The Scenery Vintage Farm ธันวา-พลกฤษณ์ สุขเกษม “ความสำเร็จ คือ ความสุข”

The Scenery Vintage Farm ธันวา-พลกฤษณ์ สุขเกษม “ความสำเร็จ คือ ความสุข”

 

 

CHANGE to Dream

เรื่อง : สุทธิคุณ  กองทอง  ภาพ : ไวกูณฐ์  ตรีรานุรัตน์

 

The Scenery Vintage Farm

ธันวา-พลกฤษณ์ สุขเกษม

“ความสำเร็จ  คือ ความสุข”

 

กว่า 12 ปีคือ จุดเปลี่ยน “พลกฤษณ์ สุขเกษม” ผู้ที่สร้างตำนาน เดอะซีนเนอรี่วินเทจฟาร์ม (The Scenery Vintage Farm) ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของสวนผึ้งและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ  

 

“ความสำเร็จ  คือ ความสุข” ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ “ธันวา” พลกฤษณ์ สุขเกษม ประธานกรรมการบริหาร เดอะซีนเนอรี่วินเทจฟาร์ม ในฐานะผู้ก่อตั้ง The Scenery Resort ขึ้นด้วย  ที่มีการปรับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบ One Day Trip เปิดบริการทุกวัน บริการเยี่ยมชมฟาร์มได้ ล่าสุดได้เปิดบริการห้องพักที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอีกครั้ง

 

//ตำนาน The Scenery Vintage Farm

จากความคิดที่ต้องการทำสถานที่พักผ่อนส่วนตัวและรองรับเหล่าเพื่อนฝูง เพราะประทับใจอากาศของสวน ผึ้ง จนเมื่อกระแสตอบรับเพิ่มทวีขึ้น เพราะใครๆ ต่างอยากมาเยือน ที่สุดก็มีการทำที่พักกันจริงจัง โดยมีบ้านพักอยู่เพียง 10 หลัง เพื่อย้ำจุดขาย พักผ่อนแบบส่วนตัว และมีการกฎเหล็กในการก่อสร้างที่ว่า “ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามตัดต้นไม้”

“ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่ปีสอง พร้อมกับทำ ร้านขายอะไหล่รถ แล้วมีความรู้สึกเครียด ก็เลยอยากหาที่พักผ่อน ฝันอยากมีบ้านหลังเล็กๆอยู่ในป่า แล้วเสาร์อาทิตย์จะได้ขับรถมาพักผ่อน  ผมจึงมองว่ารอบๆกรุงเทพฯ ตรงไหนน่าอยู่บ้าง และไม่ไกลจากกรุงเทพฯ  พอดูแล้วก็มีเขาใหญ่ ชะอำ หัวหิน  แต่มองมาที่สวนผึ้งตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก แต่พอเกิดเหตุการณ์ก็อตอามี่ บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรีพอดี  ก็คิดว่า อยากรู้ว่าพื้นที่ ที่พวกก๊อตอามี่เข้ามานั้นเป็นยังไง  เพราะเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้คงไม่มีคนไปแน่ น่าจะสงบแน่ๆ พอมาดูก็เห็นเป็นป่า แล้วผมไม่คิดว่าราชบุรีจะมีพื้นที่แบบนี้

“ถึงแม้ว่าผมจะอยู่ในตัวเมืองราชบุรี แต่ก็ไม่เคยรู้จักสวนผึ้งเลย พอเข้ามาถึงพื้นที่นี้ก็เจอลำธาร เจอภูเขา มีหมอกปกคลุมเขาอยู่ครึ่งหนึ่ง แล้วมีคนปลูกผักอยู่พอดี เลยเข้าไปถามว่าที่ตรงนี้มีที่แปลงไหนบ้างที่แบ่งขายสักไร่สองไร่ เขาก็บอกเลยว่า ที่ตรงนี้เลยขาย 3 ไร่  เขาเลยพาไปเจอเจ้าของผมก็ตัดสินใจซื้อพร้อมไปกดเงินมามัดจำทันที(หัวเราะ)  จากนั้นผมก็ปลูกบ้านขึ้นมาหนึ่งหลัง พอเพื่อนมาเยอะอยู่กันไม่พอก็ปลูกบ้านเพิ่มเป็นหลังที่สอง  แล้วก็เหมือนเดิมเพื่อนมาเยอะๆ จนบ้างครั้งผมก็ไม่มีที่นอน เลยต้องไปนอนในรถบ้าง

