนี้ ธปท.ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตตามศักยภาพ ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในกรอบอย่างยั่งยืน โดยมองว่าดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ใกล้ระดับเหมาะสมแล้ว