ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดชะมวงโอนที่สกัดด้วยน้ำมันรำข้าวสำหรับป้องกันโรคมะเร็ง
ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดชะมวงโอนที่สกัดด้วยน้ำมันรำข้าวสำหรับป้องกันโรคมะเร็ง
รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์, นางสาวพิรุณรัตน์ แซ่ลิ้ม และ ผศ.ดร.สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์ สถานวิจัยความเป็นเลิศยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา 90112 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 0866924572
โรคมะเร็งนับเป็นโรคในอันดับต้นๆ ที่เป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลก ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา ปัจจุบันถึงแม้จะมีการพัฒนายาต้านมะเร็งขึ้นมามากมายหลายขนาน แต่ก็ไม่สามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งลงได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดยังต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา จึงมีผู้คนมากมายหันมาพึ่งพาการป้องกันโรคมะเร็งด้วยการรับประทานพืชผักผลไม้ที่มีสารต้านมะเร็งหรือมีสารป้องกันการเกิดมะเร็งจากธรรมชาติ โดยมีรายงานทางวิชาการออกมาสนับสนุนมากมายว่า “การรับประทานพืชผักผลไม้หลายชนิดสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้” วิธีการนี้ถือว่าเป็นวิธีการป้องกันโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพและประหยัด อีกทั้งประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงการใช้ได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพที่ใช้ในวัตถุประสงค์ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากสารสกัดพืชผักผลไม้ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และฤทธิ์ในการป้องมะเร็งมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเท่านั้น
ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยพืชผักนานาชนิด และวิถีชีวิตของคนไทยก็นิยมบริโภคผักพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำมารับประทานเป็นผักสดเครื่องเคียง หรือ นำมาประกอบอาหาร ทำให้คณะผู้วิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาสารต้านมะเร็งจากผักพื้นบ้านของไทย จากงานวิจัยเบื้องต้นพบว่า ใบชะมวง (รูปที่ 1) ซึ่งได้รับความนิยมนำมาประกอบอาหารในเมนู “หมูชะมวง” (รูปที่ 3) ให้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ดี คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาวิจัยต่อเพื่อแยกสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งจากสารสกัดใบชะมวง ทำให้ค้นพบสารชนิดใหม่เป็นครั้งแรกของโลก จึงตั้งชื่อสารชนิดใหม่ที่แยกได้จากใบชะมวงตามชื่อภาษาไทยของพืชว่า “ชะมวงโอน” (chamuangone) (รูปที่ 2) [1] และจาการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด 2 ชนิด (A549 และ SCB3 cell lines) และยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว 2 ชนิด (K562 และ K562/ADM cell lines) พบว่าสารชะมวงโอนมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิดได้ดี โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ 50% (IC50) เท่ากับ 6.5, 7.5, 3.6 และ 2.2 µM ตามลำดับ [2]
ดังนั้น สารสกัดจากใบชะมวงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง แต่จากการศึกษาวิธีการสกัดสารพบว่าสารชะมวงโอนเป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติความไม่มีขั้ว (nonpolar) สูง และจะถูกสกัดออกมาได้ดีด้วยเฮกเซน (hexane) [2] ซึ่งเป็นตัวทำละลายอินทรีย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาสมุนไพร จึงเป็นที่มาของผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ ที่ต้องการพัฒนาวิธีการสกัดสารชะมวงโอนจากใบชะมวงโดยใช้กรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green extraction) ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ประหยัดการใช้พลังงาน ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และ ลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากน้ำมันพืชเป็นสารที่คุณสมบัติความไม่มีขั้วคล้ายคลึงกับเฮกเซน และลดการใช้ตัวทำลายอินทรีย์ รวมถึงลดขั้นตอนการระเหยตัวทำละลายออกหลังการสกัดสาร คณะผู้วิจัยจึงได้ทดลองนำน้ำมันพืชชนิดต่างๆ ที่ผลิตในประเทศมาใช้เป็นตัวทำละลายในการสกัดสารชะมวงโอนจากใบชะมวง โดยเลือกใช้วิธีการสกัดด้วยคลื่นไมโครเวฟ (microwave assisted extraction) ซึ่งเป็นวิธีการสกัดที่ได้รับการยอมรับว่าช่วยประหยัดพลังงานและเวลาที่ใช้ในการสกัด รวมถึงทำให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพดีด้วย
