พูดตรง หรือ ปากเสีย คุณกำหนดได้
CHANGE ปรับมุมคิด สะกิดมุมบวก
เรื่อง ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
พูดตรง หรือ ปากเสีย คุณกำหนดได้
‘พูดตรง’ กับ ‘ปากเสีย’ สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ห่างกันแค่เส้นบาง ๆ คำนิยามของคนที่จะเป็นคนพูดตรง กับคนที่ปากไม่ดี ไม่มีสูตรตายตัว ยิ่งการตัดสินฟันธงว่าคำพูดนั้นเป็นเรื่องของคนพูดตรง หรือคนปากไม่ดี ก็เป็นการตัดสินใจที่ลำบาก เพราะจะพูดตรงหรือปากไม่ดีก็ขึ้นกับผลที่เกิดขึ้นกับผู้ฟังและผู้พูดเท่านั้น คนนอกจะช่วยตัดสินไม่ได้เลย
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของท่านคือ ถ้าคนหนึ่งพูดมาแล้วเสียดแทงคนฟังเหลือเกิน คนฟังก็จะตัดสินว่าคนพูดคนนี้ปากเสีย ในขณะเดียวกัน คนที่พูดออกไปก็คิดไปเองว่าตนเองเป็นคนพูดตรง ๆ คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ระหว่างการพูดที่ตรงไปตรงมาหรือเป็นการพูดกล่าวตำหนิกัน ล้วนเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายมิตรภาพ ถ้าเป็นในที่ทำงานก็จะไม่ดีต่อความสุขในการทำงานเพราะจะทำให้เพื่อนร่วมงานของเราคิดมาก ตัวคนพูดก็อาจจะโดนไม่ชอบหน้าโดยไม่รู้ตัว
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นจริงในที่ทำงาน ทุกท่านคงต้องเจอกันบ้าง หลีกเลี่ยงกันยากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย การที่คนสองคนคุยกันแล้วเกิดกรณีพูดตรง ‘เกินไป’ และคนฟังก็เป็นคนที่คิดมาก ‘เกินไป’ ก็ย่อมจะเกิดการไม่พอใจกัน อาจจะไม่ถึงกับทะเลาะกันแต่จะเกิดเป็นความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีต่อกัน เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นให้กังวลใจเลย ถ้าท่านคิดถึงจิตใจเพื่อนร่วมงานให้มากกว่านี้ คิดเห็นใจเพื่อนร่วมงานให้มากขึ้น ไม่พูดสิ่งที่จะทำให้เขาเสียใจ ส่วนคนฟังก็รู้จักปล่อยวาง เพราะบางทีเพื่อนร่วมงานของท่านอาจจะไม่ได้คิดอะไรก็ได้ แต่ท่านเองนั้นแหละไปหยิบเรื่องราวเหล่านั้นมาปรุงแต่งกันเอง
ดังนั้นเราต้องระวังคำว่า ‘เกินไป’ ให้ดี ๆ ไม่ว่าจะเป็น พูดตรงเกินไป หรือคิดมากเกินไปก็ตามล้วนเป็นพิษต่อความสุขในที่ทำงานทั้งนั้น
‘พูดตรง ต้องไม่ทำร้ายใจใคร’ พูดตรงคือการบอกสิ่งที่เป็นและแนะนำให้แก้ไข แต่ถ้าสิ่งที่เป็นเป็นสิ่งไม่ดีการพูดตรงของท่านอาจจะกลายเป็นปากเสีย ยกตัวอย่างเช่น คุณโอ๋เจอคุณเอ๋ที่ห้องประชุม วันนี้คุณเอ๋ซึ่งค่อนข้างท้วมใส่เสื้อลายขวางทำให้ดูอ้วนมากกว่าปกติได้นำเสนอแผนการจัดซื้อเสื้อผ้าแต่เจอตัวเลขผิด คุณโอ๋เป็นพูดตรงแต่คุณโอ๋ทราบว่าคนทั่วไปจะกังวลที่มีคนบอกว่าอ้วน คุณโอ๋ก็จะไม่พูดเรื่องความอ้วนให้คุณเอ๋เสียใจ เพราะพูดไปก็ไม่มีประโยชน์รังแต่จะทำให้คุณเอ๋เสียความมั่นใจในวันนี้ไปทั้งวัน (เพราะพูดไปคุณเอ๋ก็ต้องใส่เสื้อตัวนี้ไปอีกทั้งวัน) แต่คุณโอ๋จะเลือกพูดถึงตัวเลขที่ผิดในพรีเซนเตชั่นที่เพิ่งจบไปวันนี้ เพราะเรื่องตัวเลขที่ผิดนั้นสำคัญกว่า เพื่อคุณเอ๋จะได้แก้ไข คุณโอ๋ก็ยังเป็นคนพูดตรงแต่เรื่องที่พูดก็จะเป็นเรื่องที่มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ และรอโอกาสเหมาะเจาะลงตัวจึงบอกคุณเอ๋เรื่องการแต่งตัวในเวลาอื่นอีกครั้ง