“พอเพื่อนของเพื่อนมาเราก็ไม่รู้จัก ผมเลยบอกว่าจะขอเก็บเงินนะ ตรงนี้เลยเริ่มเป็นธุรกิจขึ้นมา แล้วก็เปิดบริการห้องพัก บ้านพักอยู่ประมาณห้าปี  ถือเป็นการเติบโตของธุรกิจที่ดีมากๆ  กระทั่งตอนนั้นโลกของโซเชียลก็เข้ามา ผมไม่มีการโฆษณาเลย พอใครเข้ามาพักก็มีการโพสบ้านพักสีขาวในป่าออกไป พอคนเห็นกันก็มองว่าแปลกดีก็จะมีการจองเต็มตลอดปี  แต่ผมรู้สึกว่ามันเครียด แทนที่ได้มาพักผ่อนกลับกลายเป็นธุรกิจเหมือนเดิม แล้วก็มีปัญหางานเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน เรื่องพนักงาน ผมก็เลยปิด แรกๆคนก็งงว่าทำไมถึงปิด แต่ผมก็ไม่ได้อธิบาย”

 

//จุดเปลี่ยน The Scenery Vintage Farm

“ตอนนั้นผมก็มีการเลี้ยงแกะบ้าง  ผมก็อยากรู้ว่าประเทศแรกของโลกที่เลี้ยงแกะเป็นยังไง ผมเลยเดินทางไปเที่ยวอังกฤษ ที่เมืองคอร์นวอลล์(Cornwall)  พอไปถึงก็นึกถึงที่มาสวนผึ้งครั้งแรก  คือ มีความสุข สงบเงียบ ไม่มีผู้คน เป็นจุดที่ทำให้ผมคิดว่า สิ่งที่เราทำมันผิดทางหรือเปล่า พอกลับมาก็ปิดดีกว่า  แต่พอปิดปุ๊บ  เราก็ยังมีคนงานอยู่เยอะเลย  แล้วตอนนั้นแกะก็เริ่มมีคนสนใจ ใครขับรถผ่านก็จะจอดรถลงมาถ่ายรูป  ก็คิดขึ้นมาเลยว่า เปิดแกะละกันเพื่อให้คนเข้ามาถ่ายรูป แล้วเก็บค่าเข้า 20 บาท หรือ 30 บาท  ก็รู้สึกว่าเป็นธุรกิจที่ดี ผมเลยปิดบ้านพัก  แต่ล่าสุดผมเพิ่งเปิดบริการบ้านพักอีกครั้ง เนื่องจากภรรยาลาออกจากงานที่กรุงเทพฯ แล้วอยากให้บริการบ้านพักก็เปิดเลย การตอบรับก็ไปได้ดี  ผมว่าคนน่าจะจำได้ว่าเรามีรีสอร์ทอยู่ ก็เลยมีการจองเต็มเหมือนเดิม

“มาทำรีสอร์ทตรงนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต จากที่ก่อนหน้านี้ก็เรียนใช้ชีวิตปกติตามกรอบของคนเมืองทุกอย่าง พอจบมาก็ทำงานที่บ้านขายอะไหล่แอร์ ประกอบกับชอบรถก็มาเปิดเป็นร้านประดับยนต์ ชีวิตก็ยังเหมือนทำงานปกติ แต่พอได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่สวนผึ้ง แล้วตอนนั้นเงินก็ไม่ได้เยอะ แต่กินก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท แล้วมีรถขับไปไหนมาไหนได้  มาครั้งแรกยังเป็นแค่บ้านพัก ยังไม่ได้เป็นธุรกิจ  พอดีมีที่ดินแปลงข้างปลูกหอม เขาก็ชวนว่าปลูกแล้วได้เงินดีผมก็ทำซึ่งก็ดีในระยะแรก  แต่พืชผักต้องขายตามฤดูกาลบางครั้งราคาดี บางครั้งก็ราคาตก ฝนตกผักก็เน่า กระทั่งปลูกๆไปก็คิดว่าไม่น่าจะดี เพราะต้องฉีดยาเยอะ ที่สุดก็เลิก

“ผมจากคนปกติชีวิตก็กลายมาเป็นคนบ้านนอก จุดเปลี่ยนชีวิตผมวันนี้ก็ยังเดินตามเส้นบ้านนอกเหมือนเดิม แล้วไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องกลับไปเป็นคนเมือง  เพราะชีวิตผมอยู่ที่นี่มีความสุขมาก ทุกวันนี้ถ้าจะไปอยู่เมือง แค่คิดถึงการจราจรชีวิตก็ไม่ดีแล้ว  ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเส้นอะไรที่เราไม่ได้ขีดเอง คือ ต้องไปถนนเส้นนี้ ทั้งๆที่รู้ว่าไปรถก็ต้องติดแบบนี้ ก็ต้องไปเพราะไปเส้นอื่นไม่ได้ ทำให้ผมรับในเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ผมใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ผมเองก็สบายใจกว่า”