จากการวิจัยพบว่าน้ำมันรำข้าวเป็นน้ำมันพืชที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาสกัดสารชะมวงโอน เพราะนอกจากจะสกัดสารชะมวงโอนได้ในปริมาณสูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นแล้ว น้ำมันรำข้าวยังมีกรดไขมันจำเป็นที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี และ สารแกมมาโอรีซานอล (y-oryzanol) ซึ่งมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดและหัวใจ และช่วยบำรุงผิวพรรณด้วย และจากการวิจัยและพัฒนาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดสาร ทำให้ได้กรรมวิธีการเตรียมสารสกัดชะมวงโอนจากใบชะมวงที่สกัดด้วยน้ำมันรำข้าวโดยใช้วิธีการสกัดด้วยคลื่นไมโครเวฟ [3,4] กรรมวิธีการสกัดดังกล่าวทำให้ได้สารสกัดที่มีสารชะมวงโอน 1.9 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และเมื่อนำสารสกัดที่ได้ไปทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ 3 ชนิด ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และ มะเร็งปอด พบว่าสารสกัดชะมวงโอนมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งดังกล่าวได้ดี ด้วยค่า IC50 เท่ากับ 12 - 16 ug/mL และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ปกติที่ความเข้มข้นสูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
นอกจากนี้ เมื่อนำสารสกัดไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารสกัดที่ได้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี (antioxidant capacity as ascorbic acid = 258.7 mM AAE/g; phenolic content = 73.57 mg-GAE/g) มีสารแกมมาโอริซานอล (cycloartarnyl ferulate 67.1 ug/mL และ 24-methylenecyloartarnyl ferulate 85.6 ug/mL), มีกรดไขมันในกลุ่มที่มีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ (mono unsaturated fat และ poly unsaturated fat = 41.9 และ 31.0 g/100 g ตามลำดับ ปราศจาก trans fatty acid) และ มี chlorophyll a 149.3 mg/100 g
การใช้งานและผลิตภัณฑ์
ผลงานนวัตกรรมนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบชะมวงและน้ำมันรำข้าว โดยนำมาผลิตเป็นสารสกัดชะมวงโอนซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง โดยใช้กรรมวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้สารสกัดที่มีคุณภาพดี สามารถควบคุมคุณภาพของสารสกัดได้ด้วยวิธี HPLC และช่วยลดต้นทุนการผลิต จึงสามารถนำกรรมวิธีการผลิตนี้ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่บรรจุในแคปซูลนิ่ม (soft gelatin capsule) ขนาดแคปซูลละ 500 - 1000 mg โดยแนะนำให้รับประทานวันละ 1 แคปซูล หรือ ผลิตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำมันปรุงอาหาร หรือ นำมันสำหรับทำน้ำสลัด หรือ น้ำสลัดเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
รางวัลที่ได้รับ
ผลงานเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดชะมวงโอนที่สกัดด้วยน้ำมันรำข้าวสำหรับป้องกันโรคมะเร็ง (A nutraceutical for cancer prevention made from chamuangone extract with rice bran oil) ได้รับ 3 รางวัล จากการประกวดนวัตกรรมในงาน 10th International Warsaw Invention Show” (IWIS 2016) ที่ประเทศสาธารณรัฐโปแลนด์ ได้แก่
1. Gold Medal
2. Special Award (on Stage) จาก Malaysian Research & Innovation Society ประเทศมาเลเซีย
3. Special Award จาก Taiwan International Invention Award Winners Association ประเทศไต้หวัน
เอกสารอ้างอิง
[1] Sakunpak A., Panichayupakaranant P. 2012. Food Chemistry 130: 826-831.
[2] Sakunpak A., Matsunami, K., Otsuka, H., Panichayupakaranant P. 2017. Journal of Cancer Research Updates 6: 38-45.
[3] Panichayupakaranant P., Sae-Lim P. 2016. Patent Application No. 1601001173. March 2, 2016.
[4] Sae-Lim P., Panichayupakaranant P. 2016. 4th Current Drug Development International Conference. June 1-3, 2016, Phuket, Thailand.