’กสิกรไทย‘ เข้าโหมด wait & see ระวังความเสี่ยง จากผลกระทบ ‘ทรัมป์’

’กสิกรไทย‘ เข้าโหมด wait & see ระวังความเสี่ยง จากผลกระทบ ‘ทรัมป์’

  

 

’กสิกรไทย‘ เข้าโหมด wait & see ระวังความเสี่ยง จากผลกระทบ ‘ทรัมป์’



“ธนาคารกสิกรไทย” ชี้ผลกระทบนโยบายภาษีของทรัมป์ สั่นสะเทือนทั่วโลก ด้าน “แบงก์”ปรับกลยุทธ์เข้าสู่โหมด “ชะลอการปล่อยสินเชื่อ” เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน

ท่ามกลางสงครามการค้าที่ทวีความดุเดือด ภายใต้นโยบายการ “ขึ้นกำแพงภาษี” ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 เป็นต้นมา ปัจจุบันสถานการณ์ดูเหมือนรุนแรงมากขึ้น แม้จะมีบางประเทศที่เดินหน้าเข้าเจรจากับ “ทรัมป์” เพื่อลดการถูกเก็บภาษีนำเข้าให้ “ลดลง” แต่ก็มีหลายประเทศที่ออกมาตอบโต้กลับทรัมป์

ทั้งนี้ สงครามดังกล่าวดูจะไม่หยุดที่สงครามการค้า แต่กำลังลามทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกเป็นระลอก โดย “นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก” ออกมาคาดการณ์ว่า “สหรัฐ” อาจกำลังเดินเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” (Recession) ไม่เพียงเท่านั้น

ล่าสุด ทรัมป์ยังกดดันไปถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลามไปถึงท่าทีในการปลด “เจอร์โรม พาวเวลล์” ประธานเฟดลงจากตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้สถานการณ์บานปลาย และสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจทั่วโลกมากขึ้น

สงครามการค้า หนุนความไม่แน่นอนมากขึ้น

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ในมุมของ “ธนาคารกสิกรไทย” มองว่า ท่ามกลาง “สงครามการค้าของทรัมป์” ทำให้เกิด Uncertainty หรือความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยมองภาพไปในระยะข้างหน้าก็มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงอย่างมาก

และล่าสุดเริ่มเห็นหลายประเทศออกมาตอบโต้ทรัมป์ต่างๆ ดังนั้นมองว่าสถานการณ์ครั้งนี้คาดการณ์ยาก ไม่รู้ว่าจุดจบเป็นอย่างไร ระเบิดจะลงที่ใคร

และมองว่าสงครามครั้งนี้ยังไม่จบ สงครามจะไม่หยุดที่สงครามการค้า จากการขึ้นกำแพงภาษีของทรัมป์ แต่เริ่มพัฒนาการไปสู่สงครามเทคโนโลยี(Tech war) และอาจไม่จบเพียงเท่านั้น แต่กำลังลามมาสู่ Financial War ที่ผลกระทบต่อโลกจะมีมหาศาล

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้หลายประเทศ รวมถึงไทยตกอยู่บนความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ผลกระทบคือ คนไม่กล้าลงทุน เงินไม่หมุน การค้าขายการลงทุนก็ไม่มีความมั่นใจ

“วันนี้ท่ามกลางวิกฤติเรามองไม่ออกว่าระเบิดจะลงที่เราหรือไม่ เรายังอ่านเกมไม่ออก ดังนั้น ยามนี้ในเชิงของธุรกิจเราเห็นเม็ดเงินไม่หมุนเวียน คนไม่กล้าลงทุน หากปล่อยไปอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ แต่เหล่านี้เราก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ธุรกิจจะรอด หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสายป่านว่าใครยาวกว่ากัน ยาวแค่ไหน ดังนั้น เราก็ตื่นตัวตลอดเวลา”

