“ณภัทร ตัณฑิกุล” สาวนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ คว้าแชมป์สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ บนเวที FameLab Thailand 2019

“ณภัทร ตัณฑิกุล” สาวนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ คว้าแชมป์สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ บนเวที FameLab Thailand 2019

 

 

 

 

“ณภัทร ตัณฑิกุล” สาวนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์
คว้าแชมป์สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ บนเวที FameLab Thailand 2019

 

 

ปิดฉากการแข่งขันลงไปแล้ว ในที่สุดสาวนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ณภัทร ตัณฑิกุล ก็สามารถคว้าแชมป์ FameLab Thailand Competition 2019 พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันบนเวที “FameLab International” ในเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก “Cheltenham Science Festival 2019” วันที่ 5 – 6 มิถุนายน 2562 ณ สหราชอาณาจักร


สำหรับรอบชิงชนะเลิศได้จัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบริหารงาน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย, คุณกรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ เฌอปราง อารีย์กุล หนึ่งใน FameLab Ambassador เข้าร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้ โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 คนสุดท้ายต้องนำเสนอเรื่องราวหรืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ และเรื่องใกล้ตัว ให้มีความสนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย ภายใน 3 นาที


แชมป์ในนี้ปีตกเป็นของ นางสาวณภัทร ตัณฑิกุล หรือ คุณจัส นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการเลือกหัวข้อเพื่อเข้าแข่งขันว่า “การแข่งขัน FameLab ครั้งนี้เป็นการกลับมาครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกได้เข้าร่วมแข่ง FameLab เมื่อปี 2559 ครั้งนั้นนำเสนอเกี่ยวกับโรงเรือนสำหรับการเลี้ยงพืชต่างๆ ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมันค่อนข้างไกลตัว ครั้งนี้จึงเลือกเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจ เนื่องด้วยตัวเองเรียนทางด้านสายแพทย์และมีประสบการณ์งานด้าน สเต็มเซลล์ จึงเลือกหัวข้อ Lab-grown Meat : เนื้อสัตว์ผลิตในห้องแลบ อาหารแห่งอนาคต หลายๆ คนอาจจะไม่ทราบว่าขั้นตอนการผลิตเนื้อในปัจจุบันกระทบกับสิ่งแวดล้อม เราต้องฆ่าสัตว์จำนวนมากเพื่อจะนำมาเลี้ยงคนทั่วโลก แต่ว่าในอนาคตเราอาจไม่มีพื้นที่และทรัพยากรที่จะผลิตเนื้อสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


โดยมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2593 ดังนั้นเราต้องการตัวเลือกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การผลิตเนื้อให้ห้องแลบสามารถช่วยตอบโจทย์ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพราะสามารถผลิตเนื้อได้ครั้งละเป็นหมื่นๆ ชิ้น โดยที่ไม่ต้องไปฆ่าวัวเป็นหมื่นๆ ตัว มันค่อนข้างจะตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้บริโภค จัสอยากให้ภาคเอกชน ภาครัฐบาล และประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าประเทศอื่นได้มีการผลิตจนใกล้จะออกมาขายแล้ว ไม่อยากให้ประเทศไทยยึดติดอยู่กับเกษตรกรรมแบบดั่งเดิมเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้เกิดการพัฒนาและมีส่วนร่วมในตรงจุดนี้ด้วย”


ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นางสาวเบญญาภา วงศราวิทย์ หรือ น้องเชอร์รี่ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “การแข่งขันครั้งนี้ได้นำเสนอในหัวข้อ Chronic Traumatic Encephalopathy – CTE (Punch Drunk Syndrome) หรือ โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง – โรคซีทีอี (อาการเมาหมัด) โรคที่อาจจะฟังไม่คุ้นหู แต่ที่แท้จริงแล้วเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับคนเล่นกีฬาที่หัวกระแทกบ่อยอย่าง ชกมวย รักบี้ หรือฟุตบอล ที่เลือกเรื่องนี้มาพูด เพราะว่ากีฬาชกมวยเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย และยังไม่ค่อยมีการทำวิจัยในเรื่องนี้ จึงนำเรื่อง โรคซีทีอี มาพูดเพื่อเล่าให้เห็นถึงผลกระทบจากการโดนชกหลายๆ ครั้ง เป็นเวลานานจะมีผลกระทบอย่างไร”


ด้าน นายนวพล เชื่อมวรศาสตร์ หรือ น้องพล นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 บอกว่า ตัวเองมีความสนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์มานานมาก เพราะมองว่าวิทยาศาสตร์คือเรื่องที่อยู่รอบๆ ตัว ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์หลายโครงการ เช่น โครงการทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทย ของ อพวช. และทำช่องยูทูป SaySci เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ “ผมสนใจด้านคอมพิวเตอร์ เพราะมองว่าในอนาคตคอมพิวเตอร์จะเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเลือกหัวข้อ ANDROID : Become Human หรือ หุ่นยนต์ : มนุษย์ ซึ่งมีภาพยนตร์มากมายเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุย เดินเหินได้เหมือนมนุษย์ แล้วในชีวิตจริงหล่ะ เทคโนโลยีสามารถทำให้หุ่นยนต์กลายเป็นมนุษย์ได้จริงหรือเปล่า? ในอนาคตแอนดรอยด์จะสามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ว่าจินตนาการของคุณเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีสามารถทำให้แอนดรอยด์ใกล้เคียงมนุษย์เข้าไปได้ทุกทีแล้ว”


และสุดท้าย นายสุทธิชน รัตนยาติกุล หรือ น้องเจมส์ นักศึกษาทันตแพทย์ ปี 5 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้คว้ารางวัล People’s Choice Award กล่าวว่า “เนื่องจากตัวเองเป็นนักศึกษาทันตแพทย์และมีความสนใจนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลสุขภาพช่องปาก จึงได้เลือกเรื่อง “การบำบัดโรคฟันผุด้วยเคมีแสงต้านจุลชีพ” มาเป็นหัวข้อในการแข่งขันครั้งนี้ เพราะคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในอนาคตเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก”


FameLab Thailand นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ จาก บริติช เคานซิล และ Cheltenham Science Festival ที่จะช่วยพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีความกล้าในการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ออกไปให้ผู้คนได้มีความรู้ ความเข้าใจง่ายมากขึ้น และสำหรับใครที่พลาดการแข่งขันในปีนี้ น้องเฌอปราง อารีย์กุล หนึ่งใน FameLab Ambassador ตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจวิทยาศาสตร์ บอกว่า โครงการ FameLab เป็นโครงการที่รวบรวมคนที่เป็น นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ แล้วก็คนที่สนใจที่จะสื่อสารเรื่องราวตรงนี้ออกไป วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวขึ้นอยู่ที่ว่าจะนำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์เหล่านั้นออกมาอย่างไร หากใครสนใจอยากให้ลองมาก้าวออกมาทำอะไรที่ท้าทายความสามารถของตัวเองอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าคุ้มค่ามากๆ กับประสบการณ์ที่ทุกคนจะได้รับอย่างแน่นอน


สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของ FameLab Thailand ได้ทาง www.britishcouncil.or.th/famelab และ www.facebook.com/britishcouncilthailand