4 เรื่องต้องเตรียมพร้อม เพื่อการมีชีวิตที่มั่นคงในช่วงสูงวัย
เรื่อง : ผศ. ดร.วีรณัฐ โรจนประภา
นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย นายกสมาคมบ้านปันรัก
4 เรื่องต้องเตรียมพร้อม
เพื่อการมีชีวิตที่มั่นคงในช่วงสูงวัย
ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นด้านการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณมากมาย ที่มีพื้นฐานอิงตามความต้องการใช้เงินของแต่ละบุคคลในแต่ละเดือนว่าเป็นเงินเท่าไหร่ จากนั้นจึงคำนวณเงินที่จะต้องใช้ตั้งแต่อายุ 60 ปีไปจนถึงอายุขัยเฉลี่ยในปัจจุบัน แล้วจึงนำมาตีกลับด้วยอัตราเงินเฟ้อเพื่อย้อนกลับมาเป็นจำนวนเงินที่จะต้องสะสมรายเดือนในปัจจุบันไปจนถึงวันเกษียณ
ซึ่งจำนวนเงินจะมากหรือน้อยจะมีความแตกต่างกัน คือหากเริ่มสะสมเงินตั้งแต่อายุยังน้อย การสะสมต่อเดือนก็จะน้อย ถ้าเริ่มสะสมตอนอายุมาก จำนวนเงินที่จะต้องสะสมก็จะสูงมากจนบางกรณีดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยวิถีการจ้างงานในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีผู้ที่สามารถแบ่งเงินมาออมได้ตามยอดที่คำนวณไว้ แต่เชื่อได้ว่าคนผู้นั้นก็จะยังรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยและมั่นคงในชีวิตอยู่ดี เพราะธรรมชาติแห่งจิตของมนุษย์ย่อมปรุงแต่งความวิตกกังวลขึ้นมาได้เสมอ เช่น กลัวว่าเงินที่เก็บไว้ในธนาคารแล้วธนาคารจะล้ม ค่าเงินเฟ้อจะมากกว่าโปรแกรมที่คำนวณ ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเกิดวิกฤตจนที่ประเมินไว้ไม่พอเพียง
สิ่งที่ผมจะขอเสนอก็คือเราต้องสาวไปให้ถึงต้นเหตุแห่งความกลัว ซึ่งก็คือความกลัวที่จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คำถามที่ควรถามก็คือ การดำรงชีวิตอยู่นั้นมีอะไรต้องเตรียมบ้าง มากกว่าต้องเตรียมเงินเท่าไหร่บ้างคำตอบเหมือนจะยากแต่ที่จริงไม่ยากเลย เพราะคำตอบก็คือหากอยากมีความมั่นคงในการดำรงชีพก็ต้องสร้างความมั่นคงในปัจจัยสี่นั่นเอง
หากอยากเลิกกังวลก็ควรมาสร้างความมั่นคงทาง 4 ปัจจัยนี้มากกว่าการเก็บเงินให้ได้ตามที่โปรแกรมคำนวณให้ วิธีการก็ไม่ยากเริ่มต้นจากอาหารซึ่งเป็นตัวที่จัดการได้ง่ายที่สุด แทนที่เราจะเสียเวลาไปหาเงินเพิ่ม สู้เรามาหาความรู้ทางด้านการเพาะปลูกพืชสวนครัว ปลูกผักริมรั้ว หรือสิ่งที่เรากินจนถึงจุดที่เรียกว่า "กินที่ปลูก ปลูกที่กิน" ถ้าเราทำได้เงินในส่วนที่จะเตรียมสำหรับค่าอาหาร ก็อาจจะประเมินไว้แค่ของเครื่องปรุง หรืออาหารมื้อพิเศษในแต่ละเดือนก็พอเพียง
ส่วนในเรื่องของยารักษาโรคก็เช่นเดียวกัน คนสมัยโบราณอยู่กันมาได้เป็นพันปีโดยไม่ได้ต้องพึ่งยาแพงๆ ก็อยู่ได้ หากเราอยากมีสุขภาพกายที่ดีด้วยวิถีแห่งธรรมชาติ เราก็ควรหันมาศึกษาเรื่องของการกินเป็นยา เรื่องของสมุนไพรที่ใช้บำรุงและการบำบัดอาการของโรคนี้ ขณะเดียวกันเราก็ไม่ทิ้งวิวัฒนาการทางการแพทย์สมัยใหม่ เราควรศึกษาในเรื่องของสิทธิการพยาบาลที่ทางรัฐมีให้ว่าครอบคลุมจนหมดกังวลหรือยัง หากยังเราก็ค่อยไปดูในเรื่องของการซื้อประกันเพิ่ม เท่านี้ก็จะหมดกังวลเรื่องการรักษาพยาบาลที่สำคัญใช้เงินไม่ได้มากนัก
ขณะที่เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนั้นอาจเป็นเรื่องลำบากเกินกำลังสำหรับคนสมัยใหม่หากจะให้มาถักทอเสื้อผ้าไว้ใช้เอง ปัจจัยนี้เราก็เพียงลงรายละเอียดไปเลยว่าต่อปีเราควรจะมีค่าเสื้อผ้าชุดใหม่สักกี่ตัวเพื่อหมุนเวียนมาแทนชุดเก่าซึ่งตามหลักย่อมไม่มากมายนักอาจซื้อเพิ่มปีละ 2-3 ชุดก็พอเพียงต่อการใช้งาน
ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือที่อยู่อาศัยหากใครมีบ้านอยู่แล้วก็ประเมินเพียงค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำ ค่าไฟ ส่วนถ้าใครไม่มีก็ลองหาข้อมูลเรื่องของบ้านเช่าว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
เมื่อเราประเมินครบปัจจัยที่จำเป็นในการมีชีวิตอยู่ครบทั้ง 4 ด้านแล้วเราก็จะได้ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจะต้องใช้เงินจริงๆ ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่อยู่ในวิสัยในการแบ่งมาออม ที่สำคัญคือเมื่อเราได้เจาะลึกไปขนาดนี้จะทำให้เราหมดห่วง เพราะเราจะได้เห็นภาพการใช้ชีวิตที่ชัดเจนจริงๆ ไม่ใช่การประเมินแบบเหมารวมเป็นตัวเงินลอยๆ ที่ยังคงทิ้งความกังวลเป็นเชื้อไว้อยู่ ลองดูนะครับ ความกังวล ความกลัวมาจากความไม่รู้ เมื่อรู้แล้วย่อมไม่กลัวอีกต่อไปครับ
บริษัท วิช กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (ในนามตัวแทนบริษัทประชาสัมพันธ์)
คุณอรพรรณ กังเอง โทร. 081 909 1625
อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คุณสุรศักดิ์ สีลูกวัด โทร. 098 263 8694
อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
คุณจารุวรรณ เวชตระกูล โทร. 063 362 8955
อีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.