ลอรีอัล ฉลองครบรอบ 15 ปี โครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”
ลอรีอัล ฉลองครบรอบ 15 ปี โครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”
มอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น พร้อมเผย 3 นักวิจัยผู้รับทุนประจำปี 2560
ลอรีอัล ฉลองครบรอบ 15 ปี โครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น พร้อมเผย 3 นักวิจัยผู้รับทุนประจำปี 2560 นำโดย (ที่สามจากซ้าย) คุณอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความยินดีให้แก่ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น และ 3 นักวิจัยสตรีไทยผู้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2560 พร้อมดัวย ซึ่งปีนี้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oreal Woman Scientist Crystal Award” ให้แก่ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น คือ (ที่สองจากซ้าย) ศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี และ (ซ้ายสุด) ดร. อัญชลี มโนนุกุล ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนวิจัยในปีนี้ทั้งหมด 3 ท่าน จาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ขวาสุด) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริสา พลพวก จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวัสดุศาสตร์ (ที่สองจากขวา) รองศาสตราจารย์ ดร. นพิดา หิญชีระนันทน์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี (ที่สามจากขวา) ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
กรุงเทพฯ 21 กันยายน 2560 – บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ฉลองครบรอบการดำเนินโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ในประเทศไทยเป็นปีที่ 15 ด้วยการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oréal Woman Scientist Crystal Award” แก่นักวิจัยสตรีดีเด่น 2 ท่าน ผู้เคยได้รับทุนวิจัยจากโครงการฯ และประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ ประจำปี 2560 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์
นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ได้เดินทางมาถึงปีที่ 15 ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี การให้การสนับสนุนด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในปีนี้นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนต่างก็มีผลงานที่โดดเด่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละสาขาวิชา หากแต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเดียวกันที่จะสร้างความสมดุล ความสวยงาม และความยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติ ยิ่งไปกว่านั้นต้องขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยสตรีผู้เคยได้รับทุนของโครงการฯ ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oréal Woman Scientist Crystal Award” โดยได้ต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน ลอรีอัล หวังว่ารางวัลเหล่านี้จะเป็นกำลังใจและแรงสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีทุกท่านมุ่งทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”
โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้มากกว่า 2,500 ท่าน จาก 112 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี โดยตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 61 ท่าน
นอกเหนือจากการคัดเลือกที่คำนึงถึงความยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่โครงการให้ความสำคัญมาตลอด 15 ปีที่ดำเนินงานในประเทศ คุณค่าของงานวิจัยที่จะสร้างประโยชน์กับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และต้องเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย คือหลักเกณฑ์หลักในการพิจารณาโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยจากสาขาต่างๆ เป็นคณะกรรมการตัดสิน
รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oréal Woman Scientist Crystal Award”
ในโอกาสที่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) เดินหน้าอย่างต่อเนื่องมาจนครบรอบ 15 ปี บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L'Oréal Woman Scientist Crystal Award” เพื่อมอบให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่น 2 ท่าน ที่เคยได้รับทุนวิจัยจากทางโครงการได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น ผู้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มจัดโครงการในประเทศไทย กับงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาเอนไซม์ออกซิเจนเนสเพื่อการย่อยสลายอะโรมาติก” มุ่งสร้างประโยชน์ทางด้านกระบวนการสังเคราะห์เพิ่มมูลค่าสารเคมีแบบเป็นเทคโนโลยีสะอาด ไม่ใช้สารเคมีอันตรายและไม่ปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรให้เป็นสารเคมีและพลังงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น
พร้อมใช้เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดสภาวะโลกร้อน และนักวิจัยอีกหนึ่งท่านที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในครั้งนี้คือ ดร. อัญชลี มโนนุกุล ผู้เคยได้รับทุนวิจัยในปี 2551 กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นรูปโลหะผง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะของไทย” โดยงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตของประเทศไทย ตัวอย่างผลงานที่ดำเนินการสำเร็จและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม คือ ชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไททาเนียม ที่ปัจจุบันบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ เป็นต้น
โดยหลังจากได้รับทุนวิจัยจากโครงการฯ นักวิจัยสตรีทั้ง 2 ท่าน ต่างก็ได้รับโอกาสในการเข้ามาช่วยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติผ่านงานวิจัยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดย ดร. อัญชลี มโนนุกุล ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งนี้ว่า “การได้รับทุนวิจัยสร้างโอกาสในการทำงานวิจัยเพิ่มขึ้นหลายด้าน ได้รับการไว้วางใจจากภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ ผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รวมถึงตอบโจทย์อุตสาหกรรม ทั้งยังมีภาคเอกชนติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอคำแนะนำ สนับสนุนงานวิจัย หรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
และได้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะผงแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย เสริมสร้างความเป็นเลิศในการผลิตชิ้นส่วนโลหะของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ” ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวถึงความสำเร็จหลังจากได้รับทุนวิจัยว่า “การได้รับทุนวิจัยจากลอรีอัลเปรียบเสมือนกำลังใจสำคัญในการทำงานวิจัยต่อไปและต่อยอดการวิจัยออกไปในเชิงลึกและในวงกว้างได้มากขึ้น ทั้งยังได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาให้ใช้งานได้จริงกับทั้งทางภาครัฐและเอกชน เพื่อพร้อมรับมือกับยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ด้าน ซึ่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก็จะเป็นหนึ่งในแรงสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างประโยชน์ในยุคดิจิทัลให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี”
