จัดระเบียบเงินในบ้าน

จัดระเบียบเงินในบ้าน

 

เรื่องที่สร้างรอยร้าวในครอบครัว ไม่ใช่แค่เรื่องความรักจาง ฉันเปลี่ยนไป เธอเปลี่ยนไป หรือไม่เข้าใจกันเท่านั้น เพราะหลายครอบครัวถึงจุดแตกหักแบบต่อไม่ติด เพราะปัญหา “เรื่องเงิน” ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น หากต้องการตัดไฟแต่ต้นลม กันไว้ดีกว่าแก้ ก็ไม่มีอะไรยาก แค่ลงมือจัดระเบียบเงินในบ้านด้วยการแยกบัญชีต่างๆ ให้ชัดเจน


บัญชีใช้จ่ายส่วนตัว เป็นบัญชีที่ทั้งสามีและภรรยาเอาไว้ใช้จ่ายส่วนตัว ไม่นำไปรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เงินที่เอาไว้ใช้จ่ายประจำเดือน ให้เก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อความคล่องตัวในการเอามาใช้ และอีกส่วนคือ ควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เช่น พันธบัตร กองทุน หุ้น หรือทองคำ


บัญชีใช้จ่ายของครอบครัว เป็นบัญชีที่สามีภรรยาร่วมกันลงขันเอาไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนใครจะออกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการจัดสรรและตกลงกัน เงินในส่วนนี้ควรจะเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตร เอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตเพื่อให้กดเงินมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ และถ้ามีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน จึงค่อยโยกเงินที่เหลือนี้ไปไว้ในบัญชีลงทุนเพื่อวัยเกษียณต่อไป


บัญชีสำรองฉุกเฉิน บัญชีนี้มีไว้เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัว  เช่น เกิดเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล  ในบัญชีนี้ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว และควรเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตร   เดบิต 1 ส่วน อีก 5 ส่วนที่เหลือให้เก็บไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะทั้ง 2 แห่งนี้ ถือว่า มีสภาพคล่องสูง นำออกมาใช้ได้ง่าย


บัญชีลงทุนเพื่อวัยเกษียณ เป็นบัญชีที่สามีภรรยา นำเงินมาลงทุนระยะยาว เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งเงินในส่วนนี้ควรจะแบ่งลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภท เช่น ตราสารหนี้ ประกันชีวิต ประกันบำนาญ หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ แต่จะลงทุนเป็นสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละครอบครัว และอย่าลืมลงทุนในกองทุนที่ช่วยประหยัดภาษีได้ อย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ของทั้งสามีและภรรยา


บัญชีออมเงินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เป็นบัญชีที่ควรออมเงินไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ซึ่งจะมีเวลาในการลงทุนจนถึงวันที่ต้องการใช้เงิน และความสำคัญของเป้าหมายแตกต่างกันไป จึงควรจัดสรรเงินลงทุนในกองทุนรวมแต่ละชนิดแตกต่างกัน เช่น มีลูกเล็กยังไม่เข้าเรียนและวางแผนให้ลูกเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา ถือเป็นเป้าหมายสำคัญและมีเวลาลงทุนสั้น ควรเน้นลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมตลาดเงินที่มีความมั่นคง เพื่อรักษาเงินต้นไม่ให้ขาดทุน แต่ถ้าวางแผนส่งลูกเรียนปริญญาตรีที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเช่นกัน และมีเวลาลงทุนนานหลายปี ควรเน้นลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เพราะในระยะยาวผลตอบแทนจะชนะตราสารหนี้ได้ เป็นต้น


เมื่อจัดระเบียบเงินในบ้านได้ลงตัว ไม่ต้องปวดหัวแล้ว ก็มีเวลาบริหารจัดการความหวานให้กับชีวิตคู่ได้สบายๆ

 

 

 

 


 

 

 

ขวัญชนก วุฒิกุล

ผู้ดำเนินรายการเงินทองต้องรู้ FM 90.5 MHz