กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.50-35.10 ลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 34.50-35.10 ลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.50-35.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.61 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 34.47-34.72 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สดใสเกินคาด ขณะอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์)สหรัฐฯระยะ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 นอกจากนี้ รายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)บ่งชี้ถึงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์และผลกระทบต่อทิศทางเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปของเฟดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้เป็นอย่างเร็ว อย่างไรก็ตาม นายวอลเลอร์ ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงต่อไปในปี 2568 นี้ และเฟดยังอยู่บนเส้นทางของการลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทย 1,383 ล้านบาท และ 3,331 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนธันวาคมของสหรัฐฯรวมถึงความเห็นเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลภาคแรงงานที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาดทำให้นักลงทุนเชื่อว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่เฟดจะเว้นระยะการลดดอกเบี้ยเป็นเวลานานหลายรอบประชุม ขณะที่ในบริบทของค่าเงินเยน กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอาจเปิดทางให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยปลายเดือนนี้หรืออย่างน้อยส่งสัญญาณสื่อสารกับตลาดเกี่ยวกับการปรับดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ทางด้านค่าเงินปอนด์ร่วงลงตามแรงเทขายพันธบัตรระยะยาวของอังกฤษซึ่งสะท้อนว่าบอนด์ยิลด์ที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้หนุนค่าเงินเสมอไป โดยเฉพาะกรณีที่เกิดจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสถานะทางการคลัง
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมรอบล่าสุดไม่ได้ตัดโอกาสสำหรับการปรับนโยบายในอนาคต ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1.23% เทียบรายปี โดยกลับสู่กรอบเป้าหมายของธปท. แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.79% ต่ำกว่าคาดเช่นกัน ขณะที่ในปี 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและพื้นฐานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.40% และ 0.56% ตามลำดับ โดยกระทรวงพาณิชย์คงประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2568 ไว้ในช่วง 0.3-1.3%