The Power of Wisdom นาถ ลิ่วเจริญ “การโฟกัส ทำให้องค์กรสามารถสร้างคนได้”

The Power of Wisdom นาถ ลิ่วเจริญ “การโฟกัส ทำให้องค์กรสามารถสร้างคนได้”

 

 

 

 

CHANGE to Dream   เรื่อง : สุทธิคุณ  กองทอง  ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม  

 

The Power of Wisdom

นาถ ลิ่วเจริญ  “การโฟกัส ทำให้องค์กรสามารถสร้างคนได้

 

นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจี และกลุ่มบริษัทจีเอเบิล

“เราเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งภูมิปัญญาและองค์ความรู้ The Power of Wisdom”

 

 

 

 

            เมื่อธุรกิจเติบโตและยิ่งใหญ่ ทุกคนต่างมุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ ‘หน้าม่าน’ มากกว่า ‘หลังบ้าน’ หากสืบค้นอย่างเจาะลึกลงไปแล้ว จะพบว่าทุกธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดจากการวางระบบภายในองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันทุกธุรกิจจำเป็นต้องวางระบบไอทีที่เหมาะสมและครอบคลุมความต้องการภายในองค์กรและตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งกลุ่มบริษัทซีดีจีและกลุ่มบริษัทจีเอเบิล กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรระดับประเทศนับเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เฟืองจักร’ ที่กำลังหมุนอยู่ในหลายๆองค์กร กุญแจแห่งความสำเร็จที่ทำให้กลุ่มธุรกิจไอทียักษ์ใหญ่แห่งนี้ก้าวมายืนอยู่ในอันดับท็อป 10 ของอาเซียนได้ล้วนเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ อย่าง “นาถ ลิ่วเจริญ” ที่พร้อมกระตุ้นและผลักดันให้บุคลากรช่วยกันสร้างสรรค์การทำงานที่มีศักยภาพออกสู่สาธารณะและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

 

มั่นคง เรียนรู้ ทำในสิ่งที่ก่อเกิดประโยชน์ได้

ก่อนที่ “นาถ ลิ่วเจริญ” จะดำรงตำแหน่ง “ประธานกรรมการบริหาร” กลุ่มบริษัทซีดีจีและกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ในฐานะผู้วางกลยุทธ์ กำหนดวิสัยทัศน์ ตลอดจนทิศทางในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทซีดีจีและกลุ่มบริษัทจีเอเบิลให้เติบโตขึ้นเป็น 1 ใน 10 องค์กรชั้นนำของอาเซียนนั้น ผู้บริหารคนนี้เดินบนเส้นทางการทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเรียนรู้ทุกกระบวนการอย่างรอบด้าน โดยเริ่มกระโจนเข้าสู่งานด้านไอทีเต็มตัว ร่วมงานกับ บริษัทซีดีจีครั้งแรกตั้งแต่ปี 2528 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และด้วยความสามารถประกอบกับการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์จึงได้ขยายขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ตามลำดับ

 

            “ผมเริ่มทำงานตั้งแต่ 30 ปีก่อนโดยตั้งใจรับช่วงต่อจากรุ่นคุณพ่อ นำพาธุรกิจข้ามผ่านช่วงปี 2533-2535 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสไอทีและธุรกิจ CDG เริ่มเติบโตอย่างมาก (High Growth) และขยายขอบข่ายธุรกิจไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งครบรอบ 49 ในปีนี้ ผมมองว่าธุรกิจไอทีไม่มีอิ่มตัว แต่ยอมรับว่าจากประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี ในธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ผมรู้ว่าการบริหาร เรียนรู้ ปรับตัวด้านการเปลี่ยนแปลงการธุรกิจนั้นมีมิติเยอะกว่ามาก เร็วกว่าในอดีตมาก ทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ การเชื่อมโยงกันเป็นเน็ตเวิร์กของไอทีกับธุรกิจ ทำให้รูปแบบธุรกิจแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทำให้เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในตอนนั้นมี Big Player ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง เราเห็นกลุ่มธุรกิจล้มหายตายจากไปมาก แต่เราเลือกที่จะโฟกัสในด้านไอที ตลาด ทำงานเป็นเบื้องหลังหน่วยงานต่างๆด้วยการบริหารจัดการระบบอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนบางส่วนเพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถบริการลูกค้าได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเราเองก็มุ่งพัฒนาบุคลากรของเราอย่างต่อเนื่องจึงทำให้ยังอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง”

 