เข้าสู่โหมด Wait & See

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตินี้ในมุมแบงก์ ก็ต้องใช้กลยุทธ์ wait & see ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง ทั้งการลงทุน และการปล่อยสินเชื่อ และหันหน้ามาช่วยลูกค้ามากขึ้น ให้คำปรึกษาลูกค้ามากขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

ดังนั้น ในมุมแบงก์คงต้องชะลอการลงทุน ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ปล่อยสินเชื่ออย่างรอบคอบ ไม่เร่งปล่อยสินเชื่อแต่มาเน้นในการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบมากขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารทั้งระบบ

โดยการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เป็นสิ่งที่ธนาคารทำต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้สินเชื่อโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อาจไม่ได้ดีนัก หรืออยู่ในภาพของการชะลอต่อเนื่อง

“แบงก์ต้องระมัดระวังในการทำธุรกิจต่อเนื่องหลังจากนี้ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ ในมุมของลูกค้าเรามีการเตือนลูกค้าต่อเนื่อง ให้รอดูสถานการณ์ทำให้ขณะนี้ทุกอย่างชะลอ อยู่ในภาพของการ wait & see เพราะมองว่าการรอคือกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในเวลานี้ ดีกว่าเอาตัวเองไปเสี่ยง เพราะนอกจากแบงก์เสี่ยงแล้ว ลูกค้าก็เสี่ยงด้วย ไม่มีใครวิน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางวิกฤติก็มีโอกาสสำหรับบางกลุ่ม ดังนั้นหากธุรกิจที่ยังมีความต้องการสินเชื่อแบงก์ก็พร้อมปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง”

ภาพรวม “สินเชื่อ” ส่อชะลอลง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกสิกรไทย แม้จะอยู่ในโหมดของ wait & see ที่อาจมีผลต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารลดลง แต่ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยยังไม่มีการปรับเป้าหมายทางการเงินลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แม้ภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ “จีดีพีไทย” ปี 2568 ที่ล่าสุดปรับลดลง

โดยล่าสุด “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ปรับประมาณการจีดีพีลดลงเหลือ 1.4% จากเดิม 2.4% จากผลกระทบนโยบายของทรัมป์ ดังนั้น ภายใต้จีดีพีไทยในระดับดังกล่าว สินเชื่อแบงก์ก็คงเติบโตตามเป้าหมายเดิมได้ “ยาก” จากเดิมที่ธนาคารคาดว่าการปล่อยสินเชื่อจะทรงตัว หรือเติบโตเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับปี 2567 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ในมุมของสินเชื่อปีนี้อาจจะพลาดเป้าหมายได้ แต่ธนาคารกสิกรไทยก็ยังมีรายได้ส่วนอื่นๆ ที่คาดว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานของแบงก์ยังสามารถเติบโตต่อเนื่องได้ ทั้งรายค่าธรรมเนียม รายได้จากตลาดทุน จากธุรกิจประกัน และด้านการชำระเงินอื่นๆ ฯลฯ

“การที่จีดีพีมีโอกาสลดลงไปที่ 1.4% จาก 2.4% แล้วบอกสินเชื่อจะโตเหมือนเดิม ผมว่าไม่ใช่ เพราะขณะนี้ทุกคนชะลอลงทุน ไม่กู้ ส่วนหนี้เสีย เราก็ระมัดระวังต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราระวังมาต่อเนื่อง 1-2ปีที่ผ่านมาแล้ว จากการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง”

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก ที่ออกมา ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งมาจากการบริหารจัดการภายใน โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยธนาคารได้ดำเนินการมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเมินสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเศรษฐกิจโลก และ เศรษฐกิจไทย

ส่วนภาพรวมสินเชื่อในไตรมาสที่ผ่านมา หดตัว ทั้งสินเชื่อรายใหญ่ สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อในภูมิภาค ส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีทรงตัว โดยไม่ใช่เพียงของธนาคารเท่านั้น แต่เป็นทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์