คุณโอ๋ยังเป็นคนตรงและปรารถนาดีต่อคุณเอ๋ แต่ยังได้เพิ่มความใส่ใจในเรื่องราวที่จะพูดให้มากขึ้น ไตร่ตรองบอกในสิ่งที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ จึงทำให้คุณโอ๋เป็นคนพูดตรงที่ไม่ปากเสีย
ดังนั้นอาการ ‘ปากเสีย’ ก็เกิดเพราะคนนั้นพูดทุกอย่างที่เจอ โดยไม่ไตรตรอง ลองคิดดูถ้าคุณโอ๋บอกคุณเอ๋ว่า ทำไมแต่งตัวลายขวางดูจ้ำม่ำเหลือเกิน ไม่สวยนะ และตัวเลขก็ผิด คุณเอ๋คงจะเสียใจและหงุดหงิดมากทีเดียวและคุณเอ๋ก็จะรู้สึกว่าคุณโอ๋ พูดไม่คิด และทำร้ายจิตใจ ... จนเรื่องของตัวเลขในพรีเซนเตชั่นที่ที่ผิด (ซึ่งสำคัญมาก) อาจจะไม่ได้รับความสนใจเลย มิตรภาพก็เสียหาย
‘ฟังคนอื่นเขา ก็ต้องไม่คิดมาก’ ในทางกลับกันถ้าคุณโอ๋ เลือกที่จะพูดทั้งเรื่องตัวเลขที่ผิดกับการแต่งตัวพร้อมกัน คุณเอ๋ก็ต้องไม่ใส่ใจเรื่องทั้งสองมากจนเกินไป อย่ามองแต่ด้านลบที่กระทบต่อจิตใจ ให้มองว่าสิ่งที่คุณโอ๋บอกมาเป็นเรื่องจริง เราก็ต้องใส่ใจและแก้ไขตามที่ได้รับคำแนะนำมา
หากคุณเอ๋รู้สึกไม่ดีก็ต้องบริหารจัดการที่ความคิดตัวเอง ว่าคุณโอ๋หวังดีจึงพูดเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ปรับปรุงตัวเอง อย่าตำหนิคุณโอ๋สำหรับคำแนะนำที่ทำให้เราเสียใจ แต่บริหารสิ่งที่ได้รับฟังมาเป็นวัตถุดิบในความคิดแล้วก็ปรับใช้ตามที่ได้แนะนำมา การไปตีโพยตีพายตำหนิคำพูดที่ได้ยินมา คือการคิดลบจน ‘เกินไป’ เพราะนอกจากจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่แล้วยังทำให้เสียความรู้สึกต่อเพื่อนอีกด้วย
การมองที่คำแนะนำว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงตัวเอง โดยมองข้ามเรื่องราวของวิธีการ เช่นคำพูดที่ไม่ค่อยถูกกาลเทศะ จะทำให้ท่านเป็นคนที่คิดเป็น มีจิตใจที่เป็นใหญ่กว่าอารมณ์ ใครพูดอะไรไม่เข้าหูก็ปรับเรื่องราวให้เป็นเรื่องที่ท้าทายเสีย แทนที่จะมัวนั่งโกรธคนพูด เพราะจำไว้ว่า‘คำพูดที่ไม่ดี ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่การเอาคำพูดมาคิดซ้ำไปซ้ำมานั่นแหละ จะทำร้ายผู้ฟัง’
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะที่บุคคลสองคนมีการสนทนากัน ย่อมมีคำพูดที่เยินยอและขัดความรู้สึกกันได้เสมอ คนเราปกติก็มักจะรับฟังแต่เรื่องดีและจะต่อต้านเรื่องไม่ดี เพราฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสนทนาที่ดีคือ
- ผู้พูดต้องระวังคำพูด มิให้ทำร้ายความรู้สึกผู้ฟัง
- ผู้ฟังเองก็ต้องไม่อ่อนไหวจนเกินไป กับคำพูดจนเกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้นมา หากคู่สนทนาให้ความใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ การสนทนาจะมีแต่เรื่องมิตรภาพมากกว่าโกรธกัน
เรื่องการพูดและฟัง ต้องฝึกฝน ใครพูดเป็นฟังเป็น จะมีความสุขกว่าคนที่คิดทุกเรื่องที่พูดและพูดทุกเรื่องที่คิด จนมีแต่ความสับสนและคิดอะไรไม่จบสักเรื่อง
ลองฝึกบริหารความคิดดูนะครับ ‘คิดแต่เรื่องที่ประโยชน์’ และ ‘พูดแค่บางเรื่องที่คิด’