ในการทำธุรกิจ ถ้ามุ่งหน้าเร็วเกินไป โดยไม่รู้จักตัวเอง แม้จะดูเหมือนว่าโตเร็ว ขยายงานไปได้มาก แต่มันจะทำให้ธุรกิจไม่มีน้ำหนัก ย่อมทำให้อยู่รอดได้ยาก กลุ่มบริษัทซีดีจีและจีเอเบิล ซึ่งขยายขอบข่ายงาน Software Solution ครอบคลุมทั้งการให้บริการ Application Services, Big Data & Analytics ตลอดจน Lifestyle Products จัดจำหน่ายสินค้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่สนใจการออกกำลังกาย และกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ อย่าง นาฬิกาอัจฉริยะแบรนด์ GARMIN ที่สามารถวัดประสิทธิภาพของร่างกายระหว่างการออกกำลังกายและช่วยพัฒนาศักยภาพให้แก่นักกีฬาตัวจริงและมือสมัครเล่น หรืองานด้าน E-Citizen Services Solutions เพื่อสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการเป็นตัวแทนจำหน่าย ArcGIS ซอฟท์แวร์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System (GIS) อันดับ 1 ของโลก มาช่วยพัฒนาศักยภาพงานบริหารจัดการและการบริการสำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนั้นยังให้บริการ Logistics Outsourcing, Solutions Security และ Specific Solutions จึงต้องยึดมั่นในจุดยืน ทุ่มเทด้านไอที ไม่ไขว้เขวหรือกระโจนไปในธุรกิจที่เป็นกระแสหรือไหลตามคนอื่น

 

“การโฟกัส ทำให้องค์กรสามารถสร้างคนได้ พัฒนาคนให้ถึงจุดสูงสุดได้ สามารถขยายงานให้ผู้บริหารสูงสุดเข้าไปดูแลงานได้อย่างทั่วถึง เพราะทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการเริ่มมาจากจุดที่ใกล้เคียงกัน เรียนรู้เทคโนโลยีมาด้วยกัน จึงสามารถสานต่องานไปได้ พัฒนาต่อยอดให้ลูกค้าของเราเห็นโอกาสที่เขายังไม่มีหรือให้การบริการได้เร็วขึ้น ซึ่งโนวฮาวต่างๆเกิดขึ้นได้ทั้งจากการเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าของเราเอง และเรายังได้จากความคิดสร้างสรรค์ใหม่ (Innovation Creativity) ของคนในองค์กรเองซึ่งนับเป็นหนึ่งใน Core Value ที่สำคัญของเรา”

 

พัฒนาบุคลากร กระตุ้นต่อมรู้เยาวชน

ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจีและและจีเอเบิล กล่าวว่า คุณค่าองค์กรเป็นสิ่งที่ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติร่วมกัน โดยปลูกฝังพนักงานให้มีค่านิยมเดียวกันกับองค์กร และได้สะท้อนออกมาเป็นแนวทางการทำงาน ICTDD ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พนักงานและองค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ไปด้วยกัน โดยต้องมี Innovation สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง Caring ดูแล ใส่ใจเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และสังคม Trustworthy  น่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจ และพึ่งพาได้ Dynamic รวดเร็ว ว่องไว พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ Determination มุ่งมั่น ทุ่มเท ใส่ใจ เพื่อความเป็นเลิศ

 

“เราเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรแบบ ICTDD ด้วยการจัดการประกวดภายในองค์กรตาม Core Value ทั้ง 5 ที่เราให้ความสำคัญ เราจัดแคมเปญวิ่งให้ทุกคนเข้ามาออกกำลังกาย ซึ่งการวิ่งทำให้พนักงานได้ใช้ทั้งนวัตกรรมจากผลผลิตขององค์กรอย่างนาฬิกาอัจฉริยะ ได้ดูแล ไว้ใจซึ่งกันและกัน และแน่นอนว่าการเล่นกีฬาย่อมส่งผลดีโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจของผู้เล่นและยังส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และการวิ่งยังมีผลสอดคล้องไปถึงการตั้งเป้าหมาย เป็นการสร้างความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดให้สำเร็จ ซึ่งเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพนักงานอย่างมากและเป็นวิถีที่เราจะสนับสนุนไปเรื่อยๆ”

 

ทั้งนี้ ผู้บริหารองค์กรไซส์ยักษ์ในวัย 58 ปีคนนี้ ยังกล่าวถึงอนาคตของทรัพยากรบุคคลขององค์กรว่า การคัดสรรบุคลากรในยุคนี้ มีความยากและง่ายในเวลาเดียวกัน ต้องยอมรับว่าความต้องการในตลาดตอนนี้มีมากกว่าสมัยก่อน เด็กที่ศึกษาด้านไอทีจึงมีทางเลือกทำงานได้ในทุกองค์กร แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ยังต้องเผชิญอยู่ทุกยุคสมัยคือการฝึกคนให้เรียนรู้ใหม่ หากสถาบันการศึกษาดีไซน์หลักสูตรให้เหมาะสมกับการทำงานจริงให้มากที่สุด ย่อมจะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาและต่อยอดได้องค์กรที่เขาทำงานได้เร็วขึ้น

