SCG ส่งจดหมายถึงกรีนพีซ ยืนยันปลดระวางถ่านหิน เริ่มจากยกเลิกแผนเหมืองถ่านหินในภาคเหนือ

SCG ส่งจดหมายถึงกรีนพีซ ยืนยันปลดระวางถ่านหิน เริ่มจากยกเลิกแผนเหมืองถ่านหินในภาคเหนือ

 

 

SCG ส่งจดหมายถึงกรีนพีซ ยืนยันปลดระวางถ่านหิน เริ่มจากยกเลิกแผนเหมืองถ่านหินในภาคเหนือ

 

กรุงเทพฯ, 10 มกราคม 2568 - กรีนพีซ ประเทศไทยต้อนรับข่าวดีปี 2568 จากจดหมายชี้แจงของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ลงวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา [1]  ซึ่งระบุว่า บริษัทฯ ได้พิจารณายกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินของตนที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยยื่นถอนคำขอประทานบัตรต่อหน่วยงานราชการเป็นที่เรียบร้อย ในกรณีของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ซึ่ง SCG อยู่ในห่วงโซ่อุปทานรับซื้อถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์นั้น SCG เเจ้งยืนยันกับผู้ยื่นคำขอประทานบัตรแล้วว่า SCG มีนโยบายไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

 

การชี้แจงของ SCG ดังกล่าวนี้ เป็นผลจากการทำงานรณรงค์โดยชุมชน เครือข่ายยุติเหมืองแร่ องค์กรภาคประชาสังคม และกรีนพีซ ประเทศไทย ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้บริษัท มีแผนการปลดระวางถ่านหินที่ชัดเจน โดยเนื้อหาในจดหมายชี้แจงระบุประเด็นสำคัญดังนี้

 

  • บริษัทฯ ได้ดำเนินงานตามแนวทาง ESG (Environment, Social, Governance) โดยตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2593 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินการตามแผนงานในการเปลี่ยนผ่านโดยทยอยลดการใช้ถ่านหิน และเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทน แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

  • ในส่วนโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ซึ่งบริษัทฯ เคยยื่นคำขอประทานบัตรไว้โดยจะใช้แหล่งดังกล่าวเป็นแหล่งถ่านหินสำรอง บริษัทฯ ได้พิจารณายกเลิกโครงการโดยยื่นถอนคำขอประทานบัตรต่อหน่วยงานราชการเป็นที่เรียบร้อย 

  • สำหรับโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ เนื่องจากเอกชนรายอื่นเป็นผู้ยื่นขอประทานบัตร บริษัทฯ จึงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ และเเจ้งยืนยันกับผู้ยื่นคำขอประทานบัตรเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ แล้วว่า บริษัทฯ มีนโยบายไม่ซื้อถ่านหินจากแหล่งดังกล่าว  

 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “แผนการปลดระวางถ่านหินของ SCG เป็นแบบอย่างขั้นต้นของการที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยจะมีบทบาทเชิงบวกในการต่อกรกับวิกฤตโลกเดือด แทนที่จะใช้กลยุทธ์การฟอกเขียว แม้ว่าจดหมายชี้แจงระบุชัดเจนถึงแผนการดังกล่าว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ SCG นำเอาเนื้อหาหลักในจดหมายชี้แจงนี้เผยแพร่อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน ในเว็บไซต์และรายงานประจำปี พร้อมกับรายละเอียดแผนและเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการปลดระวางถ่านหินโดยสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าถ่านหินมาใช้ในกระบวนการผลิตจากอินโดนีเซียและประเทศต่างๆ ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่”

 

พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนนักปกป้องสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม จากชุมชนกะเบอะดิน พื้นที่โครงการเหมืองถ่านหิน อมก๋อย  กล่าวว่า “ถือเป็นชัยชนะอีกขั้นของการต่อสู้กว่า 5 ปีที่ผ่านมา เป็นการยืนยันว่า SCG จะไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย แต่การที่ SCG ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการดังกล่าว ไม่สามารถทำให้ชุมชนกะเบอะดินสามารถนิ่งนอนใจได้เลยว่าในอนาคตจะไม่มีโครงการเหมืองถ่านหินที่อมก๋อย เพราะยังถือเป็นเขตแหล่งแร่ถ่านหินเพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 การระบุดังกล่าวจะส่งผลให้ใบอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ยังคงอยู่ในแผนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจเปิดสัมปทานดังกล่าวให้กับบริษัทฯที่ยื่นขอได้อีก ดังนั้นพื้นที่กะเบอะดินจะต้องถูกถอดออกจากเขตแหล่งแร่ถ่านหินเพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ด้วย เพื่อยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อมก๋อยโดยสิ้นเชิง”

 

สนอง อุ่นเรือง นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่แม่ทะ จ.ลำปาง กล่าวว่า“อย่างน้อยคำมั่นสัญญาในจดหมายชี้แจงฉบับนี้ช่วยให้คนในชุมชนคลายข้อกังวลที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านกิ่วและบ้านบอม ในอำเภอแม่ทะได้ในระดับหนึ่ง เพราะถ้ามีโครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้น แหล่งน้ำที่ชุมชนที่ใช้ทำการเกษตร จะได้รับผลกระทบ และยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคมโดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ถ้าจะทำให้เรามั่นใจจริง ๆ ว่าพื้นที่เราจะไม่มีการสัมปทานใหม่โดยบริษัทเอกชนรายอื่นอีกรัฐบาลต้องหยุดการใช้ถ่านหินและเอาพื้นที่แม่ทะออกจากเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2”

 

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสารพัดวิกฤต (Policycrisis) โดยเฉพาะวิกฤตโลกเดือดอย่างรุนแรง จากนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล ในขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีความตกลงปารีสพร้อมทั้งประกาศผ่านแผนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ที่ยกระดับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 – 40 ภายในปี 2573 ไทยจึงต้องเร่งก้าวข้ามไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สะอาดโดยหยุดการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเช่น ถ่านหิน โดยที่รัฐบาลไทยต้องชัดเจนที่จะปลดระวางถ่านหินและจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 -2570 ใหม่ ให้สอดคล้องกับมาตรา 17 วรรค 4 ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม  โดยในระหว่างนี้ต้องหยุดการใช้แผนแม่บทฉบับที่ 2 นี้ และต้องเพิกถอนพื้นที่โครงการเหมืองถ่านหินทุกโครงการออกจากพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองถ่านหินของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อให้ชุมชนต้องมีอำนาจในการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเอง โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนมีสิทธิจัดการพื้นที่ ของตนเองได้อย่างแท้จริงเพื่อโอกาสในการเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ดี และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สะอาดและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน 

 

หมายเหตุ

[1] จดหมายให้ข้อมูลโครงการเหมืองถ่านหิน จากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด 

[2] จดหมายจากกรีนพีซ ประเทศไทยถึงบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)