8 เคล็ดลับเตรียมความพร้อม เพื่อผู้สูงอายุในวิกฤตน้ำท่วม

8 เคล็ดลับเตรียมความพร้อม เพื่อผู้สูงอายุในวิกฤตน้ำท่วม

 

 

 

บทความโดย : ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา
นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย นายกสมาคมบ้านปันรัก

 


8 เคล็ดลับเตรียมความพร้อม
เพื่อผู้สูงอายุในวิกฤตน้ำท่วม

 

 

ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยกำลังเกิดอุทกภัยร้ายแรง โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย นายกสมาคมบ้านปันรัก ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อผู้สูงอายุในวิกฤตน้ำท่วม ดังนี้


1.น้ำและอาหาร ต้องเตรียมน้ำดื่มที่สะอาดพร้อมกับอาหารที่รสไม่จัดมากนัก ทั้งยังควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ท่านได้รับสารอาหารอย่างพอเพียงควรเตรียมไว้ไม่ต่ำกว่า 2- 3 วัน เผื่อในกรณีที่ลูกหลานไม่สามารถออกไปหาเสบียงให้ได้


2. ยารักษาโรค ควรเตรียมทั้งยาสามัญประจำบ้าน และยาประจำตัว ที่สำคัญควรติดฉลากให้ชัดเจนว่ายาตัวไหนทานมื้อไหน ขนาดเท่าใด และตั้งนาฬิกาให้ปลุกเมื่อถึงเวลาทานยา เพราะช่วงวิกฤติน้ำท่วมลูกหลานอาจจะไม่สามารถดูแลท่านได้อย่างใกล้ชิดเหมือนยามปกติ


3. เครื่องนุ่งห่ม ต้องเตรียมสำรองเสื้อผ้าที่แห้งไว้ตลอดเวลา เพราะการสวมใส่ชุดที่เปียกน้ำจะทำให้ผู้สูงอายุป่วยได้ง่าย และควรเตรียมเครื่องประทินผิว เช่น แป้ง ผงลดอาการคัน ครีมบำรุงผิว ฯลฯ เพื่อช่วยให้ผิวพรรณเกิดความชุ่มชื่น นุ่มนวล ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายตัวทำให้จิตใจเกิดการผ่อนคลาย


4. ที่พักอาศัย ต้องจัดเตรียมสภาพบ้านพักอาศัยให้ปลอดภัยจากสัตว์ที่จะมากับน้ำ เช่น งู ตะขาบ ฯลฯ ควรยกเตียงท่านให้พ้นจากน้ำที่ท่วมขัง ถอดปลั๊กไฟออกหรือสับเบรกเกอร์ลง เพราะถึงแม้จะไม่มีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่หากไฟยังจ่ายอยู่ก็อาจจะรั่วได้ และควรให้ท่านใส่รองเท้าอยู่กับบ้านชนิดที่ป้องกันชนวนจะทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นทั้งจากไฟฟ้าแล้วการเหยียบสิ่งของอันตราย


5. ถุงขยะ ควรเตรียมถุงดำพร้อมเชือกหรือยางมัดไว้ในกรณีที่ห้องน้ำไม่ระบาย ท่านจะได้ถ่ายใส่ถุง หลังจากทำธุระเสร็จแล้วควรมัดถุงดำไว้ให้ดี รวมถึงบรรดาขยะต่างๆ ด้วย อย่าให้สัมผัสกับน้ำที่ขังเพราะจะทำให้ของเสียกระจายออกมาได้


6. แสงสว่าง ต้องเตรียมไฟฉายพร้อมถ่านไว้ให้เพียงพอกับการใช้งาน ในกรณีที่แสงสว่างพื้นฐานไม่อาจใช้ได้


7. กระดิ่งหรือนกหวีด ควรเตรียมอุปกรณ์ที่ส่งเสียงดังไว้ใกล้มือท่าน ในกรณีที่ท่านต้องการความช่วยเหลือจะได้เรียกหาผู้ช่วยได้


8. การสื่อสาร ควรหาวิทยุให้ผู้สูงอายุเปิดฟังข่าวสารหรือความบันเทิง เพราะการอยู่กับเหตุการณ์ที่ไม่ปกติอาจจะทำให้ท่านเกิดความเครียด ควรมีโทรศัพท์มือถือและแบตเตอรี่สำรองไว้ให้ท่านเผื่อสำหรับติดต่อฉุกเฉินและควรจดเบอร์โทร.ฉุกเฉินไว้ให้ท่านด้วย หากลูกหลานไม่ได้อยู่กับท่านควรฝากท่านไว้กับเพื่อนบ้านได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาซึ่งกันและกันเพื่อความอุ่นใจยิ่งขึ้น


สำหรับในกรณีที่บ้านไม่สามารถอยู่ได้และจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุออกจากบ้าน แต่ผู้สูงอายุไม่ยอมย้ายออกนั้น ลูกหลานต้องไม่ใช้คำพูดทำนองว่าถ้าท่านอยู่ท่านจะเป็นภาระให้ลูกหลานต้องมาคอยดูแล เพราะการพูดแบบนั้นจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความน้อยใจและจะประชดด้วยการดื้อไม่ยอมออกจากบ้าน


วิธีการที่ดีที่สุด คือ ควรให้เหตุผลกับท่านว่า การที่ให้ท่านย้ายออกไปนั้นก็เพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูกหลานและควรถามท่านถึงข้อคิดเห็น หรือวิธีแก้ไขต่างๆ เพื่อท่านรู้สึกว่ายังมีคุณค่า มีความสำคัญอยู่ ก็จะยิ่งเป็นการรับประกันผลสำเร็จในการโน้มน้าวใจให้ท่านออกจากบ้านได้ง่ายขึ้น


ในทุกกรณีพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีอะไรสำคัญกับผู้สูงอายุเท่ากับความอบอุ่นจากลูกหลาน จึงจำเป็นต้องหาเวลาไปพูดคุยสนทนากับท่านอย่าให้เหงามิเช่นนั้นความวิตกกังวลจากน้ำท่วมจะจู่โจมทำให้ท่านเครียดจนป่วยได้


หากเรามีการเตรียมความพร้อมที่ดีและมีสติในการตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างดีแล้ว ผมเชื่อเหลือเกินว่าเราจะสามารถดูแลผู้สูงวัยและบุคคลที่รักในครอบครัวได้อย่างดีเยี่ยม เปี่ยมคุณภาพและเปี่ยมสุขไปด้วยกันครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (ในนามตัวแทนบริษัทประชาสัมพันธ์)
คุณอรพรรณ กังเอง โทร. 081 909 1625 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คุณสุรศักดิ์ สีลูกวัด โทร. 098 263 8694 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คุณจารุวรรณ เวชตระกูล โทร. 063 362 8955 อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.