รพ.ราชวิถีรวมพลคนเปลี่ยนข้อเข่าและผู้รักสุขภาพกว่า 2,000 คน

รพ.ราชวิถีรวมพลคนเปลี่ยนข้อเข่าและผู้รักสุขภาพกว่า 2,000 คน

 

 

 

 

รพ.ราชวิถีรวมพลคนเปลี่ยนข้อเข่าและผู้รักสุขภาพกว่า 2,000 คน
ร่วมเดินวิ่งการกุศลรพ.ราชวิถี “รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย” เพื่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม

 

 


โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับ ชมรมวิ่ง โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมนิสิตเก่าแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งเพื่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม “รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย” รณรงค์ให้ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองด้วยการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อได้ใส่ใจการออกกำลังกาย และรายได้สมทบทุน กองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 คน และมีผู้ได้รับการเปลี่ยนข้อเข่าร่วมกว่า 200 คน ณ นอร์ธปาร์ค วิภาวดี เมื่อเร็วๆ นี้


นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี เผยว่า “โรคข้อเข่าเสื่อม” ปัจจุบัน พบในผู้สูงอายุและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมากกว่า 6 ล้านคน และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป พบถึง 50% โดยผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม จะมีอาการเจ็บหรือปวด ข้อเข่าผิดรูป ข้อฝืด หรือข้อติด เดินได้ไม่ปกติ ทำให้เกิดความยากลำบากการชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ได้รับความทุกข์ทั้งด้านกาย และจิตใจ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว


“โรงพยาบาลราชวิถี ได้มีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มาแล้วกว่า 30 ปี โดยเฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยการเปลี่ยนข้อเข่าโรงพยาบาลราชวิถีผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี มากที่สุดของประเทศ ทำมากว่า 10 ปีแล้ว ทำให้มีความแม่นยำเที่ยงตรงในการผ่าตัดสูง รวมทั้งเริ่มนำการผ่าตัดแบบแผลเล็กและพื้นตัวเร็ว จาก 10-14 วัน ลดลงเหลือ 3-4 วัน นอกจากนี้เรามีการผ่าตัด revision แก้ไขข้อที่เคยผ่าแล้วแต่เริ่มมีการหลวมใหม่มากเป็นลำดับต้นๆของประเทศ


ซึ่งการแก้ไขนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการผ่าเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก อย่างไรก็ตามการรักษาโดยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม บางสิทธิ์ของการรักษาพยาบาลไม่สามารถเบิกได้ จึงเป็นภาระที่ผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนเกินนี้เอง กองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี จึงได้จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง “รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย” ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษา โดยรายได้สมทบทุนกองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ นับเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ”


ผศ.นพ.พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานศัลยกรรมเปลี่ยนข้อกลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลราชวิถี เผยว่า ปัญหา “โรคข้อเข่าเสื่อม” เกิดจากหลายปัจจัย เช่น เสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ ติดเชื้อ โรคเกาต์ โรครูมาตอย และเกิดจากการทำงานที่ออกแรงใช้เข่ามาก หรือมีการกระแทกหรืองอเข่าบ่อยๆ เช่น การยกของหนักขึ้นบันได เดินไกล หรือลุกนั่งบ่อย เป็นต้น แต่สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบได้ถึงร้อยละ 50 เกิดมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ซึ่งทำให้ข้อเข่าทำงานหนักเกินไป โดยโรคข้อเข่าเสื่อมนี้มักพบมากในผู้หญิง ประมาณ 2-3 เท่า


โดยอาการโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเบื้องต้นจะมีอาการปวดบริเวณข้อเข่า ลุกขึ้นจากท่านั่งลำบาก ข้อขัด ฝืด ตึง มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับเข่า งอเข่าได้น้อยลง หรือเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด ในระยะแรกการปวดเข่ามักสัมพันธ์กับการลงน้ำหนัก การเดิน การขยับ ยกเว้นข้อเข่าเสื่อมจากโรคข้ออักเสบอาจมีอาการปวด บวม ร้อน ตลอดเวลาที่มีการอักเสบ ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรงในระยะท้ายๆ อาการปวดเข่าอาจเกิดได้ตลอดเวลาหรือปวดตอนกลางคืนแม้ไม่ได้มีการใช้งาน


ส่วนการรักษา “โรคข้อเข่าเสื่อม” นั่นมีหลายวิธี แต่วิธีที่เห็นผลและได้รับความนิยมคือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งการผ่าตัดจะสามารถลดอาการปวดได้มาก และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งการดูแลตัวเองก่อนการผ่าตัดนั่น ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว นอนผักผ่อนให้เพียงพอ งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกมาขนาดผ่าตัด และหลังจากการผ่าตัดแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด ควรนอนพักรรักษาที่โรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน และหลังจากนั้นควรมาพบแพทย์เพื่อดูอาการตามแพทย์สั่ง และป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ


สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมนั่น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังที่มีแรงกระทำต่อข้อเข่ามากๆ เช่น การวิ่งบนพื้นผิวขรุขระ หรือกระโดดเชือก เป็นต้น ควรใช้การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขาและรอบเข่า เช่น การเดินช้าๆ การใช้เครื่องปั่นจักรยาน ไม่แนะนำให้ปั่นจักรยานจริงๆ ซึ่งเสี่ยงกับการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ หรือการออกกำลังกายในน้ำ เพื่อช่วยให้มีแรงในการขยับข้อเข่าและพยุงให้ข้อเข่ามั่นคงขึ้น แต่ในท้ายที่สุดนี้ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั่น ควรจะมีความเข้าใจในตัวโรค เพื่อที่จะดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง และปรึกษาแพทย์เพื่อการได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม


นอกจากนี้ แพทย์หญิงรัติยา พรชัยสุรีย์ ประธานชมรมวิ่งโรงพยาบาลราชวิถี ได้เล่าถึงที่มาของการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งเพื่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม “รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย” ว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้ง โรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และกองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี โดยมีจุดประสงค์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชน ใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองด้วยการออกกำลังกาย


เพื่อป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม และส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อได้ใส่ใจการออกกำลังกาย อีกทั้งรายได้สมทบทุน กองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมต่อไป งานนี้มีคนเข้าร่วมกว่า 2,000 คน รวมถึงผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนข้อฯ กว่า 200 คน เพื่อแสดงให้เห็นว่าหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

 

 

 

 

 

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณนิรมล (แอ๊ด) โทร. 083 122- 9066