 

“เราเล็งเห็นความสำคัญด้านการพัฒนาคนเสมอมา ไม่เว้นแม้แต่การสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมก็สะท้อนชัดเจนถึงเรื่องนี้ ยกตัวอย่างโครงการ Code Their Dreams ซึ่งเป็น CSR ที่มีความแตกต่างและเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยเราไปสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้เรื่องโค้ดหรือภาษาคอมพิวเตอร์ และเกิดความสนใจที่จะฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะและความรู้ในระบบดิจิตัล เข้าใจตรรกะในการทำโปรแกรมเบื้องต้น ในรูปแบบการจัดกิจกรรมเวิร์คชอปให้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่นักเรียน โดยเริ่มจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาช่วงอายุ 10-15 ปี ในโรงเรียนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงซีดีจีสำนักงานใหญ่มาตั้งแต่ปีก่อน และวางแผนจะทำให้ได้ 50 โรงเรียนเพื่อฉลองการก้าวขึ้นสู่ปีที่ 50 ในปีถัดไป (2561) ด้วย”

 

สอดรับ สานต่อ สนับสนุน Thailand 4.0

จากประสบการณ์คร่ำหวอดในด้านผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรกว่า 3 ทศวรรษทำให้นาถเข้าเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรเอกชนต่างๆ เพื่อวางรากฐานและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มั่นคงให้แก่องค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาคเอเชียและเมื่อไทยแลนด์ 4.0 กลายเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศ กลุ่มบริษัทซีดีจีและจีเอเบิล ก็พร้อมร่วมสร้าง Digital Ecology  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันกับตลาดอาเซียน และตลาดโลก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนการ Transform โครงสร้างระบบไอทีของประเทศให้ก้าวสู่ยุค Digital Thailand

 

ทั้งนี้ พันธกิจของกลุ่มบริษัทฯจากนี้ไป คือ เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลของประเทศ และบูรณาการข้อมูลในด้านต่างๆ ผ่านระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุก ๆ ด้านของประเทศและคนไทย โดยเน้น 4 เรื่องหลัก คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของภาครัฐ  สิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชนและสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจ และการบริหารจัดการทรัพยากรประเทศและสังคม  

 

“ในความคิดของผม Thailand 4.0 วางวิสัยทัศน์ไว้อย่างดีแล้ว แต่การจะไปสู่ความสำเร็จได้ มีหลายองค์ประกอบ ต้องมีแผนอย่างน้อย 5-10 ปี มีเป้าหมายชัด มีการติดตามผลวัดผล และมีการผลักดันให้ต่อเนื่องก็จะไปได้ ซึ่งมีธุรกิจหลักที่สามารถเป็นแกนนำ (Core Technology) ได้ อย่าง Cloud Technology ระบบเก็บข้อมูล ตลอดจนการจัดการข้อมูล Big Data และ Data Analysis ซึ่งต้องสามารถวิเคราะห์วางแผน หรือตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มากกว่าแค่การประมวลผล”

 

ส่วนเป้าหมายในอนาคตอันใกล้นี้ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทซีดีจีและและจีเอเบิล เปิดเผยว่า องค์กรต้องปรับตัวเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ส่วนคู่แข่งนั้น คือทั้งโลกเพราะความเป็น Globalization ดังนั้นจึงต้องวางทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากการตลาดในประเทศแล้ว จำเป็นต้องมองหาประเทศอื่นๆ อย่างกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ทั้ง 4 คือเวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา และสปป.ลาว ก็เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจซึ่งมีความเป็นโมเดิร์นเทรด มีเส้นทางการขนส่งที่ใกล้เคียงกัน และมีความพร้อมในการรับเทคโนโลยี สำหรับโอกาสที่กลุ่มบริษัทซีดีจีและและจีเอเบิลจะเข้าไปทำตลาดในแต่ละประเทศนั้นจะต้องพิจารณาจากจุดเด่น ความแตกต่าง และโนวฮาวซึ่งอยู่ในระดับต้นๆของอาเซียน พร้อมใช้ประสบการณ์การทำงานกับภาครัฐ เรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคอย่างยาวนานมาประยุกต์ใช้ร่วมด้วย