3 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ ประจำปี 2560
ในปีนี้ มีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุน 3 ท่านจาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริสา พลพวก จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการออโตฟาจีซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรค” สาขาวัสดุศาสตร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร. นพิดา หิญชีระนันทน์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจร” และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คือ ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Solid-State DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้สามารถใช้เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริสา พลพวก ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า “การศึกษากระบวนการออโตฟาจีซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรคนั้น เป็นอีกหนึ่งการศึกษาที่คนไทยควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเชื้อมาลาเรียและเชื้อวัณโรคต่างเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประชากรโลกและประชากรในประเทศไทยมาโดยตลอด นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันตัวเชื้อยังมีการพัฒนากลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ดื้อยา อาจส่งผลให้การรักษาด้วยยาที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป และมีแนวโน้มที่จะทำให้ติดเชื้อรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น โดยเบื้องต้นในงานวิจัยโมเลกุลกระตุ้นออโตฟาจีที่จะพัฒนามาจากสารสกัดผลิตภัณฑ์ของไทยนั้น อาจทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือ ยาตัวใหม่เพื่อช่วยในการต้านเชื้อ และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ในอนาคต ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งงานวิจัยทางด้านเชื้อวัณโรค อาจพัฒนาต่อยอดการยับยั้งและช่วยฆ่าเชื้อโรคมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์ไบจิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเชื้อที่ระบาดมากที่สุดและดื้อยามากที่สุดในประเทศไทยได้”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. นพิดา หิญชีระนันทน์ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจรมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมยางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเกษตรกรรมหลักของประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการนำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีไปประยุกต์ใช้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ในอนาคต นับเป็นการนำยางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันขยะยางจากภาคการขนส่งหรืออุตสาหกรรมยางก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดผ่านการแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ซึ่งน้ำมันจากขยะยางนั้นหากมีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถพัฒนาเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกเพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศชาติได้ต่อไป”
อีกด้านหนึ่ง ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ก็ได้กล่าวถึงรายละเอียดงานวิจัยว่า “การประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Solid-State DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้สามารถใช้เพื่อพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น เป็นอีกวิธีการสำคัญที่สามารถช่วยให้ออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้มีสมบัติตามความต้องการเพื่อใช้ในการพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเป็นหัวใจของกระบวนการปฏิกิริยาต่างๆ โดยวิธีนี้สามารถช่วยให้เข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับอะตอม ทำให้ทราบถึงปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเร่งปฏิกิริยา ช่วยลดการพึ่งพาเครื่องมือการทดลองที่มีราคาสูงรวมไปถึงขั้นตอนในการทดลองที่ซับซ้อนออกไป
พร้อมกับสร้างแนวทางสำหรับพัฒนาวิจัยได้ถูกต้องชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งในระยะยาวการวิจัยนี้สามารถพัฒนาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้เป็นเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้น ลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกและภาวะโลกร้อน ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอีกด้วย และงานวิจัยนี้ยังเกี่ยวเนื่องต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทนให้มีความยั่งยืน และสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานทดแทนด้วยเช่นกัน”
เกี่ยวกับลอรีอัล กรุ๊ป
ลอรีอัลทุ่มเทในธุรกิจความงามมายาวนานกว่า 100 ปี โดยมีพอร์ตโฟลิโอผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์ความงามระดับโลกที่หลากหลายและเกื้อหนุนกัน 34 แบรนด์ ในปี 2016 ลอรีอัลกรุ๊ป มียอดขายผลิตภัณฑ์ 25.8 พันล้านยูโรและมีพนักงานทั้งสิ้น 89,300 คนทั่วโลก ในฐานะองค์กรด้านความงามชั้นนำของโลก ลอรีอัลมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายผ่านทุกช่องทาง ครอบคลุมถึงตลาดมวลชน ห้างสรรพสินค้า เภสัชกรรมและร้านขายยา ซาลอน ร้านค้าในสนามบิน ร้านค้าปลีก และ อี-คอมเมิร์ส
ลอรีอัลยึดมั่นในกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กรในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องโดยทีมงานวิจัยกว่า 3,870 คน ที่มุ่งตอบสนองต่อความปรารถนาด้านความงามของผู้คนทั่วโลก นอกจากนี้ ลอรีอัลมีพันธสัญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับปี 2020 “Sharing Beauty With All” หรือ “แบ่งปันความงดงามให้ทุกสรรพสิ่ง” เป็นแนวทางกำหนดเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านความยั่งยืนในทุกภาคส่วนของลอรีอัลกรุ๊ป www.loreal.com
เกี่ยวกับลอรีอัล ประเทศไทย
ลอรีอัล ประเทศไทย คือบริษัทความงามที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ปัจจุบันนำเข้าและจัดจำหน่าย 21 แบรนด์ความงามชั้นนำของโลก โดยแบ่งออกเป็น 4 แผนก ดังนี้
แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค ได้แก่ ลอรีอัล ปารีส การ์นิเย่ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก และนิกซ์ โปรเฟสชั่นแนล เมคอัพแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง ได้แก่ ลังโคม ไบโอเธิร์ม จิออร์จิโอ อาร์มานี่ ราล์ฟ ลอเรน คาชาเรล กี ลาโรชย์ คีลส์ ชู อูเอมูระ วิคเตอร์ แอนด์ รอล์ฟ ดีเซล อีฟส์ แซงต์ โลร็องต์ คลาริโซนิค และเออเบิน ดีเคย์ แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ ได้แก่ ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และเคเรสตาส แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ได้แก่ ลา โรช-โพเซย์ และวิชี่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์
สิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์
โทรศัพท์ 02-684-300002-684-3000 มือถือ 063-193-2541 และ 092-356-1424
อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
และ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์ ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
ญาดา สินธวะรัตน์ (นุ่น) และ ปริตต์ กาศยปนันทน์ (เน)
โทรศัพท์ 02 627-350102 627-3501 ต่อ 213 และ 129
มือถือ 081 694 9949081 694 9949 และ 084 361 1163084 361 1163