ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 'แผ่นดินไหว' คาดเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 'แผ่นดินไหว' คาดเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท

  

 

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 'แผ่นดินไหว'

คาดเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท



28 มีนาคม 2568 แผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางที่เมืองสะกาย เมียนมา ทำให้ประเทศไทยประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวและแรงสั่นสะเทือนรุนแรงในหลายเมือง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ (ระดับความรุนแรง 4.5-5.0 Modified Mercalli Intensity Scale – MMI) เชียงใหม่ (5.2-5.7 MMI) ซึ่งส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน อันประเมินค่าไม่ได้
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในเบื้องต้นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หลักๆ มาจากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หัวเมืองหลักอย่างเช่นเชียงใหม่ เป็นต้น ทั้งงานอีเวนท์ ร้านอาหาร ค้าปลีก การคมนาคมขนส่ง ฯลฯ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนจะต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้

ผลต่อภาคธุรกิจ เรามองว่า แม้การซ่อมแซมฟื้นฟูความเสียหาย และความต้องการในการหาที่พักสำรอง จะทำให้การก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่พักแนวราบ ได้รับอานิสงส์ แต่ผลกระทบด้านลบคงจะมีต่อยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจช้าลงในบางโครงการ อีกทั้งความต้องการเช่า (ไม่ต้องการเป็นเจ้าของ) คงจะมีมากขึ้น ขณะที่ จากข้อมูล REIC พบว่า จำนวนอาคารชุดสะสมรอขายในกรุงเทพฯ อยู่ที่กว่า 6.5 หมื่นหน่วย มูลค่า 3.75 แสนล้านบาท

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะสั้นตามความเชื่อมั่นต่อการเดินทางและการหาที่พักในพื้นที่ที่เกิดความเสียหาย ขณะที่โรงแรมในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง แม้จะไม่ใช่ช่วงไฮซีซั่น จากเดิมก็มี Downside อยู่แล้วหลังตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เริ่มลดต่ำลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นที่ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2568 ที่ 37.5 ล้านคน ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะถูกทบทวนปรับลง

ด้านมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน คงช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ประเด็นกำลังซื้อที่เปราะบางและหนี้ที่สูง จะยังเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายในภาพรวมของครัวเรือนและธุรกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์ข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ความเสี่ยงด้านลบจะมีมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย อุตสาหกรรมหลัก รวมถึงการขยายสินเชื่อและคุณภาพหนี้

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อ GDP จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวประเมินเบื้องต้นอยู่ที่ -0.06% ซึ่งทำให้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.4% อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังรอติดตามการประกาศผลการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ (Reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เมษายนนี้ หากไทยโดนภาษีในอัตรา 25% ก็จะส่งผลกระทบต่อ GDP เพิ่มเติมอีกราว -0.3%

จากผลกระทบสถานการณ์แผ่นดินไหวประกอบกับความเสี่ยงสงครามการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า กนง. มีโอกาสสูงขึ้นที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าเดิมที่คาดว่าจะปรับลดในช่วงครึ่งหลังของปี มาเป็นรอบการประชุมในเดือนเมษายนนี้ ในขณะที่ กนง. มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2568 ท่ามกลางช่องว่างของนโยบาย (policy space) ที่ลดลง

ส่วนผลกระทบต่อภาคการเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจประกัน: แม้ในปัจจุบัน ผู้ได้รับผลกระทบยังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ก่อนแจ้งเคลม แต่คาดว่าผลกระทบต่อธุรกิจประกันน่าจะอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากเป็นเหตุที่ไม่เกิดบ่อยในไทย และบริษัทประกันไทยส่วนใหญ่มีการกระจายความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยต่อ (Reinsure) ไปยังต่างประเทศ ขณะที่ อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (RBC) ของธุรกิจประกันชีวิต และประกันวินาศภัย สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำถึงประมาณ 3 เท่า

ทั้งนี้ แม้ภัยธรรมชาติจะมีผลให้ลูกค้าตื่นตัวในการทำประกันภัยมากขึ้นทั้งกลุ่มอัคคีภัยและ Industrial All Risks Insurance (IAR) แต่บริษัทประกันฯ คงต้องบริหารจัดการ Loss Ratio อาทิ จากกลุ่มอัคคีภัย ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ตามความถี่ของภัยธรรมชาติ รวมถึงควบคุมความเสี่ยงจากธุรกิจอื่นๆ ที่น่าห่วงมากกว่าและมีขนาดใหญ่อย่างเช่นประกันภัยรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์: มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่เพิ่งประกาศออกมา อาจมีผลเฉพาะหน้าบางส่วนในการประคองภาพสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสินเชื่อยังถูกกดดันจากอำนาจซื้อและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ยังคงมองการเติบโตของสินเชื่อระบบแบงก์ไทยปีนี้ที่ 0.6%

ขณะที่ ประเด็นติดตาม จะอยู่ที่ 1) คุณภาพหนี้ โดยเฉพาะในส่วนหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเดิมก็มีแนวโน้มถดถอยลงหลังจากช่วงโควิด และศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินก่อนหน้านี้ว่า สัดส่วน NPLs ของระบบแบงก์มีโอกาสปรับจาก 2.7% ณ สิ้นปี 2567 มาแตะที่ขอบบนของกรอบ 2.65-2.85% สิ้นปี 2568 มากขึ้น 2) การไถ่ถอนหุ้นกู้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในระยะที่เหลือของปีนี้ และ 3) ผลจากการลดดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น อันจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบแบงก์ไทยเพิ่มเติมโดย
เกวลิน หวังพิชญสุข
รองกรรมการผู้จัดการ
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล
รองกรรมการผู้จัดการ
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล
รองกรรมการผู้จัดการ
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.