ดีอีใช้เวที “ASEAN Digital Ministers’ Retreat” หารือ 5 ความท้าทาย ดันอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ดีอีใช้เวที “ASEAN Digital Ministers’ Retreat” หารือ 5 ความท้าทาย ดันอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

 

 

 

ดีอีใช้เวที “ASEAN Digital Ministers’ Retreat” หารือ 5 ความท้าทาย ดันอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

 

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Digital Ministers’ Retreat) ระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2562 ณ โรงแรม บันยันทรี ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมด้วยเลขาธิการอาเซียน โดยมี ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้


ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า รัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านดิจิทัลจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของอุตสาหกรรม ยุค 4.0 ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนากำลังคนรองรับยุคดิจิทัล ความพร้อมของกฎหมายด้านดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเมืองอัจฉริยะ และเร่งรัดการดำเนินงานร่วมกันของอาเซียน การวางอนาคตอาเซียน โดยเฉพาะมุ่งสู่การเป็น Digital ASEAN เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที


ที่ประชุมได้หารือในเรื่องการปรับโครงสร้างการดำเนินงานและความร่วมมือให้ครอบคลุมประเด็น ด้านดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การปรับชื่อของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และการปรับในส่วนของคณะทำงานต่างๆ เพื่อรองรับการทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัล รวมถึงการให้แนวทางการจัดทำแผนแม่บทฉบับใหม่ โดยจะปรับชื่อแผนแม่บทจาก ASEAN ICT Masterplan เป็น ASEAN Digital Masterplan 2025 ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล และจะมุ่งเน้นในเรื่องข้อมูลดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระบบนิเวศดิจิทัล อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย การพัฒนาคนและผู้ประกอบการใหม่ และประเด็นสำคัญอื่นๆ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดเพื่อเสนอแนะความเห็นในการพัฒนาดิจิทัลของอาเซียน รวมถึงการขยายความร่วมมือและหารือร่วมกับสาขาอื่นๆในอาเซียน เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ เป็นต้น


เพื่อให้เกิดการทำงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการหารือกับที่ประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) เพื่อหารือในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และกลไก การประสานงานทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการและการใช้ประโยชน์ด้านดิจิทัลให้มากขึ้น
ที่ประชุมได้หารือกิจกรรม 2 เรื่องที่สำคัญในปี 2019 ได้แก่ อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ASEAN Public Private Forum on Digital Economy เดือนกันยายนในปีนี้ และโครงการ ASEAN Digital Talent Scholarship เพื่อยกระดับ พัฒนาทักษะ และเตรียมบุคลากรให้พร้อมรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ในส่วนของไทย ดร. พิเชฐฯ ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมการเข้าถึงบริการในทุกระดับอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนและประธานที่ประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network Meeting) โดยจะเชิญผู้แทนจาก 26 เมืองอัจฉริยะมาร่วมประชุมด้วย ในระหว่างวันที่ 22 -24 สิงหาคม ปีนี้ เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของอาเซียนร่วมกัน


ส่วนในเรื่องของ Cybersecurity ที่ประชุมเห็นตรงกันในการยกระดับ และขยายขอบเขตการดำเนินงานของ ASEAN Network Security Action Council ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ในการขยายขอบเขตการทำงานและครอบคลุมประเด็นความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในหลากหลายมิติ สามารถประสานและทำงานร่วมกันกับสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ทันสถานการณ์ ยกระดับการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์ของอาเซียน การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานแนวทางการปฏิบัติให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลที่มีความเชื่อมั่นและปลอดภัยในอาเซียน

 

“เวทีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อบทบาทผู้นำด้านดิจิทัล ในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาในด้านต่างๆ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมที่ประเทศไทยมี สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อสมาชิกอาเซียนว่า ไทยมีทั้งศักยภาพและความพร้อมต่อการเป็นประธานอาเซียนอย่างดีที่สุด” ดร.พิเชฐฯ กล่าวทิ้งท้าย