TTA ปลื้มธุรกิจเดินเรือและวิศวกรรมใต้ทะเลส่งสัญญาณดีขึ้นในไตรมาสสอง แม้สภาวะตลาดยังคงท้าทาย
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผย ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ในไตรมาสที่ 2/2559 ( 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2559) โดยบริษัทฯ มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 138 จากไตรมาสแรก อีกทั้ง ยังมีงบดุลและฐานะทางการเงินที่มั่นคง เนื่องจากมีเงินสดและเงินลงทุนในระยะสั้นสูงถึง 12,300 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2559 ซึ่งส่งผลทำให้ผลกำไรสุทธิจาก การดำเนินงานปกติที่เป็นส่วนของ TTA เท่ากับ 10.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 105 จากไตรมาสที่ 1/2559 และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 194 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จึงรายงานผลขาดทุนสุทธิ ลดลงมาอยู่ที่ 30.6 ล้านบาท
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นบริหารธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพแม้ต้องเผชิญกับความความท้าทายและความผันผวนต่างๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ในไตรมาสที่สองนี้ กลุ่มเมอร์เมดมีผลการดำเนินงานที่ดี เพราะได้สัญญาให้บริการวิศวกรรมใต้น้ำกับลูกค้าใหม่หลายราย ในขณะที่ บริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่งค์ จำกัด (AOD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่เมอร์เมดถือหุ้นอยู่ ก็ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกอย่าง ซาอุดิ อารามโค (Saudi Aramco) ที่ตกลงต่อสัญญาว่าจ้างเรือขุดเจาะแบบสามขา ทั้งสองลำของบริษัทฯ (AOD I และ AOD II) ออกไปอีก 3 ปี สำหรับ ผลการดำเนินงานของบริษัท พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) นั้น ยังคงแข็งแกร่งเหมือนเดิม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าธุรกิจปุ๋ยและธุรกิจให้บริการเช่าพื้นที่โรงงานเพื่อเก็บสินค้ามีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ส่วนผลการดำเนินงานของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ในไตรมาสที่สองนี้ ปรากฏว่า สามารถสร้างรายได้ และผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 1/2559 เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนส่งทางเรือยังคงซบเซา เนื่องจาก ดัชนี BDI ยังอีกไกลมากกว่าจะขึ้นไปถึง 11,000 จุด ซึ่งเคยทำสถิติไว้ สำหรับ บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หรือ UMS นั้น ถือว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ บรรลุเป้าหมายไปอีกระดับหนึ่งแล้ว หลังจากที่ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ ทำให้ UMS มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจำหน่ายถ่านหินเพิ่มขึ้น และมีผลขาดทุนสุทธิที่เป็นส่วนของ TTA ลดลง
ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2/2559 ของแต่ละธุรกิจ
กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง : ในไตรมาสที่ 2/2559 อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง อยู่ที่ 5,079 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ร้อยละ 36 แต่ลดลงร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราค่าระวางเรือของกลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เป็นเงินสด ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5,024 เหรียญสหรัฐต่อวัน ทั้งนี้อัตราการใช้ประโยชน์ของเรือที่กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง เป็นเจ้าของ ยังคงอยู่ในระดับร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่ตลาดซบเซา
กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ขายเรือ M.V. Thor Wave ขนาด 39,042 DWT และ เรือ M.V. Thor Wind ขนาด 39,087 DWT ออกไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพและลดอายุกองเรือ ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2559 กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง เหลือเรือที่เป็นเจ้าของอยู่ 21 ลำ ซึ่งมีขนาดเฉลี่ยเท่ากับ 52,078 DWT และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 11.60 ปี
กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 3.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ร้อยละ 95 และมีผลขาดทุนจากรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งมาจากการขายเรือจำนวน 2 ลำ เพื่อนำไปตัดเป็นเศษซาก โดยสรุป กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง มีผลขาดทุนสุทธิ 196.2 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2559 และมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 155.2 ล้านบาท