 

// “เติมอารมณ์” หลักบริหารความสุข

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนยังคิดถึงซีนเนอรี่ คือ มีนักท่องเที่ยวมากันกี่ครั้งก็จะเจออะไรที่เปลี่ยนแปลงไป คุณธันวา อธิบายว่า นั่นเพราะการบริหารงานที่ไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อให้ลูกค้าต้องมีความสุขกลับไปทุกครั้งนั่นเอง

“ในส่วนของผมชอบการก่อสร้าง ชอบการปลูกสร้าง ก็จะสัมพันธ์กับโฟร์แมน วิศวกร หลักการบริหารของผมง่ายมาก ก็คือ เขาอยากได้อะไรเราก็หาแบบนั้นให้เขา  อย่างผมเองบอกว่าอยากได้งานก่อสร้างที่ละเอียดมากๆเลย แล้วคนสร้างก็เข้าใจถึงอารมณ์ของผม ไม่ใช่ก่อสร้างไปตามแบบอย่างนั้น  แต่อะไรที่ควรจะมล หรือจะโค้งเราก็ควรบอกเขา คือ เป็นการเติมอารมณ์ให้กับคนทำ  แล้วคนทำก็จะนำเอาอารมณ์ของผมไปใส่ในตัวงาน  เช่น พาคนทำไปดูตัวอย่างตามสถานที่ต่างๆ แล้วถามเขาว่า เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร ถ้าเขาบอกว่ามุมนี้สวย เราก็จะบอกว่าสวยเพราะเขาทำแบบนี้ อย่างนี้  หรือเห็นบ้านที่ฉาบเรียบๆ สวยมั้ย ก็อาจรู้สึกเฉยๆ  ตรงนี้จะมีเหตุผลว่า ทำไมบ้านถึงต้องไม่เรียบ แต่มันต้องมีเทคนิค คือ ทำให้บ้านมีอารมณ์ เราก็จะเติมอารมณ์ให้กับคนทำ แล้วเขาก็ตอบสนองความต้องการให้กับผม

“ก็เหมือนกับพนักงานบริการ คือ ผมจะถามเขาว่าคุณเห็นความแตกต่างของห้างสรรพสินค้าชั้นดี เอ็มโพเรียม สยามพารากอน กับ ห้างสรรพสินค้าตามหัวเมืองชนบทมั้ย เขาก็บอกว่าต่างกันเพราะคนบริการ  ผมจะบอกกับพนักงานว่า คนในเมืองเขาเห็นมาแล้วทั้งสองแบบ แต่ที่เขาเลือกเราเพราะเขาต้องการแบบนี้  ไม่ใช่คนทะเลาะกับสามีมา หรือ คุณทะเลาะกับภรรยามา ลูกป่วยอารมณ์เสีย แต่เมื่อคนเข้ามาทำงานตรงนี้คุณต้องรู้ว่ายังมีคนที่จะรอความหวังจากคุณ ตรงนี้คุณจะต้องแสดงความรู้สึกตรงนี้ต่อลูกค้าให้ได้”

 

// ไอเดียเจ๋ง “โชว์แกะ” ต้อนรับ AEC

ภายหลังมีการประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) หรือเออีซี เป็นปี 2559 “เพื่อต้อนรับการเข้าสู่ AEC ผมเลยจัดแสดงโชว์แกะขึ้นมา  เนื่องจากการโชว์แกะในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคของเราเป็นที่แรกที่มีการจัดโชว์  แล้วการโชว์แกะที่ใกล้เรามากที่สุดก็มีที่ญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นต้นกำเนิดเลยก็จะเป็นนิวซีแลนด์ ผมก็เลยเอาฝรั่งนิวซีแลนด์มาจัดระบบให้กับเรา  ผมมองว่าถ้าเข้าสู่ AEC ผมคิดว่าการแสดงโชว์แกะจะต้องเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว  เพราะการแสดงโชว์แกะของเราก็จะเป็นแบบเดียวกับนิวซีแลนด์เลย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโชว์แกะ หรือการโชว์ตัดขนแกะ  แล้วนำเข้าแกะสายพันธุ์จากทั่วโลก แล้วให้คนนิวซีแลนด์มาฝึกการแสดงโชว์ตั้งแต่แรก พอมาวันนี้ก็เป็นคนไทยหมดแล้ว”   

 

// นักธุรกิจรุ่นใหม่ “ต้องคิดต่าง”

