สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จัดกิจกรรม “Healthy Women, Healthy Families, Healthy Economies” เนื่องใน “วันเบาหวานโลก” เผยสถิติผู้หญิงป่วยเบาหวานน่าห่วง
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
จัดกิจกรรม “Healthy Women, Healthy Families, Healthy Economies”
เนื่องใน “วันเบาหวานโลก” เผยสถิติผู้หญิงป่วยเบาหวานน่าห่วง
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดกิจกรรม “Healthy Women, Healthy Families, Healthy Economies” ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาประเทศไทย เนื่องในวันเบาหวานโลก โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเดิน – วิ่ง ระยะทาง 4 กิโลเมตรพร้อมการเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานโดยเฉพาะในผู้หญิง พร้อมตรวจสุขภาพฟรีเพื่อคัดกรองความเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย นำไปบริจาคให้แก่น้องๆ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในความดูแลของ "สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ" ต่อไป ทั้งนี้จากสถิติเผยว่า ในปัจจุบัน ผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น ควรเน้นย้ำความสำคัญของการดูแลสุขภาพและโภชนาการของด้วยตนเอง รวมถึงคนใกล้ชิดและครอบครัว ให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เพื่อเพิ่มความรู้โอกาสการดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า “ปัจจุบันอัตราผู้หญิงเป็นเบาหวานมีมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก หรือเป็นโรคอ้วนนอกจากนี้ผู้หญิงยังมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชายเนื่องจากปัจจัยทางด้านสรีระร่างกายและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หากมีการดูแลตัวเองไม่ดีพอ หรือบางกรณีอาจจะเป็นต่อเนื่องหลังจากคลอดบุตร หรือในบางรายมีโอกาสกลับมาเป็นอีกในระยะ 5 – 10 ปี ซึ่งช่วง 24 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ นับเป็นระยะเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานสูง เพราะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาของรกเต็มที่ มีการฮอร์โมนผลิตสูง จึงอาจพบเป็นภาวะดื้ออินซูลินได้ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เสี่ยงต่อเบาหวาน ได้แก่ กรรมพันธุ์ น้ำหนักเกิน หรือเคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ แท้งโดยหาสาเหตุไม่พบ จึงควรตรวจสอบความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ ขณะที่ผู้หญิงยังมีโอกาสเกิดโรคถุงน้ำจำนวนมากที่รังไข่ ที่จะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินได้ ซึ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานที่แตกต่างจากผู้ชาย”
พญ.วรรณี ยังชี้แจงต่อไปว่า “โรคเบาหวาน หัวใจ และสมอง มีสาเหตุ 80% มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และ 20% มาจากพันธุกรรม ดังนั้น จึงสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองในเรื่องการกินอาหาร การดำเนินชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเครียด การดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ อย่างไรก็ดี ควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายหรือตรวจคัดกรองเบาหวาน โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ปี และระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะอ้วน อันเป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกถึงสุขภาพไม่ดี ซึ่งมีวิธีการเช็คสุขภาพของตัวเองอย่างง่ายๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง ดั้งนี้ 1.ชั่งน้ำหนัก วัด BMI 2.วัดรอบพุงและความสูงซึ่งรอบพุงต้องไม่เกินครึ่งหนึ่งของความสูงตนเอง จึงถือว่าปกติ และ 3.วัดความดัน เหล่านี้ล้วนเป็นดัชนีสุขภาพของเรา
ผู้คนทั่วไปมักอาจมีโอกาสเป็นเบาหวานแต่มักไม่รู้ตัวเนื่องจากระยะแรกนั้นอาจไม่พบอาการแสดงออกของโรค จนกว่าจะตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 200 มก./ดล. แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 125 มก./ดล.ถือได้ว่าเป็นเบาหวานแล้ว เหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องตรวจคัดกรองเบาหวานซึ่งถ้าสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เพียงแค่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา”
สำหรับประเทศไทยจะมีการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนต่อบุคคลที่เรียกว่า “ว่าที่เบาหวาน” หรือภาวะก่อนเบาหวาน และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น พบว่าผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดเกินมาตรฐานจำนวน 30 คน จากผู้มาตรวจคัดกรอง จำนวน 100 คน แพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน ซึ่งหากบุคคลทั้ง 30 คนที่ตรวจพบนี้สามารถปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด จะพบว่ามีเพียง 10-15 คนเท่านั้นที่ป่วยเป็นเบาหวาน ดังนั้นการป้องกันโรคด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยลดการเกิดเบาหวานจริงได้มากถึง 50% หรือสามารถยืดเวลาการเป็นเบาหวานออกไปได้อีก 5- 10 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาการเป็นเบาหวานขึ้นอยู่กับอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน (2557) เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ 3.3 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนคน และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาสูงมากขึ้น จากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นวันเบาหวานโลกในปีนี้ จึงให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง ในการดูแลและป้องกันเบาหวานให้กับตนเองและครอบครัว ในฐานะของแม่บ้าน ภรรยา และแม่ที่ดูแลความเป็นอยู่และโภชนาการของทุกคนในครอบครัว จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลเบาหวานไม่เพียงระดับครอบครัวเท่านั้น แต่ส่งผลถึงเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือหากจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่าย ที่จะต้องเสียในการดูแลรักษาก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องยา การวินิจฉัย ค่าเดินทางเพื่อรักษา ที่พัก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ และยังส่งผลถึงคุณภาพประชากรของประเทศ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมเกินความจำเป็น เราควรที่จะหันมาดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ ในปริมาณที่สมดุลพอเหมาะ และควบคุมน้ำหนักของตนเอง เป็นต้น
โดย ปัญญา กิจเจริญการกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์ค จำกัด สาขาประเทศไทย เผยว่า “เมอร์ค ได้ให้ความสนับสนุน สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทานห่างไกลโรค โดยร่วมรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงและครอบครัวหันมาดูแลสุขภาพตนเอง ไปพร้อมๆ กับการมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนที่กำลังเผชิญโรคนี้ ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย ได้นำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือน้องๆ ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในความดูแลของ "สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ" ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : ตัวแทนฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท แบร์เคฟ โปรดักชั่น จำกัด
มณีรัตน์ มีรัตน์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. M. 063-915-6999