เมอร์เมด มาริไทม์: ในไตรมาสที่ 2/2559 กลุ่มเมอร์เมด มีรายได้รวมเท่ากับ 1,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากไตรมาสแรกที่มีรายได้รวมเพียง 1,412.9 ล้านบาท และมีรายได้จากธุรกิจบริการเรือวิศวกรรมใต้ทะเล (รวมถึงการสำรวจ การซ่อมแซมและการบำรุงรักษา) เพิ่มขึ้น จากไตรมาสแรก ร้อยละ 16 โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากธุรกิจวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 322 นอกจากนี้ กลุ่มเมอร์เมด ยังมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 อีกด้วย
สำหรับธุรกิจเรือขุดเจาะ Jack-up drilling rigs สเปคสูงสามลำของกลุ่มเมอร์เมด ภายใต้ บริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่งค์ จำกัด (AOD) มีค่าเฉลี่ยการใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ในไตรมาสที่ 2/2559 โดยเรือขุดเจาะ 2 ใน 3 ลำ ได้แก่ AOD I และ AOD II ได้รับการต่อสัญญาต่อเนื่องไปอีก 3 ปี ในขณะที่ เรือขุดเจาะ MTR -1 และ MTR – 2 ยังคงจอดอยู่เพื่อรอการขายออกไป ส่วนเรือที่สั่งต่อใหม่ MTR-3, MTR-4 และ เรือสนับสนุนงานประดาน้ำ DSCV ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากับอู่ต่อเรือเพื่อเลื่อนวันส่งมอบไปเป็นช่วงปลายปีนี้ โดยสรุป ในไตรมาสที่ 2/2559 กลุ่มเมอร์เมด รายงานผลกำไรสุทธิที่ 274.2 ล้านบาทและมีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ที่ 159.1 ล้านบาท
บมจ. พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA): ในไตรมาสที่ 2/2559 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 62.6 ล้านบาท และ มีกำไรสุทธิ ส่วนที่เป็นของ TTA 42.2 ล้านบาท โดยมียอดขายปุ๋ยเท่ากับ 55,107 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เปรียบเทียบกับยอดขาย 37,827 ตัน เมื่อไตรมาสที่ 1/2559
แม้ว่าประเทศเวียดนามจะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง PMTA ยังคงสร้างยอดขายปุ๋ยภายในประเทศเวียดนามได้ถึง 31,165 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากไตรมาสแรก และมียอดส่งออกผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเท่ากับ 23,942 ตัน ซึ่งเติบโต ร้อยละ 59 จากไตรมาสที่ 1/2559 โดยประเทศฟิลิปปินส์เป็นตลาดเป้าหมายสำคัญในการส่งออกสินค้าปุ๋ย รองลงมาเป็นประเทศมาดากัสการ์
ในขณะที่ รายได้จากการให้เช่าพื้นที่โรงงานสำหร้บเก็บสินค้าในไตรมาสที่ 2/2559 อยู่ที่ 15.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากไตรมาสแรก โดยอุปสงค์ของธุรกิจนี้ ยังคงโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีลูกค้าเช่าเต็มพื้นที่ แม้ว่าจะขยายพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม
บมจ. ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS): หลังจากที่ UMS เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ ทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจบริการอื่น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ และบริการลำเลียงสินค้าจากเรือ เป็นต้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2559 ร้อยละ 85 ในขณะที่แผนการลดต้นทุนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง มาเป็น 17.5 ล้านบาท หรือ ลดลงร้อยละ 18 จากไตรมาสที่ 1/2559
ด้วยค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่ลดลง จึงทำให้ UMS มีผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากไตรมาสที่ 1/2559 และมี EBITDA margin ร้อยละ 10 สำหรับค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายพบว่าลดลง ร้อยละ 1 จากไตรมาสที่ 1/2559 ขณะที่ แผนปรับโครงสร้างทางการเงิน ช่วยลดต้นทุนทางด้านการเงินลงร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดังนั้น UMS จึงรายงานผลขาดทุนสุทธิ 11.3 ล้านบาท และ ผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 10.2 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 2/2559
------------------------------------------------
เกี่ยวกับ TTA
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในเชิงกลยุทธ์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นโยบายการลงทุนของบริษัทฯ คือ การสร้างความเติบโตอย่างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุน ซึ่งมีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอร์ตการลงทุนในปัจจุบัน (แต่ไม่ได้จำกัดเพียงเท่านี้) ประกอบไปด้วย ธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกอง ธุรกิจการให้บริการนอกชายฝั่งแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ย ธุรกิจท่าเรือและการให้บริการโลจิสติกส์ และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์www.thoresen.com