“ทุกวันนี้ไปที่ไหนก็มีการเลี้ยงแกะกันหมดแล้ว เป็นผลเสียของคนไทยที่ทำอะไรก็ทำตามๆกัน ซึ่งจะทำให้เป็นค่านิยมให้กับเด็กเกิดใหม่เห็นแล้วเริ่มชิน คิดว่าทำแบบนี้ก็ถูกต้องแล้ว หากทำตามกันแบบนี้ถ้าทำได้ดีก็ตามไปเถอะ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมให้กับคนไทยแบบนี้ไปตลอด  จริงๆการสอนที่ดี ต้องสอนเขาว่า มีคนทำแบบนี้แล้ว เราก็ควรต้องทำอีกแบบ หรือฐานเดียวกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ การเปลี่ยนมุมมองแบบนี้ก็จะทำให้ประเทศนั้นๆมีความเจริญ  แต่เมื่อเราเป็นกันแบบนี้ประเทศเราเลยเป็นแบบนี้

“ดังนั้น การท่องเที่ยวของเราที่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะว่าเราตามกันเกินไป อย่างที่ผมบอกว่าบ้านเรามีทะเลที่สวยงาม แล้วมีธรรมชาติที่สวยงามมากๆ สิ่งที่มีอยู่แล้วว่า แน่นอนมันขายตัวเองได้  แต่ผมไม่ค่อยโอเคกับคนที่เข้ามาบริหารจัดการ อย่างที่บอกว่าเรามีแหล่งท่องเที่ยวที่สวย แต่เรามีรีสอร์ทที่สวยเหมือนกันหมดเลย  มุมมองผมที่ผ่านมามีความประทับใจในประเทศญี่ปุ่น  ถ้าร้านนี้ขายของแบบนี้ ร้านติดกันก็จะไม่ขายเหมือนกัน  ทำให้เราไปประเทศญี่ปุ่นซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่เบื่อ เพราะเขายังคงเอกลักษณ์เอาไว้ได้อย่างดีมากๆ ญี่ปุ่นความคิดดี แต่สถานที่ท่องเที่ยวไทยดีกว่า แต่บริหารจัดการไม่ดี

“ผมว่าคนที่จะก้าวเข้ามาเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ได้ดีจะต้องคิดต่างแล้ว ทำให้ตัวเราดีด้วย คนที่เห็นเราทำ เขาก็จะคิดต่าง แต่การที่เราทำอะไรตามๆ โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมว่าเป็นเรื่องอันตราย  เพราะต่อไปก็จะไม่มีใครที่จะคิดอะไรเจ๊งๆขึ้นมา  พอเขาคิดอะไรขึ้นมาใหม่ๆพอมีคนตาม เขาก็ต้องย้ายกิจการ เพราะมีคนมาก๊อบปี้... การที่จะคิดทำธุรกิจขอให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ถึงจะสำเร็จมากหรือน้อย แต่เราก็อยู่กับมันได้ หากทำอะไรที่ไม่รัก แต่คนอื่นบอกว่าสำเร็จ แต่ตัวเราเองจะรู้ว่าเราจะไม่มีความสุข ผมจึงเลือกใช้ความสุขมากกว่าความสำเร็จ แต่ทุกครั้งที่มีความสุข ความสำเร็จจะตามมาตลอด โดยที่เราไม่ต้องพยายามให้มันสำเร็จ เพราะสิ่งที่เราทำคือทำมาจากใจ ที่ในตำราก็ไม่มีสอน”

สุดท้ายของการสนทนา ธันวา-พลกฤษณ์ สุขเกษม ปิดท้ายด้วยข้อคิดให้กับคนทำงานทุกคน “12 ปีที่ได้ทำรีสอร์ทถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าให้พูดจากใจจริงๆของผมจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น  แต่ผมมีความสุขมากตั้งแต่ครั้งแรกที่มาอยู่บ้านหลังนี้แล้ว  ซึ่งจริงๆ ความสำเร็จผมหาได้ที่กรุงเทพฯ สำเร็จทำอันนี้ได้ ทำอันนั้น แล้วมีเงินใช้ แต่ตัวผมเองความสำเร็จมันไม่ได้มีน้ำหนักในชีวิตเท่ากับความสุข ผมคิดว่าผมมีความสุขที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่”

                                                                                          

The Scenery Vintage Farm

234 ม. 7 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 70180
โทร/ แฟกซ์: +66 (0) 32 206 370, +66 (0) 81 000 6677
สำนักงานขาย
479 ถ.สิรินธร แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม 10700
Reservation Phone: +66 (0) 81 000 6677
Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
เว็บไซต์ : www.sceneryvintagefarm.com
GPS : 13.509638282746774 , 99.28958415985107